Back
กรมธรรม์


ในปัจจุบันงานเกี่ยวกับการประกันชีวิตและประกันวินาศภัยเป็นที่รู้จัก และนิยมกันแพร่หลายมากขึ้น คำว่า "กรมธรรม์" เป็นคำเก่า มีมาตั้งแต่ใน "กฎหมายตราสามดวง" แล้ว เพียงแต่การเขียนเท่านั้นที่ผิดเพี้ยนกันไปบ้าง คือ เขียนเป็น "กรมทัน" ก็มี เช่น "ทวยราษฎรกู้หนี้ถือสีนแก่กันแต่ ๑ ตำลึงขึ้นไป ให้มีกรมทันแกงใดเป็นสำคัญ ให้ผูกดอกเบี้ยเดือนละ ๑ เฟื้อง" บางทีก็ใช้ "กรมทันกันใด" เช่น "ผู้ใดบังอาจทำตราสารบาญชี กรมทันกันใดก็ดี ลบคารมก่อนแปลเป็นใหม่ก็ดี" เขียนเป็น "กรมธรร" (ไม่มี ม การันต์) ก็มี เช่น "ถ้าผัวแลพ่อแม่นายเงินเอาชื่อลูกเมีย ข้าคนใส่ในกรมธรร ขาย ท่านว่าเป็นสิทธิ์" และเขียนเป็น "กรมธรรม์" (มี ม การันต์) ก็มี เช่น "เมียก็ดี ลูกเมียก็ดี เอา (ชื่อพ่อชื่อแม่) แลผัวใส่ในกรมธรรม์ขาย" แต่ที่นิยมใช้มากที่สุดในหนังสือ "กฎหมายตราสามดวง" คือ คำว่า "กรมทัน" ซึ่งมีถึง ๑๗ แห่ง ส่วนคำว่า "กรรมธรร" มีเพียง ๒ แห่ง และ "กรมธรรม์" มีเพียง ๓ แห่งเท่านั้น

ในเรื่อง "กรมธรรม์" นี้คณะกรรมการชำระปทานุกรมรุ่นแรก ๆ ท่านได้นำมาอภิปรายกันดังที่อาจารย์เจริญ อินทรเกษตร เลขานุการคณะกรรมการชำระปทานุกรมได้บันทึกไว้ดังนี้

"กรมธรรม์ ศัพท์นี้ เฉพาะคำว่า กรม ไม่เป็นปัญหา เพราะไม่ได้นำหน้าศัพท์ที่เป็นชื่อของบุคคลหรือของสมุหนาม จึงทราบชัดได้ว่าอันเดียวกับ กัมมะ ที่แปลว่า ทำ ส่วนคำว่า ธรรม์ นั้น แปลประดักประเดิดนัก ด้วยเหตุ ๒ ประการ คือ แปลแล้วต้องไม่ขัดกับความหมายและเมื่อรักษาความหมายไว้ได้แล้ว ต้องไม่ขัดกับศัพท์ด้วย นอกจากนี้ กรมธรรม์ อยู่ในประเภทศัพท์ที่เป็นชื่อและ มีความประจำตน ต้องรักษาแววความของศัพท์ไว้ แต่แววนั้นไม่คุ้นกันกับความหมาย เมื่อแปลแล้ว นึกถึงรูปร่างไม่ได้ทันที เหตุนี้จำเป็นต้องรักษาไว้ทั้งสองอย่าง คือทั้งแววความในตัวศัพท์และทั้งวัตถุที่หมายเอา จึงติดอยู่เป็นเวลานาน ศัพท์นี้จึงค้างอยู่ บัดนี้สิ้นสงสัยแล้ว กรมธรรม์ แปลว่า ทำไว้ให้เป็นหลักฐาน เป็นชื่อของเอกสารชนิดหนึ่ง ซึ่งประกันความเชื่อถือของบุคคล เพื่อให้ได้รับผลของเบี้ยที่เสียไป โดยฝ่ายหนึ่งทำให้ไว้เป็นหลักในทางกฎหมาย ได้แก่ :-

ก. หนังสือสัญญาขายตัวเป็นทาส เรียกเต็มว่า สารกรมธรรม์ เรียกสั้นว่า สารกรม ซึ่งบัดนี้ไม่มีแล้ว.

ข. หนังสือสัญญาที่เป็นชนิดกรมธรรม์ คือทำขึ้นตามแบบและได้ลงทะเบียนต่อเจ้าพนักงานในหน้าที่ เรียกว่า กรมธรรม์สัญญา (สัญญาฝ่ายเดียวเท่ากับปฏิญญา).

ค. หนังสือรับรองที่ฝ่ายรับประกัน ทำให้ไว้แก่ฝ่ายที่ถือเอาประกัน เพื่อให้ฝ่ายนั้นรับรองให้แก่ตน เรียกว่า กรมธรรม์ประกันภัย.

ที่ประชุมได้ตกลงนิยามดังปรากฏอยู่ในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๔๙๓ แล้ว."

คำว่า "กรมธรรม์" หนังสือปทานุกรม ฉบับกรมตำรา กระทรวงธรรมการ พ.ศ. ๒๔๗๐ ได้ให้บทนิยามไว้อย่างเดียวดังนี้ "น. หนังสือสัญญาขายตัว."

พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๔๙๓ ได้ให้บทนิยามไว้ดังนี้ "(กฎหมาย) น.(๑) เอกสารซึ่งทาสลูกหนี้ ยินยอมให้กรมการอำเภอทำให้ไว้แก่ เจ้าหนี้นายเงิน; คำนี้เรียกเต็มว่า สารกรมธรรม์, หรือเรียกย่อว่า สารกรม, บางทีเรียกเพียงคำเดียวว่า กรม ก็มี เช่น กู้หนี้ยืมสินกัน เข้าชื่อในกรมหลายคน, (กฎหมายเก่า ลักษณะกู้หนี้). (๒) สัญญาซึ่งกฎหมายบังคับให้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อเจ้าพนักงาน เช่น สัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์. (๓) เอกสารในการประกันภัย ซึ่งผู้รับประกันกำหนดข้อสัญญาและเงื่อนไขลงไว้ในเอกสารนั้น เช่น กรมธรรม์ประกันชีวิต. (สันสกฤต กรฺม + ธรฺม)."

พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ก็ได้คงบทนิยามตามพจนานุกรม ฉบับ พ.ศ. ๒๔๙๓ ทุกประการโดยมิได้แก้ไขข้อความใด ๆ เลย

ต่อมาคณะกรรมการชำระพจนานุกรม ได้ขอให้คณะกรรมการทำพจนานุกรมศัพท์กฎหมายไทยได้พิจารณาบทนิยามของคำว่า "กรมธรรม์" เพื่อจะได้นำมาปรับปรุงแก้ไข พจนานุกรมฉบับ พ.ศ. ๒๕๒๕ ให้ถูกต้องและสมบูรณ์ยิ่งขึ้น คณะกรรมการทำพจนานุกรมศัพท์กฎหมายไทยได้ประชุมพิจารณาคำนี้ ในการประชุมครั้งที่ ๗ เมื่อวันที่ ๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๓๒ และ ได้มีมติปรับปรุงแก้ไขบทนิยามให้ใหม่เป็นดังนี้ "น. (๑) หนังสือสัญญากู้เงินหรือหนังสือสัญญาซื้อขายตามกฎหมายเก่า คำนี้เรียกเต็มว่า สารกรมธรรม์ หรือย่อว่า สารกรม. (๒) เอกสารในการประกันภัยซึ่งผู้รับประกันกำหนดข้อสัญญาและเงื่อนไขลงไว้ในเอกสารนั้น เช่น กรมธรรม์ประกันชีวิต."

หนังสือ "พจนานุกรมศัพท์ประกันภัย อังกฤษ - ไทย" ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ได้คำศัพท์ที่ขึ้นต้นด้วย "กรมธรรม์" ไว้ถึง ๙๑ คำ ถ้าท่านผู้ใดสนใจความหมายของคำที่เกี่ยวกับ "กรมธรรม์" ในแบบต่าง ๆ ก็กรุณาหาหนังสือ "พจนานุกรมศัพท์ประกันภัย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน" มาเปิดอ่านดูเองก็ แล้วกัน พิมพ์ด้วยกระดาษปอนด์หนาถึง ๓๖๔ หน้า ราคาจำหน่ายเพียงเล่มละ ๕๐ บาท เท่านั้นเอง.

จำนงค์ ทองประเสริฐ
๙มีนาคม๒๕๓๕
Back