Back
กรอ - คลอ


คำในภาษาไทยที่มีปัญหาต้องถกเถียงกันยังมีอยู่อีกมากมาย ทั้งนี้เพราะคำที่เป็นภาษาพูดกับคำที่เป็นภาษาเขียนบางทีก็ไม่เหมือนกัน โดยเฉพาะชาวชนบทมักจะออกเสียงตามความเคยชิน ไม่ทราบว่าคำนั้น ๆ เขียนอย่างไร เพราะยังมีประชาชนเป็นจำนวนมากที่อายุกว่า ๗๐ ปี บางทีก็อ่านหนังสือไม่ออก ยิ่งกว่านั้นในภาษาไทยเรา ยังมีคำที่มาจากภาษาต่างประเทศบ้านใกล้เรือนเคียง เช่น มอญ เขมร มลายู จีน และที่ห่างไกล เช่น พวกฝรั่ง เพราะฉะนั้น จึงยากที่จะทราบว่าคำใดมาจากภาษาใด และเดิมมีความหมายอย่างไร เหมือนกับในสมัยนี้หรือไม่ อย่างเช่นคำว่า "กรอ" กับคำว่า "คลอ"

คำทั้ง ๒ นี้ คณะกรรมการชำระปทานุกรมรุ่นก่อนซึ่งเวลานี้ก็ได้ถึงแก่กรรมไปหมดแล้ว ได้เคยอภิปรายกันมาแล้ว แต่ก็ยังโชคดีที่เรายังมี "บันทึก" การประชุมกรรมการชำระปทานุกรมในสมัยนั้น ที่อาจารย์เจริญ อินทรเกษตร เลขานุการคณะกรรมการชำระปทานุกรม ได้บันทึกไว้เพียงย่อ ๆ ดังนี้

"๑. กรอ และ กำรอ แปลว่า เข็ญใจ เป็นคำเขมร ในหนังสือกาพย์ กลอน ใช้คำนี้บ่อย ๆ และใช้ควบกับคำอื่นก็มี เช่น เบียดกรอ เป็นต้น.

"๒. กรอ อีกคำหนึ่งที่ใช้เช่นว่า กรอผู้หญิง เป็นคนละคำกับที่แปลว่า เข็ญใจ ซึ่งเข้าใจว่าเป็นคำเดียวกับ คลอ นั่นเอง แต่คนที่พูดสำเนียง ค กับ ก แยกกันไม่ชัด และพูด ร กับ ล ปน ๆ กันมีมาก เมื่อพูดเพี้ยนสำเนียงหนักเข้า คลอผู้หญิง ก็กลายเป็น กรอผู้หญิงไป ผู้เขียนสำคัญผิดก็เขียนตาม.

"อนึ่ง คำที่ใช้ว่า กรอผู้หญิง นี้ แต่ก่อนเคยได้ยินคนรุ่นเก่าใช้กันว่า ก้อ เป็นคำเปรียบอย่างไก่ตัวผู้ทำก้อกับตัวเมีย คือ ลงปีกกรีดรอบ ๆ และส่งเสียงขันอวด เป็นต้น.

"แต่ ก้อผู้หญิง กับ คลอผู้หญิง ความคนละอย่าง ก้อ มีความไปข้างทำกิริยาท่าทางอวดคลอ คือ เข้าเคียง

"ค. กรอ อีกคำหนึ่ง เช่น ที่ใช้ว่า กรอด้าย นั้น อาจเป็นคำซึ่งเกิดตามเสียงแห่งเครื่องม้วนด้าย ซึ่งเมื่อหมุนเข้าก็ดังกรอ ๆ เป็น Onomatopoeia word ซึ่งมีทุกภาษา การออกเสียงให้เป็นคำพูดนั้น ในชั้นต้น ๆ เป็นการออกเสียงเอาอย่าง เช่น นกชนิดหนึ่งร้องกา ๆ เราก็เรียกนกชนิดนั้นว่า กา ฉะนี้เป็นต้น"

คำที่คณะกรรมการชำระปทานุกรมท่านยกขึ้นมาอภิปรายกันนี้ ก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับการตีความของคำบางคำที่มีเสียงใกล้เคียงกัน ความหมายก็น่าจะเหมือน กัน หรือ ใกล้เคียงกันไปด้วย แต่ความจริงหาเป็นเช่นนั้นเสมอไปไม่ เพราะบางทีมีความหมายไปคนละเรื่องเลยก็มี

คำว่า "กรอ" พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๔๙๓ แยกเก็บ ๓ คำ คือ กรอ ๑ กรอ ๒ กรอ ๓ และได้ให้ความหมายไว้ดังนี้

"กรอ ๑ (เสียง) ก. ม้วนด้ายเข้าหลอดด้วยไนหรือเครื่องจักร, ควง เช่น กรเกาะขอกรอธาร เงือดง้าง. (ลิลิตพยุหยาตรา ฉบับหอพระสมุดแห่งชาติ)

"กรอ ๒ ก. แสดงกิริยาเลียบเคียงกันในเชิงชู้สาวเช่น นักเลงหนุ่มหนุ่มนั้น เที่ยวกรอ (โคลงพระราชพิธีทวาทศมาส สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยาบำราบปรปักษ์ ทรงนิพนธ์)." และมีลูกคำอยู่คำหนึ่งคือ "กรอกรุย" ซึ่งมีบทนิยามดังนี้ "ก. ทำท่าเจ้าชู้ เช่น ห่มเพลาะกรูมกรอกรุยฉุยเฉิดฉัน. (มณีพิชัยตอนต้น บทละครพระนิพนธ์ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ ชั้น ๒ กรมหลวงภูวเนตรนรินทรฤทธิ์ ฉบับหอพระสมุดวชิรญาณ พ.ศ. ๒๔๖๒)."

"กรอ ๓ ว. เข็ญใจ โดยปรกติใช้เข้าคู่กับ เบียด ว่า เบียดกรอ. (เขมร กฺร ว่ายาก ลำบาก)."

พจนานุกรมเขมร - ไทย ฉบับทุนพระยาอนุมานราชธน ได้ให้ความหมายของคำว่า "กฺร" (กฺรอ) ว่า "จน" เท่านั้น

ส่วนคำว่า "คลอ" พจนานุกรมฉบับ พ.ศ. ๒๔๙๓ ได้เก็บคู่กับคำว่า "คล้อ" และให้ความหมายไว้ ดังนี้ "ก. เคียงกันไป; หล่อหน่วยตา เช่นน้ำตาคลอตา." และมีลูกคำอยู่ ๓ คำ คือ

"คลอเคลีย ก. เคียงเคล้ากันไป."

"คลอแคล, คลอแคล้ ก. ไม่ห่างออก, เคียงกัน, เช่น ปีกเจ้ายังอ่อนคลอแคล, คลิ้งโคลงคล้อแคล้ในรัง. (สมุทรโฆษคำฉันท์)"

พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ได้คงความหมายของ "กรอ ๑" และ "กรอ ๒" ในพจนานุกรม ฉบับ พ.ศ. ๒๔๙๓ ไว้ทุกอย่าง ส่วน "กรอ ๓" ในพจนานุกรม พ.ศ. ๒๔๙๓ ก็เลือนมาเป็น "กรอ ๔" และเพิ่ม "กรอ ๓" เข้าไปดังนี้ "กรอ ๓ ก. แต่งให้เรียบ เช่น กรอฟัน กรอไม้."

ส่วนคำว่า "คลอ" พจนานุกรม ฉบับ พ.ศ. ๒๕๒๕ ได้ปรับปรุงแก้ไขเฉพาะคำว่า "คลอ" กับ "คลอเคลีย" เท่านั้นดังนี้

"คลอ, คล้อ ก. เคียงคู่กันไปอย่างคู่รักหรืออย่างสนิทสนม; หล่อหน่วย เช่น น้ำตาคลอ; ทำเสียงดนตรีหรือเสียงร้องเพลงเบา ๆ ตามไปให้อยู่ในระดับใกล้เคียงกัน เช่น ร้องคลอเสียงดนตรี."

"คลอเคลีย ก. เคล้าคู่กัน, เคียงเคล้ากันไป, เคลียคลอ ก็ว่า."

คำว่า "คลอ" หรือ "เคลีย" นี้ ในภาษาเขมรไม่มี.

จำนงค์ ทองประเสริฐ
๑๗กุมภาพันธ์๒๕๓๕
Back