Back
ฃ ไข่ และ ฅ คน


เวลานี้ได้มีบุคคลบางคนพยายามรณรงค์จะให้นำเอา ฃ ขวด และ ฅ คน กลับมาใช้ในการเขียนภาษาไทยอีก รวมทั้งคุณอดิศร เพียงเกษ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการด้วย ทั้งนี้ก็โดยเห็นว่าคำว่า "คน" น่าจะใช้ ฅ คน ไม่ใช่ ค ควาย เพราะคนไม่ใช่ควาย ในเมื่อเรามี ฅ คน ใช้อยู่แล้ว ทำไมจึงต้องใช้ ค ควายเขียนคำว่า "คน" ด้วย ทำให้ข้าพเจ้านึกถึงคุณประยูร จรรยาวงศ์ ที่ท่านพยายามรณรงค์ในการเขียนคำว่า "คน" โดยใช้ ฅ คนแทน ซึ่งท่านก็ทำได้ เพราะท่านเขียนเอง แล้วก็เอาไปทำบล็อก
ข้าพเจ้าเคยได้รับคำถามอยู่เสมอว่า ตัว ฃ ขวด และ ฅ คนนี้ได้เลิกใช้ตั้งแต่เมื่อใด เพราะ ฃ ขวด พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถานบอกไว้ว่า "พยัญชนะตัวที่ ๓ นับเป็นพวกอักษรต่ำ แต่เดี๋ยวนี้เลิกใช้แล้ว." และที่ ฅ คน ก็บอกว่า "พยัญชนะตัวที่ ๕ นับเป็นพวกอักษรต่ำ แต่เดี๋ยวนี้เลิกใช้แล้ว." เมื่อเลิกใช้แล้วก็น่าจะตัดออกจากพจนานุกรม ข้าพเจ้าก็ตอบไปว่า ที่ว่า "เลิกใช้แล้ว" นั้น มิได้มีประกาศเลิกใช้เป็นทางการ หากเลิกใช้ไปโดยปริยายตั้งแต่ประมาณรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมากกว่า ทั้งนี้เนื่องจากพิมพ์ดีดภาษาไทยซึ่งได้จัดทำขึ้นเป็นครั้งแรกในสมัยที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรง ราชานุภาพ ทรงดำรงตำแหน่งเป็นเสนาบดีว่าการกระทรวงธรรมการนั้น ด้านอักษรไม่พอที่จะบรรจุพยัญชนะ และสระ รวมทั้งเครื่องหมายวรรณยุกต์และเครื่องหมายวรรคตอนของไทยได้ทั้งหมด จึงจำเป็นต้องตัดพยัญชนะ สระ และเครื่องหมายที่ให้น้อยออก ซึ่งรวมทั้งตัว ฃ ขวด และ ฅ คนด้วย ทั้งนี้เพราะคำทั้ง ๒ นี้ มีใช้น้อย และก็ยังไม่ค่อยได้มาตรฐานเท่าใดนัก
ที่บางคนคิดว่าคำว่า "คน" ในสมัยสุโขทัยนั้นต้องเขียนด้วย " ฅ คน" ด้วยนั้น นับว่าเป็นความเข้าใจผิด ทั้งนี้เพราะในศิลาจารึกหลักที่ ๑ ของพ่อขุนรามคำแหงนั้น คำว่า "คน" ใช้ ค ควายทั้งนั้น ดังในศิลาจารึกหลักที่ ๑ ด้าน ๔ มีข้อความตอนท้ายสุดของศิลาจารึกหลักนั้น ดังนี้
"...พ่อขุนพระรามคำแหงนั้น หาเป็นท้าวเป็นพระญาแก่ไทยทั้งหลาย หาเป็นครูอาจารย์สั่งสอนไทยทั้งหลายให้รู้บุญรู้ธรรมแท้ แต่คนอันมีในเมืองไทยด้วยรู้ด้วยหลวก ด้วยแกล้วด้วยหาญ ด้วยแคะด้วยแรง หาคนจักเสมอมิได้ อาจปราบฝูงข้าเสีก มีเมืองกว้างช้างหลาย ปราบเบื้องตะวันออก รอดสระหลวงสองแฅว... ชอบด้วยธรรมทุกคนฯ"
ในศิลาจารึกด้านที่ ๔ นี้มีคำว่า "คน" อยู่ ๓ แห่ง ท่านใช้ ค ควายทั้งสิ้น ส่วนคำที่ใช้ ฅ คน นั้นมีอยู่เพียง ๓ คำคือที่ด้าน ๑ มีคำว่า "ฅวาม" ในข้อความว่า "จึ่งแล่งฅวามแก่เขาด้วยชื่อ" และ "มีถ้อยมีฅวาม" และอีกคำหนึ่งที่ใช้ ฅ คน คือ "ฅำ" ในความว่า "พ่อเชื้อเสื้อฅำ" ที่ด้าน ๒ ก็มีคำว่า "ฅวาม" เช่นกันในข้อความว่า "...เมื่อถามสวนฅวามแก่มันด้วยชื่อ" และที่ด้าน ๔ มีคำว่า "แฅว" ในความว่า "สระหลวง สองแฅว" รวมแล้วก็ปรากฏว่าในศิลาจารึกหลักที่ ๑ มิใช้ ฅ คนมี ๓ คำคือ "ฅวาม" "ฅำ" และ "แฅว" เท่านั้น
ส่วน ฃ ขวดมีใช้หลายคำ คือคำว่า "ฃึ้น" "เฃ้า" ที่เป็นกริยา "ฃุน" "ฃาย" "แฃวน" "หมากฃาม" "เสียงฃับ" (ภู) เฃา" รวม ๘ คำ คำว่า "ฃุน" ซึ่งหมายถึงผู้เป็นใหญ่นั้นใช้ ฃ ขวดทุกแห่ง เช่น "ลูกเจ้าลูกฃุน" "ฃุนสายชน" "ฃุนรามคำแหง" "ฃุนพระรามคำแหง" คำว่า "เฃ้า" ที่เป็นกริยาใช้ ฃ ขวด เช่น "เกลื่อนเฃ้า" "กูขับเฃ้า" "เฃ้าเวียง" "เฃ้ามา" ถ้า "เฃ้า" ใช้เป็นคำนาม แปลว่าปีนั้นใช้ ข ไข่ เช่น "สิบเก้าเข้า" "สิบสี่เข้า" "หกเข้า" และ "สามเข้า" คำว่า "เขา" ถ้าเป็นคำนามอันหมายถึง ภูเขา ท่านใช้ ฃ ขวด เช่น "ในเฃาอันนั้น" "ผีในเฃาอั้น" ซึ่งอยู่ในด้าน ๓ ของศิลาจารึก
คำว่า "ขับ" ถ้าหากหมายถึงกิริยาอย่างขับไล่ ก็ใช้ ข ไข่ เช่น กูขับเข้าก่อนพ่อกู" แต่ถ้าหมายถึง "ขับร้อง" ก็ใช้ ฃ ขวด เช่น "เสียงเลื่อนเสียงฃับ"
เมื่อเปิดหนังสือ "อักขราภิธานศรับท์" ของ หมอปรัดเล ซึ่งตีพิมพ์เมื่อ ค.ศ. ๑๘๗๓ ตรงกับ พ.ศ. ๒๔๑๖ ก็พบคำที่ใช้ ฃ ขวด ได้แก่ "ขิก, ขุก ๆ , ขุกขัก, ขุกค่ำขุกคืน, เขกหัว, เขกโขก, แขกทั้งหมด, โขก, ขอกรั้ว, ขงจู๊ และ ขัง" เฉพาะคำว่า "ขัง" พอเป็นลูกคำ เช่น ขังไก่ ขังคน ฯลฯ ใช้ ข ไข่ทั้งหมด คำว่า "ข้าง" ใช้ ฃ ขวดก็มี ข ไข่ก็มี "ขิง, ขึง, ขึ้ง เข่ง, แขง, แข่ง, แข้ง, โขง, โข่ง, ของรวมทั้งลูกคำ ยกเว้น "ของสงฆ์" ใช้ ข ไข่ ซึ่งยังไม่มีเอกภาพเลย ส่วน ฅ คนนั้นมีใช้น้อยมาก แม้แต่คำว่า "คน" ก็ใช้ ค ควาย ที่ใช้ ฅ คนก็คือ "คอของคน ลำคอ และ คอหอย" เท่านั้น อย่าง "ห่าหักฅอ" ก็ใช้ ฅ คน
ด้วยเหตุนี้ ข้าพเจ้าจึงเห็นว่าการจะหันกลับไปใช้ ฃ ขวด และ ฅ คนอีกนั้น จะเอาอะไรเป็นหลักในการที่จะกำหนดว่าเมื่อใดใช้ ฃ ขวด และเมื่อใดใช้ ฅ คน แต่ที่พจนานุกรมยังคงเก็บ ฃ ขวด และ ฅ คนไว้ก็เพื่อรักษาประวัติความเป็นมาของอักษรไทย เพราะถ้าหากตัด ๒ คำนี้ออกไป ต่อไปอีกสัก ๕๐ - ๖๐ ปี อนุชนรุ่นหลังมาพบคำว่า ฃ ฅ ในหนังสือเก่า ๆ ก็จะไม่ทราบว่าเป็นมาอย่างไร อาจคิดว่าคนโบราณเขียนผิดก็ได้.

จำนงค์ ทองประเสริฐ
๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๓๖
Back