Back

คำนำหน้าชื่อมอญ

คนมอญที่ได้เข้ามามีบทบาทอยู่ในประวัติศาสตร์ไทยคนหนึ่งในสมัยสุโขทัย ก็คือ มะกะโท ซึ่งต่อมาได้เป็นกษัตริย์ทรงพระนามว่า "พระเจ้าฟ้ารั่ว" นอกจากนั้น คำนี้เราได้พบอยู่เสมอในหนังสือ "ราชาธิราช" ก็คือคำที่นำหน้าบุคคลสำคัญ ๆ ในราชสำนักมอญได้แก่คำว่า "สมิง" ซึ่งคำนี้ต่อมาก็เป็นยศของข้าราชการเชื้อสายมอญในแผ่นดินไทย เรื่องเกี่ยวกับมอญจึงนับว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจมากเรื่องหนึ่ง เพราะในเมืองไทยเรามีมอญอยู่มากมายซึ่งในปัจจุบันได้กลายเป็นไทยไปเกือบหมดแล้ว

ในงานพระราชทานเพลิงศพศาสตราจารย์ ดร. บรรจบ พันธุเมธา เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๕๓๕ ราชบัณฑิตยสถานได้จัดพิมพ์หนังสือ "อันเนื่องด้วยชื่อ" ของ ดร. บรรจบ พันธุเมธา เป็นที่ระลึกในงานด้วย ในหนังสือนี้มีเรื่อง "คำนำหน้าชื่อมอญ" รวมอยู่ด้วย ข้าพเจ้าขอนำมาเสนอท่านผู้ฟังดังนี้

"คนเชื้อชาติมอญที่มีชื่อหลายชื่อ หรือชื่อเดียว เรียกได้หลายอย่าง ชื่อเป็นที่คุ้นเคยของคนไทยเห็นจะได้แก่ มะกะโท ดังที่มีเรื่องราวปรากฏอยู่ในหนังสือเรื่องราชาธิราช

ชื่อดั้งเดิมของมะกะโท เรียกตามภาษามอญว่า เมียะกะตู้ เขียน มะกะทู ชื่อนี้พ่อแม่ตั้งให้ตามเหตุที่เกิด ตั้งแต่มะกะโทยังเล็ก ๆ กล่าวคือพ่อแม่ไปทำนาก็นำเอามะกะโทไปนาด้วย ให้นอนอยู่บนคันนา และเพื่อกันแดด ก็ได้เอากะตู้คลุมเอาไว้ (กะตู้นี้เป็นเครื่องบังแดดในทำนองเดียวกับงอบ ใช้คลุมทั้งหัวและตัว สานด้วยไม้ไผ่เป็นตาห่าง ๆ อย่างตาชะลอม ทำเป็นรูปคล้ายบุ้งกี๋ แต่แคบและยาวกว่า แต่ก่อนใช้ใบไม้กรุเพื่อกันฝน แต่ปัจจุบันใช้กระดาษอาบน้ำมันแทน) ขณะที่มะกะโทนอนอยู่นั้น ก็ได้มีอีกาตัวหนึ่งมาจับอยู่ใกล้ ๆ และปรากฏว่ากะตู้ได้กระดกขึ้นไล่อีกาไป พ่อแม่เห็นแปลกจึงตั้งชื่อลูกตามนั้น ทั้งนี้ตามที่กล่าวไว้ในราชาธิราชฉบับภาษามอญ

ครั้นได้มารับราชการอยู่กับพระร่วง กรุงสุโขทัย ได้รับใช้ใกล้ชิดด้วยความขยันขันแข็งจนเป็นที่โปรดปราน ถึงกับได้รับแต่งตั้งให้เป็นขุนวัง มีหน้าที่ดูแลกิจการในวัง มะกะโทจึงได้ชื่อ (อาจเป็นชื่อตำแหน่ง) ว่า จาวดินดำเร (มอญฟังเสียงไทยเป็นเช่นนี้ ไม่ทราบว่าเสียงไทยควรจะเป็นเช่นไร) จึงนับเป็นชื่อที่ ๒ ของ มะกะโท ซึ่งไม่มีกล่าวไว้ในราชาธิราชฉบับภาษาไทย

ต่อมาเมื่อมะกะโท ได้ลักพาธิดาพระร่วงกลับมายังบ้านเมือง และได้ยกน้องสาวให้แก่อลิมามางเจ้าเมืองเมาะตะมะ ได้ประหารอลิมามางเจ้าเมืองเมาะตะมะเสียในภายหลัง แล้วยึดเมืองเมาะตะมะได้ จึงตั้งตัวเป็นใหญ่ใคร ๆ พากันเรียกว่า สมิงมะกะทู (ออกเสียง เสฺมิญ หรือ โสฺมญ เมียะกะตู้) ครั้นไปขอ พระราชทานชื่อจากพระร่วง พระร่วงก็ได้พระราชทานชื่อมาว่า พญาวาโร (ตามที่มอญออกเสียงคำ ฟ้ารั่ว ของไทย) กล่าวว่าที่ได้ชื่อว่า ฟ้ารั่ว เพราะได้เป็นเจ้าเป็นใหญ่ง่าย ๆ ดุจบุญมีมาเอง เหมือนรั่วลงมาจากฟ้า แต่มอญทั้งหลายแทนที่จะเรียกว่า พญาวาโร กลับเรียกเสียงใหม่ว่า สมิงวาเรโร

ดูจากชื่อของมะกะโทแล้ว จะเห็นมีคำนำหน้าชื่อต่าง ๆ กัน คือ มะ ก็มี จาว ก็มี สมิง ก็มี พญา ก็มี แสดงว่าอยู่ในฐานะต่างกัน คำ มะ (ออกเสียงเมียะ) แปลว่า พ่อ เป็นคำนำหน้าชื่อผู้ชายมอญทั่ว ๆ ไป ที่ไม่ได้เป็นเจ้าเป็นขุนนาง ส่วนคำว่า จาว ถ้าถือเป็นคำไทยก็น่าจะตรงกับคำ เจ้า หากเป็นคำมอญ แปลว่า หลานปู่ หลานตา

คำว่า สมิง มักใช้นำหน้าชื่อผู้ที่ครองเมือง จะตั้งตัวเองเป็นเจ้าเป็นใหญ่ในเมืองนั้นก็ได้ อย่างสมิงมะกะทู หรืออาจจะได้รับแต่งตั้งจากพระเจ้าแผ่นดินให้ไปกินเมืองก็ได้ อย่างสมิงนครอินท์ ที่เดิมชื่อ มะสามลุม (ไทยเรียก มะสะลุม) เมื่อได้รับพระราชทานบำเหน็จรางวัลให้ไปกินเมืองตักคลา ได้ชื่อว่า สมิงละกนอิน ที่จริงน่าจะเรียก สมิงตักคลา ตามชื่อเมืองที่ไปครองอย่างสมิงมังละคิด ที่เป็นสามีใหม่ของนางอุ่นเรือน น้องสาวมะกะโท ฉบับภาษามอญเรียก สมิงมองมะละ มองมะละ เป็นชื่อเมืองที่สงสัยจะเป็นชื่อเดียวกับที่เราเรียก เมาะลำเลิง คงจะเป็นเจ้าเมืองนั้น ส่วนคำ คิด คงจะไปหยิบคำในประโยคติดมาด้วย แต่ที่ยังไม่ได้ครองเมือง ใช้ สมิง นำหน้าก็มี ดังที่เรียก อำมาตย์ทินว่า สมิงอมาจทิน [ของเรามีคำ มณิกรอด (มณิกรอด คือ มณีรัตน์) ต่อท้ายด้วยเป็นต้น]

อันคำ พญา ดูน่าจะเป็นคำไทย ดังที่ว่าชื่อพระราชทานของมะกะโทเป็น พญาวาโร แต่ในภาษามอญก็มีใช้ กล่าวว่าเป็นคำนำหน้าเจ้านายทั้งชายและหญิง และขุนนางชั้นสูง ดังมีชื่อ พญาอู (พระราชบิดาพญาน้อย) พญาน้อย (มอญเรียกว่า เปียะเญียนัว) พญาอายลาว โอรสพระเจ้ารามประเดิด (อนุชาพระเจ้าฟ้ารั่ว) พญาละกนอิน ก็มีเรียก และยังมี พญาทะละ ผู้ที่บันทึกเรื่องราชาธิราชถวายพระเจ้าแผ่นดินพม่า คำ พญา ที่ใช้กับผู้หญิงต้องมีคำอื่นประกอบ เช่น เมนางพญา หรือตะละนางพญาท้าว ดังที่เรียก พระนางแสจาโป (พม่าเรียกว่า ชินชูบู) กษัตริย์ผู้หญิงของมอญ

คำ พญา บางทียังไม่ถือว่าเป็นยศสูง เพราะยังเติม สฺมิง เข้าไปข้างหน้าอีกก็มี เช่นเรียก สมิงพญาละกนอิน คำเรียกชื่อเทพทั้งหลายก็มักใช้ สฺมิง นำหน้า สฺมิง ในที่นี้จึงเทียบเท่ากับคำ พระ ดังเรียกว่า สฺมิงตฺงัว (ออกเสียงเสฺมิญงัว คือ พระอาทิตย์) สฺมิงอิน (เสฺมิญอิน คือ พระอินทร์ สฺมิงเยิม (เสฺมิญเยิม คือ พระยายม) สฺมิงเพริม (เสฺมิญเปฺริม คือ พระพรหม)".


จำนงค์ ทองประเสริฐ
๒๙ มิถุนายน ๒๕๓๖
Back