Back
การถอดคำไทยเป็นอักษรโรมัน


ข้าพเจ้าได้อ่านหนังสือพิมพ์สยามรัฐฉบับประจำวันศุกร์ที่ ๑๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๓๔ ในบัญชร "พูดไทย เขียนไทย" ของ "เปรียญ ๗ ได้มีจดหมายของ พ.ต.ท. สุวิทย์ วิโรจน์วงศ์ ปรารภถึงเรื่องการถอดคำไทยเป็นอักษรโรมัน ซึ่งเป็นปัญหาเรื้อรังมานานแล้ว ดังนี้

"ที่ปรารภมาในวันนี้ สงสัยว่าจะไม่ใช่ พูดไทย เขียนไทย เสียแล้ว น่าจะเป็นพูดไทย เขียนฝรั่ง เสียมากกว่า

"นั่งรถไฟผ่านสถานีลำพูน เห็นป้ายชื่อสถานีเขียนเป็นภาษาฝรั่งว่า LAMPHUN ทีไร รู้สึกขัดนัยน์ตาเสียจริง ๆ จะมีฝรั่งที่ไหนบ้างนะที่อ่านคำนี้ออกเสียงว่า ลำพูน ผมรู้จักฝรั่งหลายคนอ่าน ลำปัน กันทั้งนั้น (น่าจะเป็น ลำฟัน)

"ราชบัณฑิตยสถานตั้งเป็นกฎไว้ให้ถอดคำไทยเป็นฝรั่ง โดยยึดหลักภาษาบาลีตัว ภ ให้ใช้ BH ตัว พ ให้ใช้ PH (และอีกหลาย ๆ อักษรที่พิลึก ๆ ทั้งนั้น) ก็จึงเป็นเหตุให้ต้องเขียน สะพานว่า SAPHAN แทนที่จะเป็น SAPAN ตรง ๆ

"เมื่อ ๒๐ - ๓๐ ปีก่อน ถนนของเรายังไม่พัฒนา สะพานส่วนมากเป็นสะพานไม้แคบ ๆ มีอุบัติเหตุรถตกสะพาน ชนราวสะพานเป็นประจำ กรมทางหลวงด้วยความห่วงใยในสวัสดิภาพของผู้ใช้รถใช้ถนน จึงเขียนป้ายไปปักไว้ทั้งหัวและท้ายสะพานทุกแห่งว่า SAPHAN CAEP ไม่ทราบว่าประสงค์ให้คนไทยหรือฝรั่งอ่าน ซึ่งต่างก็อ่านไม่ออก และเดาความไม่ได้ด้วยกันทั้งนั้นว่าผู้เขียนต้องการให้อ่านว่า สะพานแคบ

"คนเมืองเหนือ พูด พ กับ ฟ สับกัน น่าเห็นใจ ยา SULPHA เขาเรียก ซัลพา เรารู้กันว่าเขาพูดไม่ชัด ไม่ใช่พูดแบบราชบัณฑิตหรอก จะพูดว่า เอาพร้ามาฟันฟืน (เอามีดมาผ่าฟืน) เขาก็พูดว่า เอาฟ้ามาฟันฟืน ผ้าเปียก ก็ว่า ผ้าเปี๊ยะ อย่างนี้เราอภัยได้ ฟังออก เพราะรู้ว่าไม่ใช่ตั้งใจแผลง พ เป็น ฟ ดังที่ราชบัณฑิตให้ใช้ PH เป็น พ ทั้ง ๆ ที่ฝรั่งเองเขาออกเสียงเป็น ฟ ฟันทั้งนั้น

"บนเส้นทางสายเชียงรายไปแม่สาย มีป้ายบอกชื่อหมู่บ้านเป็นระยะ ๆ มีป้ายหนึ่งชื่อ บ้านห้วยทราย ข้างล่างเป็นภาษาฝรั่งว่า BAN HUAY TRAY คำท้ายนั้น ถ้าฝรั่งเรียนหนังสือไทยแตกฉาน คงจะอ่านได้ว่า ห้วยทราย เพราะเสียงอักขระควบ ท.ร.า.ย. ไม่ทราบว่าเป็นฝีมือของกรมทางหลวงหรือของใคร

"พูดถึงเรื่องแก่ภาษาแบบชาตินิยมจัด ผมเคยมีครูสอนภาษาไทยคนหนึ่งตอนเรียนมัธยมปลาย ท่านสอนไวยากรณ์ไทย มีฝีมือมาก แต่คงจะไม่เคยเรียนภาษาอังกฤษมาเลย จึงอ่านคำอังกฤษที่ถอดเป็นไทยพิลึกพิลั่นดีนัก แคตาล็อก พูด คาตาลอก รถฟอร์ด ต้องอ่าน รถฟอด นักเรียนคนใดเรียก รถฝอด ท่านจะตำหนิทันทีว่าตัว ฟ กับ ฝ นั่นเสียงมันต่างกัน รถแทรกเตอร์ ใครอ่าน แทร้กเตอร์ ท่านก็ว่าเสียแรงเรียนภาษาไทยมาถึงมัธยมปลาย ยังไม่รู้จักตัวควบ ทร ท่านว่า ทราบ ต้องอ่าน ซาบ ไม่ใช่ ทะราบ ทราม ต้องอ่าน ซาม ไม่ใช่ ทะราม โทรม ต้องอ่าน โซม ไม่ใช่ ทะโรม ฉะนั้น แทรกเตอร์ ต้องอ่าน แซกเตอร์ เป็นงั้นไป

"เขียนมาใกล้จบฉุกคิดถึงชื่อถนนเพชรบุรีตัดใหม่ในภาษาอังกฤษเป็น TATMAI ทำไมไม่ TADMAI เพราะในภาษาไทยตัว ด เด็กสะกด ไม่ใช่ ท หรือ ต เต่าสะกด ไม่จิตลามกมากเกินไปหน่อยหรือครับ จึงต้องเลี่ยงเอาตัว T มาสะกด

"เล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างนี้ ยังมีอีกเยอะ ถ้าเห็นว่าน่าคิดน่าสนใจใฝ่รู้จะเขียนมาอีกหรือหากเห็นเป็นเรื่องไร้สาระ ก็ลงตะกร้าได้เลย

ขอแสดงความนับถือ
พ.ต.ท.สุวิทย์ วิโรจน์วงศ์"

ข้าพเจ้าได้อ่านจดหมายของ พ.ต.ท.สุวิทย์ วิโรจน์วงศ์ แล้ว ก็รู้สึกว่า ท่านเป็นคนช่างสังเกต เห็นอะไรผิดหูผิดตาก็จดไว้ แต่ท่านคงไม่ทราบหลักเกณฑ์การถอดอักษรไทยเป็นอักษรโรมัน ท่านจึงไปเอาหลักภาษาบาลีถอดเป็นอักษรโรมันมาปะปนให้วุ่นไปหมด หลักการถอดอักษรไทยเป็นอักษรโรมันของไทยนั้น องค์การสหประชาชาติได้รับรองเป็นมาตรฐานสากลของโลกแล้ว การ ถอดพยัญชนะที่เป็นตัวต้นกับเป็นตัวสะกดไม่เหมือนกัน คือ

ตัว ด ฎ ฑ (บางคำ) ตัวต้นถอดเป็น d ตัวสะกดถอดเป็น t
ตัว ต ฏ
"
t
"
t
ตัว ถ ฐ ท ฑ ธ ฒ
"
t
"
t

นั่นคือตัว ด ฎ ต ฏ ถ ฐ ท ฑ ธ ฒ ถ้าเป็นตัวสะกดต้องถอดเป็น "t" เหมือนกันหมด ดังนั้น คำว่า "ตัดใหม่" ที่ถอดเป็น "TATMAI" นั้นถูกต้องแล้ว มิใช่ผู้ถอดมีจิตใจลามกอย่างที่ผู้เขียนติงหรอกครับ

นอกจากนั้นตัว บ ป ผ ฝ พ ฟ ภ ท่านก็มีหลักเกณฑ์ในการถอดอักษร ดังนี้

ตัว บ ตัวต้นถอดเป็น d ตัวสะกดถอดเป็น p
ตัว ป
"
p
"
p
ตัว ผ พ ภ
"
ph
"
p
ตัว ฝ ฟ
"
f
"
p

ดังนั้น "ลำพูน" จึงต้องถอดเป็น "LAM PHUN" ส่วนฝรั่งจะอ่านถูกหรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แม้คำของฝรั่งเอง ฝรั่งที่มีสติปัญญาน้อยก็อ่านไม่ถูก เช่น KANSAS CITY ออกเสียงว่า "คันซัส ซิตี" แต่ ARKANSAS กลับออกเสียงเป็น "อาร์คันซอ" หาใช่เป็น "อาร์คันซัส" ไม่ go ฝรั่งออกเสียงว่า "โก" แต่ to ฝรั่งออกเสียงว่า "ทู" door ฝรั่งออกเสียงว่า "ดอร์" แต่ poor ฝรั่งออกเสียงว่า "พัวร์" ถ้าคำหนึ่งออกเสียง "ดอร์" อีกคำหนึ่งก็ควรจะออกเสียงว่า "พอร์" ถ้าคำหนึ่งออกเสียงว่า "พัวร์" อีกคำหนึ่งก็ควรออกเสียงว่า "ดัวร์" ด้วย แม้ภาษาฝรั่งเองก็เอามาตรฐานแน่นอนอะไรไม่ได้ การถอดอักษรไทยเป็นอักษรโรมันจะต้องนำเอาหลักเกณฑ์ทั้งชุดมาใช้ ไม่ใช่เลือกใช้ตามใจชอบ นั่นคือไปหาซื้อหนังสือ "ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี และประกาศราชบัณฑิตยสถาน เรื่องกำหนดชื่อทวีป ประเทศ เมืองหลวง มหาสมุทร ทะเล และเกาะ และเรื่องการเขียนชื่อจังหวัด เขต อำเภอ และกิ่งอำเภอ" มาอ่านเสียบ้างจะได้เข้าใจแจ่มแจ้งขึ้น ราคาไม่กี่บาทดอกครับ...

จำนงค์ ทองประเสริฐ
๑๑มิถุนายน๒๕๓๔
Back