Back
คณะกรรมการชำระปทานุกรมท่านทำงานกันอย่างไร


เรื่องงานชำระพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถานนั้นในปัจจุบันมีผู้สนใจอยากทราบกันมากขึ้น แสดงให้เห็นว่าคนไทยเรามีความตื่นตัวในด้านภาษาไทยมากขึ้น ได้มีผู้เขียนบทความหรือแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับงานพจนานุกรมของราชบัณฑิตยสถานมากขึ้น นับว่าเป็นนิมิตหมายที่ดีมากของวงการภาษาไทยเรา แต่คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยทราบถึงวิธีการทำงาน การเก็บคำ การนิยามความหมายของคำต่าง ๆ ที่ปรากฏอยู่ในพจนานุกรม โดยเฉพาะของ "คณะกรรมการชำระปทานุกรม" ซึ่งชำระ "ปทานุกรม" ฉบับกรมตำรา กระทรวงธรรมการ พ.ศ. ๒๔๗๐ ออกมาเป็น "พจนานุกรม" ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๔๙๓ เลย แม้แต่ข้าพเจ้าก็มาไม่ทัน แต่ก็ได้มีโอกาสอ่านเอกสารบางฉบับที่เลขานุการคณะกรรมการชำระปทานุกรมในสมัยนั้น คือ อาจารย์เจริญ อินทรเกษตร อดีตเลขาธิการราชบัณฑิตยสถานได้เรียบเรียงไว้ เป็นส่วนของ "คำปรารภ" ในเอกสารชื่อ "ทำไมจึงเขียน เฉพาะ" และ ราชบัณฑิตยสถานได้ตีพิมพ์ขึ้นเพื่อเผยแพร่เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๔ ข้าพเจ้าเห็นว่าเป็นประโยชน์มาก เพราะคงจะทำให้ลด "ช่องว่าง" ในเรื่องการชำระพจนานุกรม ระหว่างคณะกรรมการชำระ พจนานุกรมปัจจุบัน กับท่านผู้ใช้พจนานุกรมได้บ้าง จึงขอนำมาเสนอท่านผู้ฟังดังนี้

"การนิยามคำลงในพจนานุกรม ไม่ว่าภาษาใด ผู้นิยามต้องมีหลักอยู่ว่า ในขั้นแรกต้องพยายามให้ได้คำต่อคำ คือนิยามคำเป็นคำ ไม่ใช่นิยามเป็นคำอธิบายยืดยาว แต่ถ้าหาคำที่มีความหมายเหมือนกันไม่ได้ ก็จำต้องนิยามเป็นเชิงอธิบาย หรือที่เรียกกันว่า "ร่ายยาว" และในการอธิบายเป็นเชิง "ร่ายยาว" นี้ ก็ต้องพยายามที่จะให้สั้นที่สุด แต่มีความหมายตรงกับคำตั้งทุกแง่ทุกมุม อนึ่ง ในการนำบทนิยามมาลงไว้ในพจนานุกรมนั้นเล่า ก็นำมาลงไว้แต่ผลแห่งการพิจารณาซึ่งถึงที่สุดแล้วเท่านั้น ส่วนหลักฐานและเหตุผลในการพิจารณาไม่อาจนำมาลงได้เพราะยืดยาวมาก

"โดยเหตุที่หลักฐานและเหตุผลในการพิจารณาของคณะกรรมการชำระปทานุกรมซึ่งคล้าย ๆ กับเป็นคำอธิบายบทนิยามนั้น ๆ ไม่อาจนำมาลงในพจนานุกรมได้ดังกล่าว จึงทำให้มีผู้สงสัยกันไปต่าง ๆ นานา แล้วแสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์ออกมาเป็นอเนกนัย เพราะความสงสัยนั้น ๆ เป็นมูล ซึ่งข้าพเจ้าถือว่าการแสดงออกซึ่งการวิพากษ์วิจารณ์ของผู้สงสัยนั้น ๆ เป็นศุภนิมิตแห่งความก้าวหน้าทางวิชาอักษรศาสตร์ไทย เพราะความสงสัยเป็นเหตุให้สืบค้น การสืบค้นเป็นเหตุให้เกิดวิชาความรู้แปลก ๆ และใหม่ ๆ เพราะฉะนั้นในการวิจัยและ การศึกษาเล่าเรียนวิชาการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นวิชาอักษรศาสตร์ วิทยาศาสตร์ หรือนิติศาสตร์ ท่านจึงสอนให้ทำไว้ในใจเสมอว่า "ทำไม เมื่อไร อะไร ที่ไหน อย่างไร และใคร" ฉะนั้นจึงเป็นการแน่นอนว่า วิชาอักษรศาสตร์ไทยเราจะรุ่งเรืองต่อไปในอนาคต ถ้ามีผู้สงสัยในวิชานี้เพิ่มจำนวนมากขึ้น

"เมื่อราชบัณฑิตยสถานได้ตีพิมพ์พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตย--สถานออกเผยแพร่แล้ว ได้มีบางท่านที่สนใจในวิชาการนี้สงสัยว่า ทำไมจึงทำกันนานตั้ง ๑๗ ปี ไม่เห็นมีอะไรพิสดารกว่าเล่มเก่ากี่มากน้อย ข้อนี้ ถ้าท่านผู้สงสัยนั้น ๆ สืบค้นต่อไปก็จะทราบได้ว่า พจนานุกรมเล่มที่ปรากฏอยู่เฉพาะหน้านี้ เป็นผลซึ่งเผล็ดมาแต่เหตุคือการชำระเล่มเก่า ก็และในการชำระนั้น คณะกรรมาการต้องสอบสวนค้นคว้าหาหลักฐานมาประกอบพิจารณาชำระ คำบางคำต้องขับเคี่ยวพิจารณากันแล้ว ๆ เล่า ๆ ต้องสองสามประชุม บางทีตั้งสิบประชุมก็เคยมี แล้วผลสุดท้ายได้บทนิยามเพียงบรรทัดเดียว หรือไม่ถึงบรรทัดก็มี เป็นเช่นนี้บ่อย ๆ บางท่านก็สงสัยว่า คำนั้นทำไมจึงไม่เก็บ เพราะใช้กันแพร่หลายแล้ว คำนี้ทำไมเขียนอย่างนี้เป็นต้น ดังปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์และในวงสนทนาของท่านผู้รู้แล้ว ข้าพเจ้าขอยืนยันว่า ข้อสงสัยเหล่านั้น คณะกรรมการชำระปทานุกรมได้สงสัยมาแล้ว และได้สืบค้นหลักฐานและแบบวิธีแห่งการทำพจนานุกรมโดยตลอดมาพร้อมทั้งพิจารณาโดยถ่องแท้ปราศจากอคติทั้งสี่ประการ การเก็บหรือไม่เก็บคำลงพจนานุกรมย่อมมีหลัก ไม่ใช่จะเลือกว่าศัพท์นี้คนนั้นบัญญัติขึ้นต้องเก็บลงในพจนานุกรม ศัพท์นี้คนนี้บัญญัติไม่ชอบหน้าไม่เก็บลงพจนานุกรม คำนี้คณะกรรมการไม่ชอบไม่เก็บ หลักการเก็บคำลงพจนานุกรมนั้นมีอยู่ว่า จะต้องเลือกเฟ้นเก็บแต่คำที่ขึ้นสู่ภาษามั่นคงแล้ว ถ้าเป็นคำเกิดใหม่ และกำลังใช้กันแพร่หลายเป็นสมัยนิยม ก็ยังไม่เก็บขึ้นทะเบียนของคำทันที ต้องรอดูก่อน จนกว่าจะเห็นได้แน่นอนแล้วว่า คำนั้นจะไม่ตายเร็ว จึงจะเก็บเข้าไว้ในพจนานุกรม คำ "สถาบัน" ซึ่งมีผู้สงสัยกันมากว่าทำไมไม่เก็บเข้าพจนานุกรม ก็เพราะถือหลักดังกล่าว ศัพท์บัญญัติที่ครั้งหนึ่งเคยใช้กันอย่างหนึ่ง ต่อมาได้คำใหม่มาแทน คำเก่าตายไป ปรากฏเป็นพยานมีอยู่ เช่นคำ Culture เคยมีผู้ใช้กันอยู่คราวหนึ่งว่า "ภูมิธรรม" และ "พฤฒิธรรม" ต่อมามีผู้บัญญัติใหม่ว่า วัฒนธรรม เราก็ลืม ภูมิธรรม หรือ พฤฒิธรรม และภูมิธรรม พฤฒิธรรม ก็ตายไป หันมาใช้ วัฒนธรรม ซึ่งเกิดใหม่และยังใช้อยู่จนบัดนี้ อย่างไรก็ดี ศัพท์บัญญัติ ที่คณะกรรมการบัญญัติศัพท์ภาษาไทยได้บัญญัติไว้และประกาศออกใช้แล้ว ราชบัณฑิตยสถานจะได้ทำบทนิยามขึ้นแล้วตีพิมพ์เป็นอีกเล่มหนึ่งต่างหากในโอกาส ต่อไป"

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งแห่ง "คำปรารภ" เท่านั้น ก็คงพอทำให้เราทราบแนวทางของการเก็บคำและการนิยามคำได้บ้างแล้ว คำบางคำที่พจนานุกรมฉบับ พ.ศ. ๒๔๙๓ มิได้เก็บไว้ เช่นคำว่า "สถาบัน" ในปัจจุบันก็ได้เก็บไว้ในพจนานุกรม ฉบับ พ.ศ. ๒๕๒๕ แล้ว ข้าพเจ้าจะได้นำ "คำปรารภ" ของอาจารย์ เจริญ อินทรเกษตร ตอนต่อไปมาเสนอท่านผู้ฟังในคราวหน้า.

.
จำนงค์ ทองประเสริฐ
๓๐ เมษายน๒๕๓๔
Back