Back


คำในภาษาไทยที่เกี่ยวกับการต้อนรับ ทั้งต้อนรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ หรือพระบรมวงศานุวงศ์ ตลอดจนผู้หลักผู้ใหญ่ในราชการบ้านเมือง เราจะได้พบทั้ง ข้อความที่เขียนเป็นลายลักษณ์อักษร ในนิตยสารและหนังสือพิมพ์ และที่พูดออกอากาศทั้งทางสถานีวิทยุโทรทัศน์และสถานีวิทยุกระจายเสียง ซึ่งนำความรำคาญใจมาสู่ผู้ได้อ่านข่าวหรือได้ยินได้ฟังอยู่เสมอ นั่นคือ ข้อความที่ว่า "ถวายการต้อนรับ" และ "ให้การต้อนรับ" ซึ่งใช้ตามอย่างกันมากว่า ๒๐ ปีแล้ว ในเรื่องนี้ ม.ล.ปีย์ มาลากุล ก็ได้เคยเขียนทักท้วงมานานแล้ว และข้าพเจ้าก็ได้เคยเขียนชี้แจงในรายการ "ภาษาของเรา" "ภาษาไทยไขขาน" "ภาษาไทย ๕ นาที" ตลอดจนได้เคยบรรยายในเชิงทักท้วงในเรื่องนี้มาตลอดเวลาแล้ว แต่ก็ไม่สู้จะได้ผลมากนัก เมื่อข้าพเจ้าได้บรรยายที่โรงเรียนการประชาสัมพันธ์ทุกครั้ง ข้าพเจ้าก็มักจะนำเรื่องนี้มาพูดถึงอยู่เสมอ

ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๔ เวลา ๒๐.๐๐ น.เศษ บังเอิญข้าพเจ้าได้ฟังผู้บรรยายข่าวเกี่ยวกับสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี เสด็จเยือนประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ทางสถานีโทรทัศน์ ช่อง ๓ ได้ยินคำว่า "เฝ้ารับเสด็จฯ" "ส่งเสด็จฯ" "กราบบังคมทูลเชิญเสด็จฯ" ก็รู้สึกปีติยินดีมาก ที่เรื่องซึ่งเราได้เคยรณรงค์ต่อสู้ให้เลิกใช้ข้อความว่า "ถวายการต้อนรับ" โดยหันมาใช้คำว่า "เฝ้ารับเสด็จฯ" มาเป็นเวลานับสิบปีแล้ว เพิ่งจะได้ผลในคราวนี้เอง ความจริงทางสถานีโทรทัศน์สีช่อง ๓ อาจจะใช้ถ้อยคำอย่างนี้มานานแล้วก็ได้ แต่ข้าพเจ้าไม่ค่อยได้ฟังข่าวทางสถานีโทรทัศน์และสถานีวิทยุบ่อยนัก จึงไม่ทราบว่าได้ใช้ถูกต้องกันตั้งแต่เมื่อใด และก็ไม่ทราบว่าสถานีวิทยุและสถานีโทรทัศน์ช่องอื่น ๆ ใช้ถูกต้องอย่างทางสถานีโทรทัศน์ช่อง ๓ หรือไม่ อย่างไรก็ตามนับว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดี และที่ถูกต้องแล้ว ควรแก่การที่จะได้รับคำชมเชยเป็นการให้กำลังใจ และสนับสนุนให้ใช้ภาษาให้ถูกต้องกันต่อไป

ถ้าหากจะเป็นการต้อนรับผู้หลักผู้ใหญ่ในวงราชการบ้านเมือง ก็ควรจะเลิกใช้ข้อความว่า "ให้การต้อนรับ" เสียด้วย จะใช้ข้อความเช่น "ข้าราชการและพ่อค้าประชาชนไปคอยต้อนรับอย่างคับคั่ง" หรืออะไรทำนองนั้น

นอกจากนั้นในวันเดียวกับที่ข้าพเจ้าได้ฟังข่าวจากสถานีโทรทัศน์สีช่อง ๓ เกี่ยวกับการเสด็จพระราชดำเนินประพาสประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ข้าพเจ้าก็ได้อ่านนิตยสาร "รุ้ง" ปีที่ ๓ ฉบับที่ ๒๖ ประจำเดือนเมษายน ๒๕๓๔ หน้าปกเป็นพระฉายาลักษณ์สมเด็จ พระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีข้อความใต้พระฉายาลักษณ์ว่า "พระดุจดาวประจำเมืองประเทืองหล้า" เมื่อข้าพเจ้าได้เปิดดูคำอธิบายภาพในเล่ม ซึ่งเป็นภาพชุดเกี่ยวกับสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปชมงานปศุสัตว์ที่เชียงใหม่ เมื่อวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๔ ก็ได้พบข้อความบรรยายประกอบ มีข้อความ เช่น "เฝ้ารับเสด็จฯ" "คอยเฝ้ารับเสด็จฯ" ซึ่งเป็นข้อความที่ถูกต้อง จึงรู้สึกดีใจมาก และเมื่อไปอ่านบทความเรื่อง "ตามรอยพระบาท สมเด็จพระเทพ รัตนฯ ไปชมงานปศุสัตว์ที่เชียงใหม่" พบข้อความเป็นลักษณะทำนองเดียวกัน เช่น

"คุณชลางค์ เสสะเวช ผู้เป็นภริยาของท่านอธิบดีกรมปศุสัตว์ ได้ทูนเกล้าถวายดอกไม้รับเสด็จแด่พระองค์ท่าน..."

ข้อความที่ใช้นับว่าถูกต้อง แต่การเขียนยังใช้คำไม่ถูกต้อง คำว่า "ทูล เกล้าฯ" นั้นที่ "ทูล" ต้องใช้ ล สะกด และหลังคำว่า "เกล้า" ต้องมีไปยาลน้อย อ่านเต็มว่า "ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย" คำว่า "ทูน" (น หนูสะกด) นั้นใช้สำหรับชาวบ้าน คือ "ทูนหัว" ถ้าเป็น "กราบทูล" หรือ "ทูลเกล้าฯ" ต้องใช้ ล สะกด และในข้อความต่อ ๆ มาก็ใช้คำว่า "ทูลเกล้าฯ" ไม่ถูกต้อง แม้ที่คำว่า "ทูล" จะใช้ ล สะกด แต่หลังคำว่า "เกล้า" ไม่มีไปยาลน้อย ซึ่งจะทำให้อ่านว่า "ทูน - เกล้า" เฉย ๆ คำนี้จะต้องเขียนเต็มว่า "ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย" หรือเขียนย่อ ๆ ว่า "ทูลเกล้าฯ ถวาย" แม้เขียนอย่างย่อ แต่เวลาอ่านต้องอ่านเต็มว่า "ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย" เสมอไป

ในตอนเกือบสุดท้ายของบทความมีข้อความว่า "สมเด็จพระเทพรัตนราช สุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงใช้เวลาอยู่ ณ ฟาร์มโคนม และสถาบันพัฒนาฝึกอบรมและวิจัยโคนมแห่งชาตินี้กว่า ๔ ชั่วโมง เวลานี้คือเวลาที่ทุกคนต่างปลื้มปีติที่ได้มีโอกาสเข้าเฝ้าทูลละอองพระบาทและได้เห็นอย่างใกล้ชิดว่าพระองค์นั้นทรงเป็นองค์ประธานงานที่ให้ความสนพระทัยต่องานปศุสัตว์อีกแขนงหนึ่ง" ที่ข้าพเจ้าสนใจก็คือข้อความที่ว่า "เข้าเฝ้าทูลละอองพระบาท" ทั้งนี้เพราะบางทีมักเขียนหรือพูดสั้น ๆ ว่า "เข้าเฝ้าฯ" โดยใช้ไปยาลน้อยหลังคำว่า "เฝ้า" แต่พอจะอ่านให้เต็มไม่ทราบว่าจะอ่านว่าอย่างไร ถ้าหาก "เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว" ก็ต้องอ่านให้เต็มว่า "เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท" แต่ถ้าเฝ้าฯ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร หรือสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี หรือสมเด็จพระบรมราชชนนี ต้องอ่านเต็มว่า "เข้าเฝ้าทูลละอองพระบาท" ไม่ต้องมีคำว่า "ธุลี".


จำนงค์ ทองประเสริฐ
๒๕ มีนาคม ๒๕๓๔
Back