Back

การออกเสียงภาษาไทยที่น่าวิตก

นับตั้งแต่กรมประชาสัมพันธ์ได้ถูกเผาราบเรียบไปแล้ว ทางกรมประชาสัมพันธ์ก็มิได้ดำเนินการสอบผู้ประกาศอีกเลย ทั้งนี้เพราะเจ้าหน้าที่ของกรมประชาสัมพันธ์เองต่างก็แยกย้ายไปทำงาน ณ สถานที่หลายแห่ง เครื่องมือที่จะใช้สำหรับสอบผู้ประกาศก็ไม่มี ห้องสำหรับกรรมการและผู้เข้าสอบจะนั่งก็ไม่มี จึงเท่ากับเลิกล้มกันไปโดยปริยาย และก็ไม่ทราบว่าเมื่อใดจะมีการสอบกันใหม่

ตามปรกติ ผู้ที่จะไปอ่านข่าวหรือเป็นโฆษก นั้นจะต้องผ่านการทดสอบจากคณะกรรมการของกรมประชาสัมพันธ์ก่อน แต่ทั้ง ๆ ที่สอบได้ ก็ปรากฏว่าผู้ประกาศหรือผู้อ่านข่าวบางคนก็ยังอ่านไม่ค่อยถูกต้องนัก ทำให้มีผู้สอบถามมาเสมอว่า อ่านอย่างนี้สอบผ่านไปได้อย่างไร ข้าพเจ้าซึ่งก็เป็นกรรมการผู้หนึ่ง แต่ในระยะ ๓ - ๔ ปีมานี้ ไม่ค่อยได้ไปร่วมเป็นกรรมการผู้สอบ โดยส่งคนอื่นไปแทน ทั้งนี้ก็เพราะไม่ค่อยมีเวลาว่างเลย ได้ชี้แจงไปว่า ในการสอบผู้ประกาศ นั้น ถ้าจะเอาคุณภาพดีจริง ๆ วันหนึ่ง ๆ ก็แทบจะหาผู้สอบผ่านไม่ได้เลย เพราะคุณภาพยังดีไม่ถึงขนาด แม้อย่างนั้นในการสอบแต่ละครั้งก็ยังปรากฏว่ามีผู้สอบผ่านเพียงคนสองคนเท่านั้น และที่สอบผ่านก็โดยถือคะแนนของกรรมการเป็นใหญ่ คือถ้ากรรมการเกินครึ่ง ยอมให้ผ่านได้ก็ถือว่า "ผ่าน" ที่คะแนนไม่เป็นเอกฉันท์ ก็เพราะปรากฏว่ายังมีข้อบกพร่องที่จะต้องแก้ไขอยู่อีก เพียงแต่เห็นว่าพอจะแก้ไขได้เท่านั้น เช่น ออกเสียงตัว ร (เรือ) ได้บ้าง คือได้เป็นส่วนใหญ่ บางทีก็เผลอออกเสียงเป็น ล (ลิง) ไป อย่างนี้ก็แนะนำให้ปรับปรุงแก้ไขตัวเองใหม่ แต่บางคนก็กลัวเกินไป จนบางทีออกเสียง ล เป็น ร ไปหมด บางคนออกเสียงตัว ร ล ได้ แต่พอเป็นอักษรกล้ำออกเสียงถูกบ้างผิดบ้าง ถ้าเห็นว่าถูกต้องเป็นส่วนใหญ่ ก็มักอนุโลมให้ "ผ่าน" แต่เมื่อได้บัตรรับรองไปแล้ว ก็มิได้พยายามปรับปรุงตัวเองให้ดีขึ้นเลย คงเพราะถือว่ามีบัตรผู้ประกาศแล้ว ถึงจะอ่านผิดบ้าง ใครจะทำไม? จึงปรากฏว่าคุณภาพของผู้ประกาศหรือผู้อ่านข่าวทั้งทางวิทยุและโทรทัศน์เลวลงไปมาก ข้าพเจ้าไม่อยากจะพูดว่าวิทยุสถานีใด หรือโทรทัศน์ช่องไหน ให้สะเทือนใจเปล่า ๆ ข้าพเจ้าได้เคยเสนอให้กรมประชาสัมพันธ์และกบว. เปิดการอบรมโดยเรียกบรรดาผู้ประกาศและผู้จัดรายการตลอดจนโฆษกทั้งหลายมาอบรมบ้างเป็นครั้งคราว จะเป็นปีละครั้งก็ยังดี ถ้าใครมีคุณภาพไม่ดีหรือไม่พยายามปรับปรุงตัวให้ดีขึ้น ก็ไม่ควรต่ออายุบัตรผู้ประกาศให้ แต่จนกระทั่งบัดนี้ ก็มิได้มีการเคลื่อนไหวใด ๆ ขึ้นเลย ทำให้ผู้ฟังวิทยุและโทรทัศน์เอือมไปตาม ๆ กัน เพราะต่างก็วิตกกันว่า เด็ก ๆ ที่ชอบฟังวิทยุหรือดูโทรทัศน์ก็จะพลอยจดจำภาษาที่พูดผิด ๆ ออกเสียงผิด ๆ ตามไปด้วย

ยิ่งเวลาฟังถ่ายทอดกีฬา เช่น การชกมวยหรือฟุตบอลด้วยแล้ว รู้สึกรำคาญผู้พากย์ที่ออกเสียงไม่ชัด หรือออกเสียงตัวควบกล้ำไม่ได้อย่างที่สุด แต่ก็ต้องจำใจฟังหรือทนฟัง เพราะต้องการชมกีฬาเหล่านั้นอยู่

ในการถ่ายทอดการอภิปรายของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเกี่ยวกับงบประมาณที่ผ่านมา เมื่อเร็ว ๆ นี้ ท่านผู้ฟังจะรู้สึกว่าผู้แทนราษฎรของเราเป็นจำนวนมากพูดไม่ชัด ออกเสียงตัวควบกล้ำไม่ได้ เช่น รัฐมนตรีออกเสียงเป็น "รัดถะมนตี" กระทรวงการคลังออกเสียงเป็น "การคัง" กรมการปกครอง ออกเสียงเป็น "กมกานปกคอง" หรือ "ปรับปรุงเปลี่ยนแปลง" ก็ออกเสียงเป็น "ปับ ปุงเปี่ยนแปง" ฯลฯ และบุคคลที่พูดไม่ชัดเหล่านี้ ชอบพูดมาก ๆ เสียด้วย แม้แต่รัฐมนตรีบางคนก็พูดไม่ชัดเช่นกัน ทำให้เด็ก ๆ ยกเป็นข้ออ้างว่า แม้แต่รัฐมนตรีเองก็ยังออกเสียงอย่างนั้นเลย

ข้าพเจ้าเคยไปร่วมสัมมนาทางวิชาการของกระทรวงศึกษาธิการ เคยพบว่าผู้ใหญ่ระดับรองอธิบดีและผู้อำนวยการกองของกระทรวงศึกษาธิการเองหลายคนที่ยังพูดไม่ชัดออกเสียงตัวควบกล้ำไม่ค่อยได้ หรือเวลาเข้าประชุม อกค. ที่กระทรวงศึกษาธิการก็ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ของกระทรวงศึกษาธิการเองหลายคนก็อ่านออกเสียงตัว ร ล หรือตัวควบกล้ำไม่ชัดไม่ถูก ข้าพเจ้าเคยเรียนท่านรองเลขาธิการให้แนะนำผู้ใต้บังคับบัญชาปรับปรุงตัวเองเสียบ้าง จะได้สมกับตำแหน่งที่เกี่ยวกับครูอาจารย์โดยเฉพาะ

เรื่องอย่างนี้ควรที่ครูบาอาจารย์และพ่อแม่ผู้ปกครองจะได้ช่วยแนะนำสั่งสอนเด็กเสียตั้งแต่เล็ก ๆ เพราะ "ไม้อ่อนตัดง่าย" อย่าปล่อยให้พูดผิดออกเสียงผิดจนกระทั่งโต ในที่สุดก็แก้ไขยาก เข้าทำนอง "ไม้แก่ดัดยาก" และที่สำคัญที่สุดก็คือครูบาอาจารย์ทุกคน ไม่ใช่เฉพาะครูอาจารย์ภาษาไทยเท่านั้น ควรจะได้ปรับปรุงฝึกฝนให้มากเป็นพิเศษ เพื่อจะได้เป็นแบบอย่างที่ดีของศิษย์ต่อไป.


จำนงค์ ทองประเสริฐ
๒๓ มีนาคม ๒๕๓๖
Back