Back
กง - กำ


คำในภาษาไทยแท้ ๆ ที่เรามักสงสัยว่าหมายถึงอะไรคู่หนึ่งคือคำว่า "กง" กับ คำว่า "กำ" อย่างที่เรามักพูดกันว่า "กงเกวียนกำเกวียน" ตรงไหนเป็น กง ตรงไหนเป็น กำ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ได้ให้ความหมายของคำว่า "กง" ไว้ดังนี้ "น. วง, ส่วนรอบของล้อรถหรือเกวียน, เรียกสิ่งที่มีลักษณะอย่างล้อรถหรือเกวียน เช่น กงรถ ขนมกง, บางทีก็ใช้เข้าคู่กับคำ วง ว่า เป็นวงเป็นกง;... และมีข้อความในวงเล็บบอกไว้ว่า "(ไทยสิบสองปันนาและสิบสองจุไทย กง ว่า ขอบเขตที่ล้อม เช่น ในคำว่า ดินกง คือ ดินที่ล้อมเป็นขอบเขตไว้ , ร่ายกง คือ ไร่ ที่ล้อมเป็นขอบเขตไว้.)" และมีลูกคำอยู่ ๕ คำ คือ

๑. กงเกวียน น. ล้อเกวียน.

๒. กงเกวียนกำเกวียน (สำนวน) ใช้เป็นคำอุปมา หมายความว่า เวรสนองเวร กรรมสนองกรรม เช่น ทำแก่เขาอย่างไร เขาก็ทำแก่ตนอย่างนั้น เป็นกงเกวียนกำเกวียน, การหมุนเวียนไปตามสภาพ เช่น อันทุกข์โศกโรคภัยในมนุษย์ ไม่รู้สุดสิ้นลงที่ตรงไหน เหมือนกงเกวียนกำเกวียนเวียนระไว จงหักใจเสียเถิดเจ้าเยาวมาลย์. (สุภาษิตสุนทรภู่).

๓. กงจักร น. สิ่งที่มีรูปเป็นวงแหวนกลม มีริมเป็นแฉก ๆ โดยรอบ.

๔. กงพัด ๑ น. กงสำหรับพัด เป็นรูปใบพัดที่หมุนได้ เช่น กงพัดสีลม กงพัดเครื่องสีผัด กงพัดเครื่องระหัด; ประตูหมุน; เครื่องมือชนิดหนึ่ง เป็นไม้ยาวประมาณ ๕๐ เซนติเมตร เจาะรูหัวท้าย ใส่ไม้ขวาง สำหรับพัดด้าย.

๕. กงพัด ๒ น. ไม้เหลี่ยมสอดในรูซึ่งเจาะที่โคนเสาเรือน ปลายทั้ง ๒ ยื่นออกมาวางอยู่บนหมอน (ซึ่งเรียกว่า งัว) ข้างละต้น, หรือ ถ้าไม่เจาะรู ก็ใช้เป็น ๒ อัน ตีขวางขนาบโคนเสาข้างละอัน วางอยู่บนหมอนเหมือนกันเพื่อกันทรุด.

ส่วนคำว่า "กำ" พจนานุกรม ได้ให้ความหมายไว้ดังนี้

"กำ ๒ น. ซี่ล้อรถหรือเกวียน ."

จากบทนิยามนี้ก็พอมองเห็นภาพแล้วนะครับว่า ถ้าเป็นล้อเกวียน ตัว ที่เป็นส่วนรอบของล้อนั้นเป็น "กง" ส่วนซี่ต่าง ๆ จากดุมเกวียนหรือคุมล้อมายังกงนั้น เรียกว่า "กำ"

ในเรื่อง "กง" และ "กำ" นี้ คณะกรรมการชำระปทานุกรมรุ่นแรก ๆ ท่านได้เคยอภิปรายกันมาแล้ว ดังที่ อาจารย์เจริญ อินทรเกษตร ได้บันทึกไว้ดังนี้

"คำว่า กง ที่แปลว่า เขต เห็นจะหมายความถึง เขตที่กัน โดยทำเป็นคันกั้นหรือคั่นเอาไว้ แต่คงไม่กินความหมายไปถึง เขตแดน เพราะคำที่มีความหมายว่า เขตแดน ในไทยทุกสาขาก็ใช้คำเดียวกัน เช่น ไทยอะหมว่า เดญ, ไทยใหญ่ว่า เนน, ไทยโท้ว่า เลน, ไทยขาวและไทยนุงว่า เหน, เขน แต่ความเดิมของ เขตแดน ก็เห็นจะออกมาจากการกำหนดเขตกัน โดยกั้นเป็นขอบเอาไว้ และคงหมายถึงที่ไร่นาก่อน เพราะคำว่า คันนา ในภาษาไทยขาว เรียกว่า ขัน, ไทยนุงว่า กัน, ในภาษากวางตุ้ง คันนาและเขื่อนกั้นน้ำเรียกว่า จั๋น หรือจะอ่านว่า เจื๋อน ก็ได้ เพราะฉะนั้น คำว่า กัน กั้น คัน ขั้น ขัน เขื่อน ก็มีแนวให้เห็นว่ามาจากแหล่งเดียวกัน แต่การที่ขยายเขตออกไปกว้างขวางในภายหลังคงทำขอบคั่นไม่ได้ จึงได้แยกคำออกเป็น เขตแดน และ เขตกัน (ตามเสียงไทยนุง, ถ้าเขียนตามเสียงไทยขาวจะเป็น เขตขัน ใกล้คำกับว่า เขตขัณฑ์ ของเราเดี๋ยวนี้มาก) แต่ในภาษาจีนกวางตุ้ง คำว่า เขตแดน และ เขตกัน ยังคงใช้คำว่า จั๋น ตัวเดียวกัน เพราะฉะนั้น คำว่า กง ในความเห็นเดิมจะหมายความว่า ที่ล้อมรอบหรือที่กันไว้รอบให้เป็นขอบเขต ทั้งคำว่า กง และกัน ก็ใช้แทนกันได้ และคำว่า กง ก็คือ กัน นั่นเอง อย่างเดียวกับคำว่า พงศ์พันธุ์, วงศ์วาน ซึ่งมีความหมายในข้อใหญ่ใจความอย่างเดียวกัน

"อนึ่ง คำว่า กรง ซึ่งแปลว่า สิ่งที่มีขอบหรือเขตเป็นซี่ ๆ อยากจะนึกว่าเป็นคำเดียวกับ คำว่า กง เพราะพ้องกันทั้งเสียงและความ หากแต่คำว่า ที่คุมขังสัตว์ มีคำในภาษามลายูว่า กรง หรือ กรงอัน เขมรว่า กรงสัตว์ และมอญว่า ขะรง (Kharang) กระทำให้ไม่แน่ใจขึ้น จนกว่าจะได้สืบสาวให้ได้หลักฐานมั่นคงกว่านี้

"ส่วนคำว่า กงเรือ และ กงเวียน จะว่ามาจากคำว่า "เขต" นั้น ถ้า "เขต" ในที่นี้หมายถึง ขอบเขตโดยรอบ ก็เห็นด้วยในคำว่า "กงเกวียน" แต่คำว่า "กงเรือ" ดูความไม่กินกันกับคำว่า "กงรถ" และคำว่า "โก้งโค้ง" "โครง" ก็มีเสียงและความคล้ายกันมาก เมื่อสอบดูในภาษาไทยสาขาต่าง ๆ ได้ความดังนี้ อะหม "กาง" แปลว่า โค้ง โกง หลังโกง หน้าไม้ "กง" แปลว่า ธนู กงปั่น ฝ้าย และกุ้ง, ในภาษาไทยคำที่ "กง" แปลว่า กงปั่นฝ้าย ธนู, พายัพ "โก๋ง" ว่า คันกระสุน, และในภาษาอื่น ๆ รวมทั้งภาษากวางตุ้ง ในความหมายที่หมายถึง โกง โก่ง และ ธนู เรียกว่า "กุ๊ง" บางทีก็เป็น "กง", ซ้ำในภาษามอญ คำว่า โค้ง และ กงเรือ ก็ว่า "กง", ในภาษามลายู กงเรือ ก็เรียกว่า "กง" เหมือนกัน, ในภาษาเขมร กงเกวียน ก็เรียกว่า กง ดั่งนี้ จึงเป็นการยากที่จะปักความเห็นลงไปได้ในทางใดทางหนึ่ง

ความหมายของ "กง" ที่ว่า โค้ง ธนู กงปั่นฝ้าย เป็นต้นนั้น พจนานุ--กรมได้ให้ไว้ในคำว่า "กง ๓" ดังนี้ "น. ไม้รูปโค้งที่ตั้งเป็นโครงเรือ (เทียบมลายู กง ตะเลง กง, ในความหมายเดียวกัน); ไม้สำหรับดีดฝ้ายมีรูปเหมือนคันธนู เรียกว่า ไม้กงดีดฝ้าย (เทียบอะหม ไม้กงดีดฝ้ายและคันกระสุนว่า กง; พายัพว่า โก๋ง ได้แก่ คันกระสุน); เรียกเสลี่ยงที่มีพนักโค้งเหมือนกงเรือว่า เสลี่ยงกง." และมีลูกคำอยู่ ๒ คำคือ

๑. กงค้าง น. กงที่ตรึงข้างไม่ถึงท้องเรือ สลับกับ กงวาน, บางทีเรียกว่า กงข้าง. (ตำนานภาษีอากร)

๒. กงวาน น. กงที่มีรูสำหรับน้ำเดินที่ท้องเรือ. (มหาชาติร่ายยาว กัณฑ์กุมาร)

จำนงค์ ทองประเสริฐ
๒๔มีนาคม๒๕๓๕
Back