Back
การไหว้ครู


ในบรรดาอาชีพต่าง ๆ ในประเทศไทยนี้ ไม่มีอาชีพใดที่จะได้รับเกียรติสูงส่งยิ่งไปกว่า "อาชีพครู" อีกแล้ว แม้ครูจะเคยรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจว่า มีคนเขาเปรียบครูเสมือน "เรือจ้าง" ก็ตาม อย่างน้อยเรือจ้างก็สามารถช่วยทำให้คนข้ามฟาก ได้สำเร็จ แต่ถ้าหากครูไม่รู้จักพัฒนาตัวเองให้มีความรู้ความสามารถสูงยิ่งขึ้น ครูก็คงจะต้องเป็น "เรือจ้าง" ตลอดไป ดีไม่ดีเมื่อพาเขาถึงฝั่งแล้ว เขาอาจจะถีบหัวเรือด้วยก็มีเหมือนกัน ที่ถูกแล้วครูควรจะพัฒนาตัวเองจากเรือจ้างที่ใช้ข้ามฟากตามแม่น้ำลำคลอง ให้เป็น "เรือใบ" หรือ "เรือสินค้า" ขนาดใหญ่ ที่สามารถช่วยให้คนข้ามทะเล มหาสมุทรไปยังอีกทวีปหนึ่งได้ ปัญหาก็อยู่ที่ว่า ครู ได้พัฒนาตัวเองจาก "เรือจ้าง" ให้เป็น "เรือเดินทะเล" ได้หรือยังเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม อาชีพครู แม้จะมีเงินเดือนต่ำ มีเกียรติแบบลม ๆ แล้ง ๆ ต่ำกว่าอาชีพทั่ว ๆ ไป อย่างอาชีพตุลาการ ผู้พิพากษา หรือนักการเมือง แต่เกียรติของครูเป็นเกียรติที่มั่นคงถาวร ผิดกับเกียรติในด้านอื่น ๆ ซึ่งมักจะเป็นเกียรติ ชั่วครู่ชั่วยามเท่านั้น

สิ่งที่ครูน่าจะภาคภูมิใจมากก็คือ เมื่อเปิดการศึกษาในแต่ละปี ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนอนุบาล โรงเรียนประถมศึกษา โรงเรียนมัธยมศึกษา หรือสถาบันอุดมศึกษาก็ตาม จะต้องมีประเพณี "ไหว้ครู" กันทุกโรงเรียนทุกสถาบัน ผิดกับอาชีพอื่น ๆ แม้จะสูงส่งเพียงใด ก็ไม่เคยปรากฏว่ามี "พิธีไหว้" อย่าง "ไหว้ครู" เลย

ศาสตราจารย์อำไพ สุจริตกุล แห่งคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เขียนไว้ในงานวิจัยเกี่ยวกับ "การศึกษา" ในโครงการวิจัยเฉลิมฉลองสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมายุ ครบ ๓๖ พรรษา ของสถาบันไทยศึกษาตอนหนึ่ง ซึ่งได้กล่าวถึง "การไหว้ครู" ไว้ดังนี้

"ตามธรรมเนียมไทย คนที่ไม่รู้จักบุญคุณของครูบาอาจารย์เป็นคนที่น่ารังเกียจและมักถูกเหยียดหยามว่าเป็นคนเนรคุณ เพราะในโบราณกาลถือกันว่าครูเป็นผู้มีบุญคุณแก่ศิษย์รองจากพ่อแม่บังเกิดเกล้า หรือถือว่าเป็นพ่อแม่ที่สองก็ว่าได้ จึงมีคำกล่าวต่อเนื่องกันวา "ข้าพเจ้าขอบูชาพระศรีรัตนตรัย คุณบิดามารดา ครูบาอาจารย์ ..." ในการกราบ ๕ ครั้ง ที่ผู้ใหญ่สอนให้เด็กไหว้พระสวดมนต์บูชาคุณก่อนนอน ฉะนั้น "ถ้าศิษย์คนใดดูถูกดูหมิ่นครูก็ถือกันว่าเป็นคนที่ใช้ไม่ได้ ขาดความกตัญญู เรียนวิชาความรู้อะไรไปก็จะเสื่อมหมด ดังมีนิทานเล่าถึงศิษย์อกตัญญูไว้หลายเรื่อง เช่น ที่รู้กันแพร่หลายก็คือ คนที่เรียนวิชาเสกมะม่วงจากคนขอทาน... และมานพหนุ่มเรียนวิชากลืนดาบจากชายทุคตะเข็ญใจ ได้แสดงวิชากลืนดาบจนเป็นที่โปรดปรานของพระราชา เมื่อพระราชาตรัสถามถึงครู ก็ไม่ยอมตอบตามความจริง ครั้นแสดงให้ทอดพระเนตรอีกครั้งหนึ่ง ดาบก็บาดเอาถึงแก่ความตาย"

"นอกจากจะเคารพบูชาครูผู้สอนความรู้ให้โดยตรงแล้ว แม้แต่ความรู้ที่ผู้เรียนไปจดจำเอามาจากผู้อื่น แล้วนำความรู้นั้นมาใช้ เช่นเห็นใครร้องหรือร่ายรำ เล่นดนตรีต่าง ๆ เป็นที่ชอบใจ ก็จดจำของเขาไว้ แล้วนำมารำหรือเอาแบบอย่างเขาเล่นบ้าง แม้แต่ได้อ่านบทกวีหรือคำประพันธ์ชอบใจวิธีแต่งวิธีเขียน การใช้ถ้อยคำสำนวนโวหาร ก็จดจำไว้ นำมาใช้ในโอกาสต่าง ๆ เช่นนี้ คนไทยโบราณก็ยังเคารพนับถือเจ้าของเดิมผู้แต่งหรือผู้ประพันธ์ว่าเป็นครูของตนเช่นกัน เรียกว่า ครูพัก - ลักจำ หรือ ครูพักอักษร สมบัติ พลายน้อย ได้ยกตัวอย่าง บทไหว้ครูของนักเพลงพื้นบ้านบทหนึ่งดังนี้

"... ไหว้พระพุทธพระธรรม ที่เลิศล้ำในโลกา
ไหว้ทั้งครูพักอักษร คุณพระบิดรมารดา
ให้ช่วยชูชุบอุปถัมภ์ มาแนะมานำปัญญา
ลูกจะเต้นรำทำท่า เสียในเวลานี้เอยฯ"

อีกบทหนึ่งว่า

".... สิบนิ้วลูกจะประนม ถวายบังคมขึ้นเหนือศีรษะ
ต่างดอกไม้ธูปเทียน ขึ้นเหนือเศียรบูชา
ไหว้ทั้งครูเฒ่าที่เก่าก่อน ได้ฝึกสอนให้มีมานะ
ทั้งโทนทับกระจับ ปี่ก็ดีดสีเป็นจังหวัะ
จะไหว้ครูรู้ครูพัก ทั้งคุณเอกอักขระ
ไหว้บิตุราชมาตุรงค์ ด้วยจิตจงอุตสาหะ
ช่วยคุ้มครองป้องกาย ต่อผู้ชายสะมะถะ
จะคิดแก้ไขให้ชยะ ไปตามจังหวะกลองเอยฯ

ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า ในสังคมไทยเรานั้น เราให้เกียรติและยกย่อง ครูบาอาจารย์ไว้สูงมาก เพราะท่านเป็นผู้สอนให้ทราบว่าคำใดควรจะออกเสียงอย่างไร สอนให้เรารู้จักผิดชอบชั่วดี เพื่อเราจะได้นำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันของเรา และจะมีผลกระทบไปยังสังคมอีกด้วย.

จำนงค์ ทองประเสริฐ
๒๐ กรกฎาคม๒๕๓๕
Back