Back

การบันทึกรายงานการประชุมก่อนตั้งราชบัณฑิตยสถาน

ในพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๓๕ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดแต่งตั้งและเลื่อนสมณศักดิ์ให้แก่พระเถรานุเถระเป็นจำนวนมาก เช่นเดียวกับในปีก่อน ๆ ในปีนี้ท่านเจ้าคุณพระธรรมปิฎก (วีระ ภทฺทจารี ป.ธ. ๙) เจ้าอาวาสวัดสุทัศนเทพวราราม ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรองชั้นหิรัณยบัฏที่ พระวิสุทธาธิบดี ต่อมาในวันที่ ๒๕ มกราคม พ.ศ. ๒๕๓๖ ก็ได้มีงานสมโภชหิรัณยบัฏพัดยศ และในงานนี้มีหนังสือที่น่าสนใจออกมา ๒ เล่ม คือ "สาส์น
สมเด็จ ฉบับที่ยังไม่เคยตีพิมพ์ พ.ศ. ๒๔๗๕" กับ "ตำนาน ความเป็นมาของพระกริ่ง - พระชัยวัฒน์ และพิธีของสมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสสเทวมหาเถร)" โดยเฉพาะในหนังสือ "สาส์นสมเด็จฯ" ได้มีรายงานการประชุมชำระปทานุกรมที่น่าสนใจมากรวมทั้งรูปแบบของการบันทึกการประชุมด้วยดังนี้

"การประชุมชำระปทานุกรม ครั้งที่ ๔
วันที่ ๑๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๕
เวลา ๑๔.๓๐ นาฬิกา

๑. ผู้มาประชุมวันนี้ คือ
มหาอำมาตย์โท หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ
อำมาตย์เอก พระยาอนุมานราชธน
อำมาตย์โท พระวรเวทย์พิสิฐ
อำมาตย์ตรี พระธรรมนิเทศทวยหาญ
เสวกตรี พระสารประเสริฐ และ
อำมาตย์เอก พระยาอุปกิตศิลปสาร กรรมการเจ้าหน้าที่

๒. ผู้ที่ไม่ได้เข้าประชุม คือ รองอำมาตย์เอก หลวงเทพดรุณานุศิษฏ์ ลาป่วย และพอเริ่มประชุม พระสารประเสริฐ ก็ลาไปราชการด่วนอีกผู้หนึ่ง

๓. กิจที่ประชุม คือ :-
(๑) ตั้งคำไทย ใช้แทนคำ
ก. Rector
ข. Secretariate

ตามบัญชีท่านเสนาบดี กระทรวงธรรมการ.

ในข้อนี้ ม.จ.วรรณไวทยากร ทรงแนะว่า มหาวิทยาลัยของฝรั่งแต่ก่อนก็คือวัด เจ้าหน้าที่ประจำก็ได้แก่พระ เพราะฉะนั้น Rector ควรใช้ว่า "อธิการ" จะได้เข้ารูปตามตำนาน ที่ประชุมเห็นพร้อมด้วย (คำ "อธิการ" นี้ มีใช้สำหรับคณะสงฆ์ว่า "เจ้าอธิการและพระอธิการ" ซึ่งหมายความว่า ภิกษุผู้เป็นสมภาร แต่ตำแหน่งที่ตั้งใหม่นี้ใช้ว่า "อธิการ" เฉย ๆ เช่น "อธิการจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย" นับว่าไม่ขัดกัน)

และคำว่า Secretariate นั้นที่ประชุมตกลงกันว่าควรใช้ว่า "สำนักเลขาธิการ" (ซึ่งเป็นทั้งสถานที่ก็ได้หรือเป็นสมุหนาม คือหมายถึง คนในสำนักนั้นก็ได้)

(๒) วินิจฉัยคำ "พึ่ง" กับคำ "เพิ่ง" ซึ่งใช้ปนกันอยู่ ซึ่งท่านเสนาบดีกระทรวงธรรมการสั่งมา

ที่ประชุมตกลงกันเห็นด้วยดำริท่านเสนาบดีดังนี้

ก. "พึ่ง" เป็นคำกริยา ใช้ในความว่า พึ่งพาอาศัย เช่น ป่าพึ่งเสือ เรือพึ่งพาย ฯลฯ
ข. และ "เพิ่ง" ใช้เป็นคำวิเศษณ์ หมายความว่า บัดนี้, เดี๋ยวนี้ เกี่ยวกับเวลาปัจจุบัน เช่น "อย่าเพิ่งไป, ของนี้เพิ่งมีขึ้น" คำ "พึ่ง" ที่เอามาใช้เป็นคำวิเศษณ์ควรใช้ "เพิ่ง" เช่น "เขาพึ่งมา" ควรใช้ว่า "เขาเพิ่งมา" "อย่าพึ่งไป" ควรใช้ว่า "อย่าเพิ่งไป" ฯลฯ

(๓) วินิจฉัยคำ "ภาวะ" "สภาวะ" "สภาพ" ซึ่งท่านเสนาบดี กระทรวงธรรมการส่งมา สามคำนี้ที่ประชุมตกลงกันว่า
ก. "ภาวะ" หมายถึง ความเป็น (ทั่วไป) ตรงกับคำอังกฤษว่า Condition
ข. "สภาวะ" หมายถึง ความเป็นเองตรงกับคำอังกฤษ Nature (Abstract)
ค. แต่คำ "สภาพ" นั้น หมายถึง ภูมิแห่งความเป็น (ภูมิ - ชั้น, ขีดขั้น) ตรงกับคำอังกฤษว่า State

(๔) ตั้งคำไทยใช้แทนคำอังกฤษที่ปลัดทูลฉลองกระทรวงธรรมการส่งมา
ก. Mental Education ตกลงกันใช้ว่า "การศึกษาทางใจ"
ข. Technical Education ตกลังกันใช้ว่า "การศึกษาเฉพาะวิชา"
ค. Physical Education ตกลงกันใช้ว่า "การศึกษาทางกาย"

(๕) วินิจฉัยคำ "อิสสรภาพ" จะตรงกับคำ Liberty และ "เสรีภาพ" จะตรงกับคำ Freedom หรือไม่ ซึ่งเกี่ยวกับการตรวจแบบเรียน มีข้อตกลงกันดังต่อไปนี้
ก. คำอังกฤษว่า Independence หมายถึง ความเป็นใหญ่ทั้งภายในและภายนอก คำไทยควรใช้ว่า "เอกราช" สำหรับประเทศ (มีใช้แล้วในแจ้งความของคณะราษฎร) แต่สำหรับบุคคล ควรใช้ว่า "ความเป็นไท" (ไท ไม่มี ย ตาม)
ข. คำอังกฤษว่า Autonomy หมายถึง ความเป็นใหญ่ภายใน แต่มิได้เป็นใหญ่ภายนอก ควรใช้ว่า "อิสรภาพ" ดังตัวอย่างที่ใช้กันอยู่แล้ว เช่น "กรมอิสระ"
ค. คำอังกฤษว่า Liberty หมายถึง ความปลอดจากอุปสรรค, เมื่อพูดถึงการเมือง ย่อมหมายถึง สิทธิที่อาจจะกระทำได้ ถ้าเป็นคำคุณศัพท์อังกฤษใช้ว่า Free ถ้าเป็นคำนาม อังกฤษมี ๒ รูป คือ Freedom กับ Liberty

Liberty อังกฤษใช้ทั่วไปถึงความปลอดจากอุปสรรคใด ๆ ก็ได้ หรือปลอดจากอำนาจของบุคคลก็ได้ แต่ฝรั่งเศสใช้คำเดียวกันว่า Liberte (ลีแบเต)

เพราะฉะนั้นคำ "อิสสรภาพ" จึงตรงกับคำ Autonomy ไม่ใช่ Liberty และ "เสรีภาพ" ตรงกับคำ Freedom หรือ Liberty โดยอธิบายมาแล้วข้างต้น

เลิกประชุมเวลา ๑๖.๕๐ นาฬิกา
พระวรเวทย์พิสิฐ ผู้จดรายงาน
พระยาอุปกิตศิลปสาร กรรมการเจ้าหน้าที่

ท่านผู้ฟังจะสังเกตเห็นว่า "ผู้จดรายงาน" ในสมัยนั้น ก็คือ กรรมการผู้ใดผู้หนึ่งนั่นเอง หาใช่ "เจ้าหน้าที่" อย่างในปัจจุบันนี้ ซึ่งอาจเป็นข้าราชการระดับ ๓ - ๔ ก็ได้.


จำนงค์ ทองประเสริฐ
๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๖
Back