Back

การถอดอักษรไทยเป็นอักษรโรมัน

ปัญหาเรื่องการถอดอักษรไทยเป็นอักษรโรมันยังคงเป็นปัญหาที่ถกเถียงกันอยู่ บางคนเห็นว่าควรจะเป็นอย่างนั้น บางคนเห็นว่าควรจะเป็นอย่างนี้ บางคนเห็นว่า ควรจะเขียนอย่างการถอดคำบาลีและสันสกฤตเป็นอักษรโรมัน ซึ่งก็หาข้อยุติได้ยาก เพราะพยัญชนะไทยและสระไทย มีมากกว่าของบาลีและสันสกฤต แถมยังมีวรรณยุกต์เพิ่มเข้ามาอีก อย่างไรก็ตาม ในการถอดอักษรไทยเป็นอักษรโรมันเราถือเสียงเป็นหลัก โดยไม่คำนึงว่าคำบาลีเขียนอย่างไร หรือคำสันสกฤตเขียนอย่างไร

ขณะนี้ ชื่อถนนตรอกซอยในกรุงเทพมหานคร ก็ถอดเป็นอักษรโรมันถูกต้องตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีและประกาศของราชบัณฑิตยสถานแล้ว จะมีผิดอยู่บ้างก็มักจะไม่ใช่กรุงเทพมหานครเป็นผู้ถอดเป็นอักษรโรมัน เข้าใจว่าจะเป็นหน่วยราชการอื่น เพราะถอดไม่ตรงกับที่กรุงเทพมหานครถอดไว้ รู้สึกว่าจะถอดเอาเองตามใจชอบ โดยมิได้คำนึงถึงหลักเกณฑ์ที่ทางราชการได้กำหนดไว้ เช่นที่สะพานลอยจากศาลาแดงไปลงที่สามย่านและหัวลำโพง มีอยู่ ๒ ป้าย ซึ่งถอดอักษรผิดทั้ง ๒ ป้าย คือคำว่า "สามย่าน" ถอดเป็น "Sarmyarn" ซึ่งที่ถูกควรเป็น "Samyan" และคำว่า "หัวลำโพง" ก็ถอดเป็น "Hualum-phong" ทั้ง ๆ ที่ถูกควรจะเป็น "Hualamphong"* (แม้ในขณะนี้ (๒๐ มกราคม ๒๕๔๔) ป้ายทั้ง ๒ นี้ก็ยังไม่ได้แก้ไขให้ถูกต้อง ยังใช้ผิด ๆ มาเกือบ ๑๐ ปีแล้ว) คำว่า "หัวลำโพง" นี้ ป้ายที่ถนนสาธรจะเลี้ยวซ้ายไปทางศาลาแดงและหัวลำโพง ก็เคยเขียนถอดคำว่า "หัวลำโพง" เป็น Hualumpong มาครั้งหนึ่งแล้ว และเมื่อข้าพเจ้าได้ทักท้วงไป ต่อมาก็แก้ไขได้ถูกต้อง พอมาถึงสะพานลอยจากทางศาลาแดงไปหัวลำโพง ได้เปิดใช้เมื่อ วันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถก็เขียนผิดอีก ไม่ทราบว่าเป็นหน้าที่ของการทางพิเศษหรือกรมโยธาธิการ อย่างไรก็ตาม ผู้ที่รับผิดชอบในการถอดอักษรไทยเป็นอักษรโรมันเพื่อเขียนป้ายถนน ต่าง ๆ ควรจะใส่ใจในการเขียนให้ถูกต้อง จะได้ไม่ต้องเสียเวลาและเสียเงินแก้กันบ่อย ๆ

เมื่อ ๒ - ๓ วันมานี้ คุณศุภกิจ นิมมานนรเทพ ได้นำหนังสือ "รายงานการสัมมนาทางวิชาการฉลอง ๑๐๐ ปี พลตรีพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์" พร้อมกับหนังสือ "พระอัจฉริยลักษณ์ด้านภาษาไทย ของ พลตรีพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์" จากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติไปมอบให้ข้าพเจ้า ในฐานะที่ข้าพเจ้าเป็นผู้รวบรวมผลงานที่แสดง "พระอัจฉริยลักษณ์ด้านภาษาไทย" ของพระองค์ท่านไปมอบให้สำนักงานงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติจัดพิมพ์ และในฐานะที่ข้าพเจ้าเป็นผู้ร่วมอภิปรายเนื่องในงานนี้ด้วยผู้หนึ่ง ปรากฏว่าการถอดคำว่า "กรมหมื่น" (กรม - มะหมื่น) เป็นอักษรโรมัน ก็ยังคงผิดอยู่คือถอดเป็น "Krommun" (กรม - หมื่น) ทั้ง ๆ ที่ในการประชุมข้าพเจ้าได้เคยเตือนเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติในสมัยนั้นว่า ถอดอักษรยังไม่ถูก ที่ถูกต้องถอดเป็นอักษรโรมันตามเสียงเป็น "Krommamun" (กรม - มะ - หมื่น) และท่านเลขาธิการก็รับปากว่าจะแก้ไขทุกที แต่ก็ดูเหมือนจะรับปากไปอย่างนั้นเอง เวลาพิมพ์ออกมาก็ยังคงเป็น Krommun (กรม - หมื่น) อยู่นั้นแหละ

ในเรื่องการถอดอักษรไทยเป็นอักษรโรมันนั้น หน่วยราชการต่าง ๆ ควรจะเป็นผู้นำในการถอดให้ถูกต้องตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี และประกาศราชบัณฑิตยสถานเสียก่อน มิฉะนั้นแล้ว จะให้เอกชนเขาปฏิบัติให้ถูกต้องได้อย่างไร ในเรื่องนี้ก็ต้องขอชมเชยกรุงเทพมหานครที่ได้ถอดอักษรได้ถูกต้อง แม้จะมีผิดพลาดบ้าง เมื่อทักท้วงไปแล้ว ก็พยายามแก้ไขให้ถูกต้องเสมอมา

เมื่อพูดถึงการถอดอักษรไทยเป็นอักษรโรมันแล้ว ก็ขอเรียนว่าการถอดภาษาอังกฤษออกมาเป็นภาษาไทยโดยวิธีทับศัพท์นั้นก็ควรเขียนให้ถูกต้องตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีและประกาศราชบัณฑิตยสถานเช่นกัน โดยเฉพาะกระทรวงมหาดไทย กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงสาธารณสุข ควรจะสำเหนียกให้ดี เพราะเมื่อได้ให้ใบอนุญาตแก่บริษัทห้างร้านต่าง ๆ ไปผิด ๆ แล้ว เขาก็เอาคำผิด ๆ นั้นไปประกาศทางหน้าหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์พลอยทำให้คนจำผิดและเขียนผิด ๆ ตามไปด้วย แล้วก็แก้ไขยาก อย่างเช่น ไวท๊อป ไบร์วู๊ด ซานโตพล๊าส ก็เห็นเขียนผิด ๆ กันมาหลายปีแล้ว ก็ยังไม่ได้แก้ไขให้ ถูกเลย.

จำนงค์ ทองประเสริฐ
๒๑สิงหาคม๒๕๓๕
Back