Back
คำประสมกับคำซ้อน


คำที่มีปัญหาในการเรียนการสอนคู่หนึ่งก็คือ "คำประสม" กับ "คำซ้อน" ว่าเราจะสังเกตได้อย่างไรว่าคำใดเป็น "คำประสม" และคำใดเป็น "คำซ้อน"

"คำประสม" คือ คำที่เกิดจากการเอาคำมูลหรือคำหลักตั้งแต่ ๒ คำขึ้นไป มาประสมกันจะเป็นคำภาษาเดียวกัน คือเป็นคำไทยกับคำไทยก็ได้ หรือจะเป็นคำไทยกับคำภาษาอื่น เช่น ไทยกับเขมร ไทยกับบาลี ไทยกับสันสกฤตก็ได้ หรือจะเป็นคำที่เอามาจากภาษาต่างประเทศด้วยกัน เช่น บาลีกับบาลี สันสกฤตกับสันสกฤต บาลีกับเขมร หรือบาลีกับสันสกฤตก็ได้ ดังจะได้ยกตัวอย่างประกอบดังนี้

ไทย + ไทย เช่น พ่อ + ตา = พ่อตา โรง + หนัง = โรงหนัง
ไทย + บาลี เช่น ไทย + ยาม = ไทยยาม ผ้า + กฐิน = ผ้ากฐิน
ไทย + สันสกฤต เช่น ทุน + ทรัพย์ =ทุนทรัพย์ ยก + ครู = ยกครู
ไทย + เขมร เช่น ยก + ทรง = ยกทรง วัน + เพ็ญ = วันเพ็ญ
บาลี + ไทย เช่น ราช + วัง = ราชวัง ผล + ไม้ = ผลไม้
สันสกฤต + ไทย เช่น ทรัพย์ + สิน = ทรัพย์สิน ศักดิ + นา = ศักดินา
บาลี + บาลี เช่น ราช + การ = ราชการ ปฐม + วัย = ปฐมวัย
บาลี + สันสกฤต เช่น ปฐม + บุรุษ = ปฐมบุรุษ ภูมิ + ศาสตร์ = ภูมิศาสตร์
สันสกฤต + สันสกฤต เช่น เกษตร + กรรม = เกษตรกรรม เศรษฐ + ศาสตร์ = เศรษฐศาสตร์
สันสกฤต + บาลี เช่น ฉัตร + ชัย = ฉัตรชัย ทิพย + ญาณ = ทิพยญาณ
เขมร + บาลี เช่น ผจญ + ภัย = ผจญภัย นัก + บุญ = นักบุญ
เขมร + สันสกฤต เช่น สนอง + โอษฐ์ = สนองโอษฐ์ นัก + ศึกษา = นักศึกษา

เรื่อง "คำประสม" นี้มีรายละเอียดที่ควรจะต้องศึกษาอีกมาก ข้าพเจ้าจะได้นำรายละเอียดบางอย่างมาเสนอท่านผู้ฟังในโอกาสต่อไป

"คำซ้อน" หรือ "คำซ้อนคำ" หมายถึง คำที่มีความหมายอย่างเดียวกันหรือทำนองเดียวกันตั้งแต่ ๒ คำขึ้นไปเรียงซ้อนกัน โดยมีความหมายเกือบมิได้แตกต่างไปจากคำเดิมแต่ละคำเลย คำซ้อนแบบนี้ บางทีก็เป็นการเก็บของคำโบราณที่เกือบไม่มีใครทราบแล้ว เอามารวมเข้าคู่กับคำที่กำลังใช้อยู่ หรือบางทีก็เกิดจากการเอาคำภาษาต่างประเทศ เช่น คำภาษาอังกฤษมาเข้าคู่กับคำไทยที่มีความหมายอย่างเดียวกันหรือคล้ายคลึงกัน เป็นการแปลคำกันไปในตัว บางทีอาจนำเอาคำที่มีความหมายอย่างเดียวกันถึง ๓ - ๔ คำมาซ้อนกันก็มี นับว่าเป็นความเฉลียวฉลาดของบรรพบุรุษของเราที่หาวิธีรักษาคำไทยเก่า ๆ ไว้มิให้สูญหายไป และเป็นการเพิ่มพูนคำศัพท์ในภาษาไทยให้มากยิ่งขึ้น โดยไม่ให้ ทิ้งคำเดิม เท่ากับเป็นการอนุรักษ์คำเก่า ๆ ไว้ และพร้อมกันนั้นก็รับเอาคำ ใหม่ ๆ เอามาผสมด้วย โดยพยายามเอาคำต่าง ๆ มาซ้อนกันอย่างแนบเนียนยิ่ง

ศาสตราจารย์ พระยาอนุมานราชธน ได้อธิบายเกี่ยวกับ "คำซ้อน" ไว้ในหนังสือ "นิรุกติศาสตร์" ดังนี้

"คำซ้อนกันเป็น ๒ คู่ก็มี เช่น อิ่มหมีพีมัน เกี่ยวดองหนองยุ่ง เก็บหอมรอมริบ ติดสอยห้อยตาม บนบานสานกล่าว พูดจาว่าขาน คำเหล่านี้ล้วนมีความหมายอย่างเดียวกัน หรือใกล้เคียงกันในคู่ของมันทั้งนั้น ถ้าคำหนึ่งเป็นภาษาต่างประเทศมีสองพยางค์ เมื่อซ้อนกับคำไทย ก็ต้องซ้อนสองคำ เพื่อถ่วงเสียงให้เท่ากัน และเพื่อความไพเราะสละสลวยของเสียง คำตอนกลางของคำมักมีเสียงสัมผัสกัน เช่น เรือแพนาวา กระโดดโลดเต้น มุ่งมาดปรารถนา ห้วยหนองคลองบึง เหาะเหินเดินฟ้า

"การเรียงคำที่ซ้อนกัน ตามปรกติเอาพยางค์หรือคำที่มีเสียงเด่นกว่าอีกคำหนึ่งไว้หลังเพื่อประโยชน์แห่งความไพเราะสละสลวยของเสียง เช่น ไร่นา เรือกสวน บ้านเรือน ใหญ่หลวง ใช้สอย ชั่วช้า แข่งขัน เหล่านี้ที่จะกลับกันเป็น นาไร่ สวนเรือก เรือนบ้าน ฯลฯ ไม่มี ยกเว้นแต่บางคำซึ่งต้องการสัมผัสกับคำอื่น เช่น ทรัพย์สิน เป็นสินทรัพย์นับล้าน หวั่นไหว เป็นไหวหวั่นพรั่นใจเป็นต้น

"คำที่นำมาซ้อนกันนั้น ในชั้นเดิมก็เพื่อประโยชน์ขยายความของอีกคำหนึ่งน้ำหนักของความหมายจึงไปตกอยู่แก่คำที่ไม่ใช่เป็นคำไขหรือขยายความหมาย ส่วนคำไขความก็ค่อยหายความหมายในตัวของมัน เพราะโอนเอาไปให้อีกคำหนึ่ง เช่น พูดว่า ฆ่าฟัน ก็ไม่ได้นึกถึงความหมายของคำว่าฟัน ว่าฆ่าฟันนั้นจะต้องฆ่าด้วยใช้ฟันด้วยมีด ฟันในที่นี้เป็นเพียงไขความคำหน้าเพื่อให้รู้ว่าเป็นการฆ่าให้ตายเท่านั้น ไม่ให้สับสนกับคำว่า ข้า ค่า ถ้ายิ่งเป็นภาษาถิ่นด้วยแล้ว ลางถิ่นออกเสียง ข ค เสียงหนัก คือเสียงอักษรสูงและอักษรต่ำเป็นเสียง ก เสียงเบา คือเสียงอักษรกลาง และระดับเสียงของคำผิดเพี้ยนกัน เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่า วิธีซ้อนคำจึงมีประโยชน์และความจำเป็นในภาษาไทยเป็นทำนองเดียวกับภาษาจีน

"โดยเหตุที่คำไขความในคำซ้อนความหมายในคำจะอ่อนลง ๆ ในที่สุด บางคำก็สูญหายความหมายไป ไม่มีใช้เป็นคำพูดโดยปรกติในภาษาไทยของถิ่นอื่น หรือมีอยู่ในหนังสือเก่า เมื่อไม่ทราบ ก็อาจเข้าใจผิดว่าคำชนิดนี้เป็นสร้อยคำ แท้จริงคำซ้อนคู่เหล่านี้มีอยู่มากคำที่ยังมีใช้เป็นคำพูดโดยปรกติอยู่ในภาษาถิ่นอื่น เช่น ใช้สอย ชั่วช้า คอยท่า ไห้ช้าง แดดนาย เป็นต้น"


จำนงค์ ทองประเสริฐ
๒๔ มิถุนายน๒๕๓๔
Back