Back
การสูญเสียที่ยิ่งใหญ่ของชาติ


วันเสาร์ที่ ๒๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๕ นับว่าเป็นวันที่ชาติไทยได้สูญเสียบุคคลที่เป็นกำลังสำคัญของชาติในด้านภาษาไทยอีกคนหนึ่ง ข้าพเจ้าเห็นว่าเป็นการสูญเสียที่ยิ่งใหญ่อีกครั้งหนึ่งที่ชาติไทยต้องสูญเสียทรัพยากรบุคคลที่มีคุณค่าต่อวงการภาษาไทยไปในครั้งนี้ นั่นคือ ศาสตราจารย์ ดร.คุณบรรจบ พันธุเมธา กรรมการชำระปทานุกรมและกรรมการบัญญัติศัพท์ภาษาไทยของราชบัณฑิตยสถาน ได้ถึงอนิจกรรมอันนำมาซึ่งความเศร้าสลดแก่วงการภาษาไทยเป็นอย่างยิ่ง

ศาสตราจารย์ ดร. คุณบรรจบ พันธุเมธา สำเร็จปริญญาอักษรศาสตร์มหาบัณฑิต เป็นรุ่นที่ ๒ ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๗ ต่อมาได้รับทุนจากรัฐบาลอินเดียให้ไปศึกษาวิชานิรุกติศาสตร์ ณ มหาวิทยาลัยพาราณสี และได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิต เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๕ นอกจากนั้นยังได้รับทุนไปศึกษาภาษาของชนชาวไทในแคว้นอัสสัม ประเทศอินเดีย พม่า เวียดนามใต้ และจีน ไปศึกษาภาษามอญในพม่า ศึกษาภาษาเขมรในกัมพูชา และได้รับทุนจากมูลนิธิรอกกี้เฟลเลอร์ ไปฟังคำบรรยายวิชาการด้านภาษาศาสตร์และศึกษาภาษาจีน ที่มหาวิทยาลัยคอร์เนลและมหาวิทยาลัยวอชิงตันเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๕ เป็นเวลา ๑ ปี ต่อมาได้ใช้ทุนส่วนตัวไปศึกษาภาษาจีนกลางที่ไต้หวัน นับว่าท่านอาจารย์บรรจบ พันธุเมธา ได้อุทิศชีวิตจิตใจให้แก่งานด้านภาษาไทยตลอดชีวิตของท่านและได้เป็นกำลังสำคัญของราชบัณฑิตยสถานในงานชำระปทานุกรมและพจนานุกรม ในงานบัญญัติศัพท์ และอื่น ๆ อีกหลายคณะ

เมื่อข้าพเจ้ามารับราชการที่ราชบัณฑิตยสถาน ปลายปี พ.ศ. ๒๕๐๗ นั้น ข้าพเจ้าได้พบและรู้จักท่านอาจารย์บรรจบเป็นครั้งแรกในการประชุมคณะกรรมการชำระปทานุกรม และได้มีความสนิทสนมคุ้นเคยกับท่านตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา เมื่อข้าพเจ้ามีปัญหาเกี่ยวกับคำไทย คำเขมร ก็มักต้องปรึกษาหารือท่าน และท่านก็ได้เมตตาให้ความรู้และแนะนำให้ไปค้นดูในหนังสือเล่มนั้น ๆ หรือบางทีท่านก็ไปค้นคว้าหาหลักฐานมาให้ นับว่าท่านอาจารย์บรรจบ พันธุเมธา เป็นบุคคลที่มีความรอบรู้ด้านภาษาไทยในถิ่นต่าง ๆ รวมทั้งภาษาประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงที่มีการติดต่อด้านภาษากับไทยเรามาก แม้งานทำ พจนานุกรมเขมร-ไทย ฉบับทุนพระยาอนุมานราชธน ก็ได้ท่านเป็นกำลังสำคัญในการตรวจสอบและจัดพิมพ์เผยแพร่โดยตลอด เกือบจะเรียกได้ว่าท่านทำด้วยใจรักและต้องทำตามลำพังด้วยตัวคนเดียว ทั้ง ๆ ที่เป็นงานของส่วนรวม ขณะนี้ก็ยังจัดทำพจนานุกรมมอญ - ไทย อยู่ ยังไม่แล้วเสร็จ เพิ่งพิมพ์ไปได้เพียงเล่มเดียวเท่านั้น

อาจกล่าวได้ว่าในประเทศไทยเรา ไม่มีใครที่จะมีความรอบรู้ภาษาไทยและภาษาถิ่นต่าง ๆ เสมอด้วยท่านอาจารย์บรรจบ พันธุเมธา อีกแล้ว งานที่นับว่าสำคัญอีกชิ้นหนึ่งของราชบัณฑิตยสถาน ที่ท่านอาจารย์ ดร.บรรจบ พันธุเมธา ได้เป็นกำลังสำคัญมาตั้งแต่เริ่มแรกจนถึงแก่อนิจกรรม ก็คือ งานทำพจนานุกรมศัพท์วรรณคดีไทย ซึ่งขณะนี้ได้ชำระศิลาจารึกหลักที่ ๑ เสร็จแล้ว และกำลังชำระศัพท์ในไตรภูมิพระร่วงเป็นวาระที่ ๒ อยู่ ซึ่งก็เกือบจะเสร็จแล้ว ในการประชุมแต่ละครั้ง ท่านอาจารย์บรรจบ พันธุเมธาแทบจะไม่ขาดการประชุมเลย นับว่าท่านมีความรักและความรับผิดชอบในงานต่าง ๆ ที่ท่านได้รับมอบหมายมาก และท่านมีความรักราชบัณฑิตยสถานอย่างที่สุด คณะกรรมการต่าง ๆ และข้าราชการราชบัณฑิตยสถานทุกคนต่างก็มีความเคารพรักในท่านตลอดมา

เพราะความรู้และความสามารถในด้านภาษาไทยอย่างหาผู้เสมอเหมือนได้ยากของท่านนี้เองทำให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้มอบปริญญาอักษรศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตและปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาภาษาไทยให้แก่ท่านตามลำดับทั้งยังได้รับพระเกี้ยวทองคำในฐานะผู้เผยแพร่ภาษาไทย จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและได้รับรางวัลนักวิจัยดีเด่น สาขาปรัชญา จากสภาวิจัยแห่งชาติด้วย

ผลงานทางด้านภาษาของศาสตราจารย์ ดร. คุณบรรจบ พันธุเมธา มีอยู่มากมายทั้งที่ได้ตีพิมพ์เป็นเล่มแล้ว และยังมิได้ตีพิมพ์ออกมาเป็นรูปเล่ม เช่น "ลักษณะภาษาไทย" "ภาษาต่างประเทศในไทย" "บาลีสันสกฤตในภาษาไทย" "กาเลหม่านไต" "ไปสอบคำไทย" "อันเนื่องด้วยชื่อ" "พจนานุกรมภาษาพ่าเก่-ไทย - อังกฤษ" และ "พจนานุกรมอ่าย ตอน - ไทย - อังกฤษ" ฯลฯ

การที่ศาสตราจารย์ ดร. คุณบรรจบ พันธุเมธา ได้จากไปในครั้งนี้เป็นการจากไปชนิด "ไปไม่กลับ หลับไม่ตื่น ฟื้นไม่มี หนีไม่พ้น" จึงนับว่าชาติไทยเราต้องสูญเสียทรัพยากรที่มีคุณค่าอย่างยิ่งในด้านภาษาไทยไปอย่างชนิดที่หาคนใหม่มาทดแทนอีกไม่ได้แล้ว ในงานพระราชทานเพลิงศพของท่าน เมื่อวันเสาร์ที่ ๒๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๕ จึงมีผู้ไปร่วมงานพระราชทานเพลิงศพเป็นจำนวนมาก ทั้ง ๆ ที่มิได้ออกบัตรเชิญ ส่วนมากมักจะเป็นบรรดาครูอาจารย์จากสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ในทั้งกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัดซึ่งมีความเคารพรักในตัวท่านศาสตราจารย์ ดร.คุณบรรจบ พันธุเมธา นั่นเอง แม้ท่านจะจากไปแล้ว แต่เกียรติคุณของท่านยังคงปรากฏอยู่ในผืนแผ่นดินไทยไปชั่วกาลนาน สมดังพระนิพนธ์ ในสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ในหนังสือ กฤษณาสอนน้อง ที่ว่า

"พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง
โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี
นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์
สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา
ความดีก็ปรากฏ กฤติยศฦๅชา
ความชั่วก็นินทา ทุรยศยินขจร"


จำนงค์ ทองประเสริฐ
๒๗เมษายน๒๕๓๕
Back