Back

กาแล

ท่านที่เคยเดินทางไปเที่ยวทางภาคเหนือ คงจะได้สังเกตเห็นว่าบนยอดสูงของหลังคาเรือนไทยทางภาคเหนือที่ยื่นจากหน้าจั่วขึ้นไปคล้ายเขาสัตว์คู่ ทั้งด้านหน้าด้านหลัง ซึ่งเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของเรือนไทยภาคเหนือ เราเรียกว่า "กาแล" ทำไมจึงเรียกว่า "กาแล" นั้นเป็นเรื่องที่จะต้องกล่าวถึงกันต่อไป

คำว่า "กาแล" พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ยังมิได้เก็บไว้ แต่ใน"พจนานุกรมศัพท์ศิลปกรรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน" เล่ม ๑ ได้เก็บไว้แล้ว และได้ให้ความหมายดังนี้

"องค์ประกอบของเรือนไทยทางภาคเหนือ อยู่ตอนบนสุดของหลังคาที่ยื่นจากหน้าจั่วทำหน้าที่เหมือนกับปั้นลมของเรือนไทยภาคกลาง ประดับไว้เพื่อแสดงออกถึงลักษณะเฉพาะของเรือนไทยล้านนา ลักษณะเป็นไม้ต่อจากไม้ปิดริมชายคาที่ประสานกันตรงสันหลังคาขึ้นไป"

ส่วนปัญหาที่ว่าทำไมจึงเรียกไม้เช่นนั้นว่า "กาแล" พจนานุกรมศัพท์ศิลปกรรมมิได้กล่าวถึง บังเอิญข้าพเจ้าไปอ่านหนังสือชื่อ "ลายคราม" ซึ่งพิมพ์ขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองอายุครบ ๖ รอบ ของอาจารย์ไกรศรี นิมมานเหมินท์ เมื่อวันที่ ๒๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๗ ก็ได้พบเรื่อง "หำยนต์" ซึ่งก็เป็นเรื่องที่น่า สนใจเรื่องหนึ่ง และในบทความเรื่อง "หำยนต์" นี้เอง ข้าพเจ้าได้พบความหมายและที่มาของคำว่า "กาแล" จึงขอนำมาเสนอท่านผู้ฟังต่อไปดังนี้

"บ้านรูปทรงแบบเก่า ๆ ที่สร้างขึ้นมาในบริเวณภาคเหนือของประเทศไทยนั้น จะมีเสาเรือนขนาดใหญ่ที่มั่นคงแข็งแรง ตรงพื้นเรือนของบ้านที่ยกพื้นขึ้นสูงนี้มีฝาเรือนที่ลาดเอียงออกมาจากพื้นเรือนขึ้นไปสู่ใต้ของหลังคาตรงจั่วหลังคาทั้งด้านหน้าและด้านหลังของตัวเรือน มีปั้นลมลาดไปตามขอบจั่วหลังคา แล้วไปบรรจบกันที่ปลายจั่ว และยื่นต่อออกไป มีลักษณะดุจ "เขาสัตว์" สองคู่ ซึ่งชาวไทยวน (ไท - ยวน) ในภาคเหนือเรียกว่า ก๋าแล (คือ อีกาชำเลืองตาดู) ส่วนชาวไทยวนในจังหวัดราชบุรี เรียกว่า แก๋แล (คือนกพิราบชำเลืองดู) ลักษณะการทำหลังคาบ้านทำนองนี้ พบเห็นมากในหมู่บ้านอีก้อ และลัวะในจังหวัดเชียงรายและแม่ฮ่องสอน อย่างไรก็ดี ดูเหมือนว่าทั้งชาวอีก้อและลัวะต่างก็ไม่ทราบถึงความเป็นมาของการสร้างบ้านแบบนี้ นอกเสียจากว่า เพื่อ งดงามสวยงามเท่านั้น การทำหลังคานี้มีรูปแบบคล้าย ๆ กันนี้ พบเห็นได้เช่นกันในรัฐฉาน และรัฐว้าของพม่า ในมณฑลอัสสัมของอินเดีย ในเกาะสุมาตราของอินโดนีเซีย และแม้แต่ในญี่ปุ่น บ้านของชาวไทยลื้อในสิบสองปันนาของประเทศจีนตอนใต้และในลาวก็มีปลายจั่ว หลังคารูปทรงเขาสัตว์แบบดั้งเดิมนี้เหมือนกัน"

บทความนี้อาจารย์ไกรศรี นิมมานเหมินท์ เขียนเป็นภาษาอังกฤษ และคุณนฤจร อิทธิจีระจรัส เป็นผู้แปลเป็นภาษาไทย บทความเรื่อง "หำยนต์" นี้นับว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจมากเรื่องหนึ่ง

เรื่องภาษาไทยในถิ่นต่าง ๆ นั้น ข้าพเจ้าเห็นว่าควรที่คนไทยที่สนใจภาษาไทยจริง ๆ น่าจะได้ศึกษาเปรียบเทียบคำไทยในถิ่นต่าง ๆ ว่า เหมือนกันหรือต่างกันอย่างไร บางทีออกเสียงเหมือนกัน แต่ความหมายไม่เหมือนกัน บางทีแต่ละถิ่นออกเสียงต่างกัน แต่ความหมายเหมือนกันอย่างคำว่า "กาแล" ในภาษาไทยภาคกลางนั้น ถ้าออกเสียงอย่างภาษาถิ่นเป็น "ก๋าแล" หมายถึง "อีกาชำเลืองดู" แต่ถ้าออกเสียงเป็น "แก๋แล" หมายถึง "นกพิราบชำเลืองดู"

ในปัจจุบันคนไทยเรามักพูดภาษาไทยผิดเพี้ยนอยู่มาก ยิ่งนักเรียนใน ปัจจุบัน ชักจะพูดภาษาไทยไม่ชัด เนื่องจากในการเรียนปัจจุบัน ไม่ค่อยมีการอ่านออกเสียง จึงทำให้เด็กออกเสียงผิด ๆ ถูก ๆ ตัว ร - ล ก็ออกเสียงแยกกันไม่ได้ ยิ่งตัว ร - ล กล้ำด้วยแล้ว บางทีออกเสียงตัวกล้ำไม่ได้เลย ไม่เฉพาะเด็ก ๆ เท่านั้น แม้แต่ผู้ใหญ่ที่เป็นรัฐมนตรี เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก็มีอยู่เป็นจำนวนมากที่ออกเสียงไม่ค่อยถูก ดังเราจะได้ยินในเวลาอภิปรายในรัฐสภาแล้วถ่ายทอดออกอากาศให้ประชาชนทั่วประเทศได้ฟังมาหลายครั้งหลายหนแล้ว บางทีก็เลยต้องใช้วิธี "ปลงธรรมสังเวช" เข้าช่วย มิฉะนั้นจะทำให้กลุ้มอก กลุ้มใจไปเปล่า ๆ ข้อสำคัญก็คือครูอาจารย์ต้องออกเสียงให้ชัดให้ถูกต้องก่อน แล้วจึงจะสอนให้เด็กออกเสียงให้ถูกต้องได้กระทรวงศึกษาธิการควรจะได้หามาตรการแก้ไขครูที่พูดภาษาไทยไม่ชัดด้วย โดยเริ่มจากเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ของกระทรวงศึกษาธิการลงมาทีเดียว.


จำนงค์ ทองประเสริฐ
๒๔ พฤษภาคม ๒๕๓๖
Back