Back
การออกเสียงคำสมาสบาลีและสันสกฤต


การศึกษาภาษาไทยในปัจจุบันได้รับความสนใจน้อยลงตามลำดับ ดังจะเห็นได้จากการที่นิสิตนักศึกษาในวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยเรียนวิชาภาษาไทยเป็นวิชาเอกนั้นมีน้อยเหลือเกิน แม้แต่ที่เรียนวิชาภาษาไทยเป็นวิชาโทก็มีน้อยเช่นกัน ยิ่งผู้ที่จะเรียนระดับปริญญาโท - ปริญญาเอกในด้านภาษาไทยยิ่งมีน้อยมาก

เหตุผลที่สำคัญประการหนึ่งก็คืออาจารย์ภาษาไทยที่มีความรู้ภาษาบาลีและสันสกฤตจริง ๆ หาได้น้อยมาก ในสมัยก่อนเรามีพระยาอุปกิตศิลปสาร อาจารย์กำชัย ทองหล่อ ฯลฯ ซึ่งเป็นเปรียญ แม้กรรมการชำระปทานุกรมส่วนใหญ่ก็เป็นผู้มีความรอบรู้ภาษาบาลีและสันสกฤตเป็นอย่างดี เช่น อาจารย์วงศ์ เชาวนะกวี พระธรรมนิเทศทวยหาญ อาจารย์เกษม บุญศรี อาจารย์เจริญ อินทรเกษตร ฯลฯ ซึ่งท่านเหล่านี้มักจะยึดหลักการออกเสียงคำสมาสตามแบบภาษาบาลีและสันสกฤตค่อนข้างเคร่งครัดมาก หากจะมียกเว้นบ้างก็มีเป็นส่วนน้อย ดังนั้นในสมัยนั้นการอ่านคำสมาสต่าง ๆ จึงมักยึดหลักเกณฑ์ค่อนข้างเคร่งครัด เช่น ประวัติศาสตร์ ก็ต้องอ่านว่า ประ - หวัด - ติ - สาด รัฐธรรมนูญ ก็ต้องอ่านว่า รัด - ถะ - ทำ - มะนูน สังคมศาสตร์ ก็อ่านว่า สัง - คม - มะ - สาด แต่อาจารย์ภาษาไทยในปัจจุบันมีความรู้ในด้านภาษาบาลีและสันสกฤตน้อยลงหรือแทบจะไม่มีเลย ก็มักไม่มีหลักเกณฑ์ในการอ่าน และมักจะยอมให้อ่านตามใจชอบหรือตามใจคนส่วนมากที่อ่านผิด ๆ เพราะความไม่รู้หลักภาษานั่นเอง แม้แต่คำว่า "ปริญญา" (ปะ - ริน - ยา) บางคนก็บอกว่าเขาอ่านว่า "ปฺริน - ยา" เพราะฉะนั้น ก็ควรให้อ่านว่า "ปฺริน - ยา" ได้ด้วย เพราะไม่ทราบว่าคำนี้ เป็นคำบาลีซึ่งเขียนว่า "ปริญฺญา" ซึ่งมาจากคำอุปสรรค "ปฺริ" (ปะ - ริ) แปลว่า "รอบ" กับ "ญา" ซึ่งแปลว่า "รู้" หาได้มาจากคำว่า "ปฺริ" (ปริ) ซึ่งแปลว่า "แย้ม, ผลิ, แตกแต่น้อย" ไม่

คำที่อาจารย์เหล่านี้มักพูดเสมอว่า การที่ออกเสียงตามหลักสมาสเหล่านั้น ตนไม่เคยได้ยิน ไม่เคยออกเสียงอย่างนั้น คล้าย ๆ กับกรรมการชำระปทานุกรมผู้หนึ่งซึ่งถึงแก่กรรมไปแล้ว ถ้าท่านจะไม่ยอมรับ ท่านก็จะบอกว่า "ไม่เคยได้ยิน" "ไม่เคยเห็น" รู้สึกว่าท่านเอาตัวท่านคนเดียวเป็นหลัก คำใดที่ท่านไม่เคยพบ ไม่เคยเห็น ไม่เคยได้ยินละก็ ท่านจะไม่ยอมให้เก็บไว้ในพจนานุกรม ถึงกับกรรมการบางท่านต้องบอกว่า "ให้คนอื่นเขาได้ยิน ให้คนอื่นเขาได้เห็นบ้างซี"

แม้แต่ศัพท์ธรรมะทางพระพุทธศาสนา เช่นคำว่า "พรหมวิหาร" ซึ่งเขาออกเสียงกันว่า "พฺรม - มะ - วิ - หาน" ทั้งนั้น แต่อาจารย์บางท่าน ท่าน ออกเสียงว่า "พฺรม - วิ - หาน" ท่านก็จะบังคับให้อ่านว่า "พฺรม - วิ - หาน" อย่างเดียว ที่ออกเสียงอย่างนั้น ได้แก่ นามสกุลของนายไกสอน พรหมวิหาน แห่งราชอาณาจักรลาว หาใช่ "พรหมวิหาร" ("พฺรม - มะ - วิ - หาน") ซึ่งเป็นหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาไม่ข้าพเจ้าจึงรู้สึกวิตกว่าในอนาคตอันใกล้นี้ การออกเสียงคำสมาสแบบบาลีและสันสกฤต อาจจะหมดไปจากภาษาไทยก็ได้ ถ้าหากเราปล่อยให้อ่านกันไปตามบุญตามกรรม

ข้าพเจ้าได้เคยเข้าร่วมประชุมกับคณะกรรมการชำระปทานุกรมรุ่นก่อน ๆ ตั้งแต่ เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๗ ซึ่งในสมัยนั้น กรรมการส่วนใหญ่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ และมีความรอบรู้เกี่ยวกับหลักภาษาไทยอย่างลึกซึ้ง ทำให้ข้าพเจ้าได้รับความรู้ความเข้าใจในด้านภาษาไทยเป็นอย่างมากและก็ได้นำหลักเกณฑ์ของท่านมาใช้ในการปรับปรุงพจนานุกรมและชำระพจนานุกรมในโอกาสต่อมากรรมการรุ่นนั้นที่ได้เป็นกรรมการชำระ ปทานุกรม ก่อนข้าพเจ้าก็ได้สิ้นพระชนม์ ถึงอสัญกรรม ถึงอนิจกรรม และถึงแก่กรรมไปหมดแล้ว คนสุดท้ายที่เพิ่งถึงแก่อนิจกรรม ก็คือศาสตราจารย์ ดร. คุณบรรจบ พันธุเมธา นั่นเอง เวลานี้ข้าพเจ้าจึงเป็นบุคคลเดียวที่เป็นกรรมการที่ได้ปฏิบัติหน้าที่ในการชำระพจนานุกรมมานานที่สุด และก็เป็นกรรมการคนเดียวในปัจจุบันที่ได้ศึกษาบาลีและสันสกฤตมาโดยเฉพาะ แต่ก็คงไม่สามารถรักษาหลักเกณฑ์ การอ่านคำสมาสแบบบาลีและสันสกฤตไปได้นานนัก ก็คงต้องยึดหลักว่า "ใดใดในโลกล้วน อนิจจัง" นั่นแหละ คือต้องทำจิตว่างไว้บ้าง เพราะภาษาไทยก็มิใช่เป็นของเราแต่ผู้เดียว อย่างไรก็ตาม วิธีที่ดีที่สุดคืออ่านให้ถูก หลักสมาสไว้ก่อนก็แล้วกัน อย่างน้อยก็เพื่อจะได้แสดงถึงภูมิปัญญาของผู้อ่านหรือผู้พูดด้วย.


จำนงค์ ทองประเสริฐ
๑๔ เมษายน๒๕๓๕
Back