Back
ความหมายของชื่อเมืองหลวงในชมพูทวีป


ได้มีนักเรียนโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ถามข้าพเจ้าถึงความหมายของเมืองหลวงต่าง ๆ ที่มีอยู่ในชมพูทวีปในสมัยพุทธกาลว่ามีความหมาย อย่างไร ข้าพเจ้าเลยถือโอกาสนี้ เผยแพร่ให้ท่านผู้ฟังที่มีความสนใจในเรื่องนี้ได้ทราบโดยทั่วกัน ตามที่ได้มีอธิบายไว้ ในหนังสือ "จักกวาฬทีปนี" ที่หอสมุดแห่งชาติ ได้ตรวจชำระเรียบเรียง และกรมศิลปากร ได้จัดพิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๓ และหนังสืออื่น ๆ อีกดังนี้

๑. นครพาราณสี เป็นเมืองหลวงของอาณาจักรกาสี ฎีกาปุรวรรคกล่าวว่า มาจากคำว่า "วานรสีสะ" แปลว่า "มีศีรษะวานร" หรือ "ก้อนหินมีสัณฐานดั่งศีรษะวานร" ส่วนอรรถกถาปฏิสัมภิทามรรค กล่าวว่า "เพราะเป็นนครที่อยู่ไม่ไกลจากแม่น้ำพาราณสา จึงชื่อว่าพาราณสี" หนังสือ "๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า" ที่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ได้ทรงเรียบเรียงตั้งแต่สมัยยังดำรงสมณศักดิ์ที่ พระสาสนโสภณ กล่าวว่า "คำว่า พาราณสี บางคนว่ามาจากคำว่า พรณา กับ อสี ต่อกัน คือ ที่ตรงนั้นมีแม่น้ำพรณาอยู่ทางเหนือ แม่น้ำอสีอยู่ทางใต้ แต่อีกแบบหนึ่งก็กล่าวว่า แม่น้ำคงคาและแม่น้ำชื่อ วรุณ มาบรรจบกัน และมีความเชื่อถือของคนว่า มีแม่น้ำอีกสายหนึ่งลอดมาข้างใต้ มาบรรจบกันที่ตรงนั้น แต่ที่เห็นกันอยู่ก็เป็นแม่น้ำ ๒ สายมาบรรจบกันว่ารวมชื่อของแม่น้ำนี้เข้าก็เป็น พาราณสี"

๒. นครสาวัตถี เป็นเมืองหลวงของมหาอาณาจักรโกศล อรรถกถาสรรพาสวสูตรว่าที่เรียกว่า "สาวัตถี" เพราะเป็นที่อยู่ของฤๅษีชื่อ สวัตถะ ส่วนพระอรรถกถาจารย์ทั้งหลายกล่าวว่า โดยเหตุที่เครื่องอุปโภคบริโภคทุกอย่าง มีในนครนี้ ดังนั้นนครนี้จึงชื่อ สาวัตถี มาจากคำบาลีว่า "สพฺพมตฺถิ" แปลว่า "มีทุกอย่าง"

๓. นครเวสาลี หรือ ไพศาลี เป็นเมืองหลวงของมหาอาณาจักรวัชชี อรรถกถาตติยปาราชิก กล่าวว่า ชื่อว่า "เวสาลี" หรือ "ไพศาลี" นั้น เพราะเป็นเมืองกว้างใหญ่ไพศาล มีกำแพงล้อมรอบ ถึง ๓ ชั้น

๔. นครราชคฤห์ เป็นเมืองหลวงของมหาอาณาจักรมคธ ฎีกา ปุรวรรคว่าที่ชื่อว่า "ราชคฤห์" เพราะเป็นสถานที่พระเจ้าจักรพรรดิและพระราชาทั้งหลายประทับอยู่ เช่น พระเจ้ามันธาตุ และพระเจ้าโควินท์ เป็นต้น

๕. นครโกสัมพี เป็นเมืองหลวงของอาณาจักรวังสะ อรรถกถาโกสัมพสูตรกล่าวว่า ที่ชื่อว่า "โกสัมพี" นั้นมีอยู่ ๒ นัย นัยหนึ่ง เพราะเมืองนั้นมีต้นโกสัมพะขึ้นอยู่หนาแน่น อีกนัยหนึ่ง เพราะเมืองนั้นสร้างไว้ไม่ไกลจากอาศรมบทของฤๅษี ชื่อ กุสัมพะ

๖. นครมิถิลา เป็นเมืองหลวงของอาณาจักรวิเทหะ ฎีกาปุรวรรค กล่าวว่าที่ว่า "มิถิลา" แปลว่า "เพราะถูกเบียดเบียน" มาจาก มถิ ธาตุ ในความว่า เบียดเบียน

๗. นครอุชเชนี เป็นเมืองหลวงอาณาจักรอวันตี ฎีกาปุรวรรคว่า ที่ชื่อว่า "อุชเชนี" เพราะเป็นที่ชนะข้าศึก มาจาก ชิ ธาตุ ในความหมายว่า "ชนะ" มี อุ ซึ่งเป็นคำอุปสรรค (prefix) นำหน้า และลง ยุ ปัจจัย

๘. นครกบิลพัสดุ์ เป็นเมืองหลวงของอาณาจักรสักกะ ปิตุภูมิของ พระพุทธเจ้าของเรา ในฎีกาปุรวรรค กล่าวว่า ที่ชื่อว่า "กบิลพัสดุ์" เพราะในกาลเบื้องต้นเป็นสถานที่อยู่ของฤๅษีชื่อ กบิล ส่วนอรรถกถาจูฬทุกขขันธสูตร กล่าวว่า ที่ชื่อว่า "กบิลพัสดุ์" เพราะได้สร้างในสถานที่อันเป็นที่อยู่ของฤๅษี ชื่อ กบิล

๙. นครปาตลีบุตร หรือ ปาฎลีบุตร เป็นเมืองหลวงของมหาอาณาจักรมคธหลังพุทธกาล อรรถกถามหาปรินิพพานสูตร กล่าวว่า ที่ชื่อว่า "ปาตลีบุตร" เพราะนครนั้นสร้างที่บ้านปาตลิคาม คือแปลงบ้านปาติคาม ให้เป็นเมืองนั้นเอง ในฎีกาปุรวรรค กล่าวว่า "ต้นไม้หนุ่มต้นหนึ่งซึ่งมีชื่อว่า ปาตลิ มีอยู่ในที่สร้างนครใด นครนั้น ชื่อ ปาตลีบุตร อีกอย่างหนึ่ง นายบ้านคนหนึ่งมีชื่อว่าปาตลิ บุตรของนายบ้านนั้นอยู่ในเมืองนี้ในกาลก่อน เพราะเหตุนั้น เมืองนี้จึงชื่อว่าปาตลิบุตร"

๑๐. นครกุสินารา เป็นเมืองที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปดับขันธปรินิพพาน ฎีกาปุรวรรค กล่าวว่า ที่ชื่อว่า "กุสินารา" เพราะเวลาสร้าง พราหมณ์เมื่อตรวจนิมิต ได้เห็น นระ (คน) ถือ กุสะ (หญ้าคา) แล้วจึงสร้าง นครนั้นจึง ชื่อ กุสินารา

ชื่อสถานที่สำคัญทางศาสนาในชมพูทวีปแต่ละแห่งล้วนมีความหมายทั้งนั้น ถ้าเราได้ศึกษาในหลาย ๆ ด้านก็นับว่าสนุกและเพลิดเพลินดีเหมือนกัน ความจริงแม้แต่ชื่อบ้านชื่อเมืองทั้งในประเทศไทยเราและในประเทศต่าง ๆ ก็ล้วนน่าสนใจเช่นกัน เพราะจะทำให้เราทราบความหมาย ความเป็นมาของสถานที่หรือภูมิประเทศเหล่านั้นในหลายแง่หลายมุมอีกด้วย.

จำนงค์ ทองประเสริฐ
๒๕ กุมภาพันธ์๒๕๓๕
Back