Back

กิเลส ๑๕๐๐ ตัณหา ๑๐๘

ได้มีท่านผู้ฟังซึ่งมีความสนใจเกี่ยวกับหลักธรรมในพระพุทธศาสนาถามว่าที่คนทั่ว ๆ ไปเมื่อพูดเกี่ยวกับกิเลสตัณหาของมนุษย์ มักจะพูดว่า "กิเลส ๑๕๐๐ ตัณหา ๑๐๘" นั้น เป็นการพูดแบบเล่นสำนวนหรือว่านับจำนวนได้จริง ๆ

ข้าพเจ้าก็เคยสงสัยว่า กิเลส ๑๕๐๐ (พันห้า) นั้นมีอะไรบ้าง ส่วนตัณหา ๑๐๘ (ร้อยแปด) นั้นข้าพเจ้าไม่สงสัย

อย่างไรก็ตาม ข้าพเจ้าจะกล่าวถึง "ตัณหา ๑๐๘" เสียก่อนว่ามีอะไรบ้าง ท่านคิดดังนี้คือ ตัณหา มี ๓ อย่าง คือ กามตัณหา - ความอยากได้ ๑ ภวตัณหา - ความอยากเป็น ๑ วิภวตัณหา - ความไม่อยากเป็นหรือความอยากไม่เป็น ๑ คูณด้วย ตัณหา ๖ คือ ตัณหาในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะคือสิ่งที่สัมผัสได้ด้วยกาย และธรรมารมณ์คืออารมณ์ที่เกิดทางใจ = ๑๘ คูณด้วยตัณหาภายในและตัณหาภายนอกอีก ๒ จึง = ๓๖ และเป็นไปในกาล ทั้ง ๓ คือ อดีตกาล ปัจจุบันกาล และอนาคตกาล จึงรวมเป็น ๑๐๘

ส่วนกิเลส ๑๕๐๐ นั้น ได้มีกล่าวไว้ในหนังสือ "เตภูมิกถา" หรือ "ไตรภูมิ พระร่วง" ซึ่งหนังสือ "ไตรภูมิกถา ฉบับถอดความ" ที่คณะกรรมการอาเซียนว่าด้วยวัฒนธรรมและสารสนเทศ จัดพิมพ์เมื่อ พ.ศ.๒๕๒๘ ได้สรุปไว้ดังนี้

"หนทางที่จะไปสู่นิพพานนั้น คือ มรรค ๔ ผล ๔ ได้แก่ โสดาปัตติ-มรรค โสดาปัตติผล สกิทาคามิมรรค สกิทาคามิผล อนาคามิมรรค อนาคามิผล อรหัตตมรรค อรหัตตผล

"ในหนทางทั้ง ๘ สายนี้ ใครดำเนินไปได้ ผู้ที่ดำเนินไปได้ คือ ผู้ที่ละกิเลสได้ ๓๐๐ คือ รูปกิเลส ๑๘ อรูปกิเลส ๕๓ อาการกิเลส ๔ รวมเป็น ๗๕ ในกิเลสทั้ง ๗๕ นี้ แยกออกเป็นกิเลสภายใน ๗๕ กิเลสภายนอก ๗๕ จึงเป็น ๑๕๐ ในจำนวน ๑๕๐ นี้ จัดเป็นฝ่ายเห็นผิดว่าเป็นตัวเป็นตน ๑๕๐ ความสงสัย ลังเลใจ ๑๕๐ จึงเป็น ๓๐๐ ผู้ที่ละกิเลสทั้ง ๓๐๐ ได้เด็ดขาด ชื่อว่า ได้ดำเนินถึงโสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล จึงสำเร็จเป็นพระอริยบุคคลชั้นพระโสดาบัน คือ ผู้ถึงกระแสพระนิพพานเป็นครั้งแรก

"ผู้ที่ละกิเลส ๓๐๐ ดังกล่าวมานั้นได้เด็ดขาด และยังละกิเลสอีก ๔๕๐ คือ ความกำหนัด ๑๕๐ ความโกรธฉุนเฉียว ๑๕๐ ความลุ่มหลง ๑๕๐ จึงรวมเป็น ๔๕๐ ผู้ละกิเลสได้อย่างนี้ชื่อว่า ได้ดำเนินถึงสกิทาคามิมรรค สกิทาคามิผล สำเร็จเป็นพระอริยบุคคลชั้นพระสกิทาคามี คือ ผู้จะมาเกิดอีกครั้งเดียวก็จะนิพพาน

"ผู้ละกิเลส ๔๕๐ อย่างดังกล่าวมาได้เด็ดขาดและยังละความกำหนัดในกาม ๑๕๐ ความผูกใจปองร้าย ๑๕๐ จึงรวมเป็น ๓๐๐ เมื่อรวมกับที่ละได้เด็ดขาดมาก่อนจึงเป็น ๗๕๐ ผู้ละกิเลสได้อย่างนี้ชื่อว่าผู้ดำเนินถึงอนาคามิมรรค อนาคามิผล จึงสำเร็จเป็นพระอริยบุคคลขั้นพระอนาคามี คือ ผู้ไม่หวนกลับมาสู่กามภูมิ จะไปถึงพรหมโลกชั้นสุทธาวาส แล้วก็จะนิพพานที่นั้น

"ผู้ละกิเลส ๗๕๐ อย่างดังกล่าวมาได้เด็ดขาด และยังละกิเลสอีก ๗๕๐ คือ ความกำหนัดรักใคร่พอใจในรูป ๑๕๐ ความกำหนัดรักใคร่พอใจสิ่งที่มิใช่รูป ๑๕๐ ความเย่อหยิ่งถือตัว ๑๕๐ ความฟุ้งซ่าน ๑๕๐ ความไม่รู้ ๑๕๐ เมื่อรวมกับที่ละได้แล้ว ๗๕๐ จึงเป็น ๑๕๐๐ ผู้ที่ละได้อย่างนี้ชื่อว่า ดำเนินถึงอรหัตตมรรค อรหัตตผล จึงสำเร็จพระอริยบุคคลขั้นพระอรหันต์ คือ ผู้หมดกิเลส บริสุทธิ์ ถึงที่สุดแห่งพรหมจรรย์ สำเร็จกิจทุกอย่าง จึงชื่อว่า เข้า นิพพาน ดับกิเลสทุกอย่างโดยไม่เหลือ"

เพราะฉะนั้นผู้ที่ละกิเลส ๑๕๐๐ และตัณหา ๑๐๘ ได้อย่างสิ้นเชิงก็คือ พระอรหันต์ หรือพระขีณาสพ (ผู้มีอาสวกิเลสสิ้นแล้ว) เท่านั้น

หลักธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนานั้นลึกซึ้งมาก ยากที่จะเข้าใจได้อย่างถ่องแท้ แม้ในหนังสือ "พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม" ของ พระเทพเวที (ประยุทธ์ ปยุตฺโต (ปัจจุบันคือ พระธรรมปิฎก ป.อ. ปยุตฺโต)) ก็ได้กล่าวถึง "กิเลส ๑๕๐๐" ไว้ดังนี้

"กิเลส ๑๕๐๐ ที่จัดเป็นชุดจำนวนอย่างนี้ ไม่มีในพระบาลี แม้จะมีกล่าวถึงในอรรถกถาบางแห่งก็แสดงเพียงตัวอย่างไม่ครบถ้วน ระบุไว้อย่างมากที่สุด เพียง ๓๓๖ อย่างเช่น โลภะ โทสะ โมหะ..."

ข้าพเจ้าก็ไม่ทราบว่า หนังสือ "เตภูมิกถา" หรือ "ไตรภูมิพระร่วง" ที่ท่านได้กล่าวถึง "กิเลส ๑๕๐๐" ไว้นั้นท่านได้ข้อมูลมาจากไหน ก็ขอฝากท่าน ผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญในหลักธรรมคำสอนทางพระพุทธศาสนาช่วยสืบค้นกันต่อไป.

จำนงค์ ทองประเสริฐ
๓๑สิงหาคม๒๕๓๕
Back