Back
การทอดกฐิน


การทอดกฐินนับว่าเป็นพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนาที่สำคัญอย่างหนึ่ง ซึ่งมีช่วงเวลาจำกัดเพียงปีละ ๑ เดือน ระหว่าง แรม ๑ ค่ำเดือน ๑๑ ถึง ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ เท่านั้น จึงถือกันว่าการทอดกฐินได้บุญมาก ได้อานิสงส์มาก

คำว่า "กฐิน" พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ได้ให้ความหมายไว้กว้างขวาง โดยรวมถึงกรรมวิธีต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับกฐินตั้งแต่ต้นจนจบ ดังนี้

"กฐิน น. ผ้าพิเศษที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตแก่ภิกษุสงฆ์เฉพาะกฐินกาล ตามศัพท์แปลว่า ไม้สะดึง คือ ไม้แบบสำหรับตัดจีวร ; คำ กฐิน นี้ ใช้ประกอบกับคำอื่นอันเนื่องด้วยพิธีกฐิน ผ้าที่ถวายแก่ภิกษุสงฆ์ในพิธีนี้ เรียกว่า ผ้ากฐิน ในฤดูกาล เรียกว่า กฐินกาล (กะถินนะกาน) คือ ระยะเวลาตั้งแต่แรมค่ำหนึ่ง เดือน ๑๑ ถึง กลางเดือน ๑๒ ระยะเวลานี้ เรียกเป็นสามัญว่า เทศกาลกฐิน (เทดสะกานกะถิน) ฤดูกฐิน หรือ หน้ากฐิน ก็มี ก่อนจะถึงกฐินกาล ผู้ประสงค์จะถวายผ้ากฐินแก่ภิกษุสงฆ์วัดใด จะต้องไปแจ้งความจำนงว่าจะนำผ้ากฐินไปทอดที่วัดนั้นเป็นการล่วงหน้า การแสดงความจำนงล่วงหน้านี้ เรียกว่า "จองกฐิน" การทำพิธีถวายผ้ากฐิน เรียกว่า ทอดกฐิน พระภิกษุผู้ได้รับมอบผ้ากฐินจากสงฆ์โดยวิธีที่กำหนดไว้ในพระวินัย เรียกว่า ผู้ครองกฐิน ผู้กรานกฐิน หรือองค์ครองกฐิน เฉพาะผ้ากฐิน บางทีก็เรียกว่า องค์กฐิน ถ้าพร้อมกับของอื่นอันเป็นบริวารสำหรับถวายภิกษุสงฆ์ เรียกว่า เครื่องกฐิน หรือ บริวารกฐิน (บอริวานกะถิน) เมื่อนำผ้ากฐินไปทอดโดยมีขบวนแห่ เรียกว่า แห่กฐิน ถ้ามีพิธีฉลอง เรียกว่า ฉลองกฐิน การที่ภิกษุสงฆ์ผู้ร่วมอยู่ในพิธี อนุโมทนาต่อองค์ครองกฐินตามพระวินัย หรือการที่บุคคลแสดงความยินดีในการที่เขาทอดกฐิน เรียกว่า อนุโมทนากฐิน ภิกษุสงฆ์ผู้ได้อนุโมทนากฐินแล้วนั้น ย่อมได้ชื่อว่าเป็นผู้ กรานกฐิน (กรานกะถิน) ด้วย ผลของการทอดกฐิน เรียกว่า อานิสงส์กฐิน, ในทางวินัย สิทธิพิเศษ ๕ ประการ ซึ่งมีแก่ภิกษุผู้ได้กรานกฐินแล้ว ก็เรียกว่า อานิสงส์กฐิน เช่นกัน"

ในหนังสือ "ศาสนาสากล" แบบเรียนศาสนาสากล ตามหลักสูตรของ กระทรวงศึกษาธิการ ข้าพเจ้าได้เขียนเล่าถึงประวัติความเป็นมาของการทอดกฐินไว้ดังนี้

"คำว่า "กฐิน" หมายถึง กรอบสำหรับขึงผ้าเย็บจีวรซึ่งเรียกว่า สะดึง ฉะนั้นผ้ากฐินก็หมายถึงผ้าที่สำเร็จออกมาโดยการขึงตรึงด้วยไม้สะดึงแล้วเย็บ ความจริงไม้สะดึงนั้นเขาใช้เฉพาะผู้ที่ยังไม่สันทัดในการเย็บจีวรเท่านั้น สมัยนี้เราไม่จำเป็นที่จะต้องเอาผ้ามาขึงด้วยไม้สะดึงแล้วเย็บให้เป็นจีวรแล้ว อาจหาซื้อตามท้องตลาดทั่วไป เพราะมีผู้เย็บจีวรขายโดยเฉพาะมากมาย นับว่าเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระในด้านนี้ไปได้อย่างมากทีเดียว การทอดกฐิน ก็คือการเอาผ้าที่เป็นจีวรแล้วนั้นไปวางไว้ต่อหน้าสงฆ์ ซึ่งอย่างน้อยต้องมี ๕ รูป แล้วออกปากถวายสงฆ์โดยไม่เจาะจงรูปใดรูปหนึ่งแล้วแต่พระท่านจะมอบหมายกันเอง แม้สมัยนี้เราจะไม่ต้องใช้สะดึงมาขึงผ้าเย็บจีวรก็ตาม แต่ถึงกระนั้นเราก็ยังเรียกว่า ผ้ากฐิน อยู่นั่นเอง

การทอดกฐินมีกำหนดระยะเวลาไว้ ๑ เดือน หลังจากออกพรรษาแล้ว นับตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ถึงขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ จะทอดก่อนหรือหลังจากนี้ไม่ได้

ประเพณีการทอดกฐินนี้ ประชาชนชาวไทยนิยมทำกันมาก ถือว่าได้อานิสงส์แรง เพราะทำในเวลาจำกัด ในปัจจุบันนี้มักทำกันเป็นพิธีรีตองมโหฬารทีเดียว บางทีก็มีการแห่แหนประดับตกแต่งองค์กฐินพร้อมทั้งไทยธรรมที่เป็นของบริวารซึ่งจัดทำกันไว้อยางประณีตบรรจง บางทีก็มีการฉลององค์กฐินกันก่อนที่จะแห่ไปวัด ในการแห่งแหนนั้น บางทีก็ทำกันอย่างสนุกสนาน ครึกครื้น มีทั้งทางบกและทางน้ำ ในสมัยนี้ก็มีการแห่ผ้ากฐินไปทางอากาศอีกด้วย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสถานที่จะนำผ้ากฐินไปทอดจะสะดวกทางใด ก็ไปทางนั้น

เหตุที่จะเกิดมีการทอดกฐินกันนั้น เรื่องมีอยู่ว่า ภิกษุชาวเมืองปาฐา ๓๐ รูป (คือ พระภัททวัคคีย์ ๓๐ นั่นเอง) ได้เดินทางจากเมืองปาฐา เพื่อมาเฝ้าพระพุทธเจ้า ณ เชตวันมหาวิหาร เมืองสาวัตถี แต่พอมาถึงเมืองสาเกต ก็เป็นฤดูฝน เลยต้องพักจำพรรษาอยู่ที่นั่น เมื่อออกพรรษาแล้ว ก็รีบเดินทางต่อไปยังเมืองสาวัตถี ต้องกรำฝนทนแดดไปตลอดทาง จีวรต่างชุ่มโชกไปด้วยน้ำฝนไปตาม ๆ กัน พระพุทธองค์ทรงเห็นความลำบากตรากตรำของพระภิกษุเหล่านั้น จึงทรงอนุญาตให้ภิกษุได้รับกฐินเสียก่อน ทั้งนี้เพราะเหตุว่า แม้จะออกพรรษาแล้ว แต่ฝนก็ยังไม่ขาดเสียทีเดียว ถ้าหากจะรั้งรอไปอีกเดือนหนึ่ง พอฤดูฝนหายขาดแล้ว พื้นดินก็จะไม่เป็นเปือกตมอีก การเดินทางย่อมสะดวกสบาย ฉะนั้น พระองค์จึงทรงอนุญาตให้พระภิกษุจำพรรษาตลอดไตรมาสแล้ว ได้ยับยั้งอยู่เพื่อรับกฐินเสียก่อน จะได้ไม่ต้องได้รับความลำบากในการเดินทางอีกต่อไป ต่อมาเมื่อมีปัญหาว่า ผ้าที่ทายกนำมาถวายนั้นไม่พอกับจำนวนภิกษุที่จำพรรษาอยู่ พระพุทธองค์ก็ทรงอนุญาตให้พระภิกษุผู้มีจีวรเก่ากว่าเพื่อนและฉลาดในพระธรรมวินัยเป็นผู้รับกฐินและให้ภิกษุนอกนั้นเป็นผู้อนุโมทนา ก็จะได้อานิสงส์ในด้านพระวินัยเท่ากัน.

จำนงค์ ทองประเสริฐ
๘ พฤศจิกายน ๒๕๓๖
Back