Back
คำสาบาน - สัจจาธิษฐาน - คำปฏิญาณ


นิสัยประการหนึ่งของคนไทยก็คือ การชอบสบถสาบาน คำในลักษณะเดียวกับคำสบถสาบาน แต่ใช้ในลักษณะที่สูงกว่าก็มี "คำปฏิญาณ" และ "การตั้งสัตยาธิษฐาน"

คำว่า "สบถ" พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ได้ให้บทนิยามไว้ดังนี้ "ก. อ้างสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้ลงโทษตนเอง เมื่อไม่เป็นอย่างพูด." ตรงกับคำบาลีว่า "สปถ" (สะ - ปะ - ถะ) และสันสกฤตว่า "ศปถ" (สะ - ปะ - ถะ)

คำว่า "สาบาน" พจนานุกรม ให้บทนิยามไว้ดังนี้ "ก. สบถโดยให้คำ ปฏิญาณ." ตรงกับคำบาลีว่า "สปน" (สะ - ปะ - นะ) และ สันสกฤตว่า "ศปน" (สะ - ปะ - นะ) และมีลูกคำอยู่คำหนึ่งคือ "สาบานธง" ซึ่งพจนานุกรมได้ให้บทนิยามไว้ว่า "ก. กล่าวคำปฏิญาณตนต่อหน้าธงชัยเฉลิมพล (ใช้แก่ทหาร)."

คำว่า "ปฏิญาณ" พจนานุกรมได้ให้บทนิยามไว้ดังนี้ "ก. ให้คำมั่นสัญญา โดยมากมักเป็นไปตามแบบพิธี."

คำว่า "ปฎิญญา" พจนานุกรมได้ให้บทนิยามไว้ดังนี้ "น. การให้คำมั่นสัญญา หรือการแสดงยืนยันโดยถือเอาสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือความสุจริตใจเป็นที่ตั้ง."

คำว่า "สัตยาธิษฐาน" พจนานุกรมได้ให้บทนิยามไว้ดังนี้ "น. การตั้งความจริงใจเป็นหลักอ้าง." เกิดจากการนำคำสันสกฤตว่า "สัตย" กับ "อธิษฐาน" มาเข้าสนธิกัน ถ้านำคำบาลีว่า "สัจจ" มาเข้าสนธิกับคำสันสกฤตว่า "อธิษฐาน" ก็จะเป็น "สัจจาธิษฐาน"

ข้าพเจ้าได้อ่านหนังสือเล่มเล็ก ๆ เล่มหนึ่ง ชื่อ "ประมวลสัจจวาจา" ที่นายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี พิมพ์แจกในงานทอดกฐินพระราชทาน ณ วัดประยุรวงศาวาส วันที่ ๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๗ ในหนังสือเล่มนี้ หลวงวิจิตรวาทการ อดีตเลขาธิการราชบัณฑิตยสถาน ได้เขียนอธิบายเรื่อง "ประมวลสัจจวาจา" ไว้ดังนี้

"เจ้าคุณพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี มีบัญชาให้ข้าพเจ้ารวบรวมคำปฏิญาณต่าง ๆ พิมพ์ขึ้นเป็นหนังสือประมวลคำปฏิญาณเล่มหนึ่ง เพื่อแจกในงานกฐินครั้งนี้ ข้าพเจ้าได้เก็บผะสมตามที่จะหาได้ในชั่วเวลาอันเล็กน้อยมารวมไว้ในที่นี้ และให้ชื่อหนังสือนี้ว่า "ประมวลสัจจวาจา"

ที่ต้องใช้ชื่อเช่นนั้น เพราะคำที่นำมาประมวลไว้มีอยู่ไม่แต่เฉพาะ คำปฏิญาณ ยังมีสัจจาธิษฐาน และคำสาบานอยู่ด้วย คำเหล่านี้มีลักษณะต่างกัน คือ

"คำสาบาน" เป็นคำแช่ง เพราะ "สาบาน" นั้น แปลตามศัพท์ว่า "แช่ง" ฉะนั้น คำสาบานทุกเรื่องจะต้องมีการแช่งตัวเอง คือเริ่มต้นด้วยการกล่าวรับรองว่าจะปฏิบัติอย่างนั้นอย่างนี้ ถ้าไม่ปฏิบัติตามที่พูดไว้ ก็ขอให้ผลร้ายภัยอันตรายต่าง ๆ บังเกิดขึ้นแก่ตนเอง คำสาบานต้องมีลักษณะเป็นการแช่งตัวเอง ถ้าไม่มีการแช่งจะเรียกว่า สาบาน ไม่ได้

"สัจจาธิษฐาน" ตรงกันข้ามกับ สาบาน คือ แทนที่จะมีการแช่ง กลับมีการให้พรหรือขอพรไว้ข้างท้าย ทั้งนี้โดยดำเนินตามหลักในทางพระพุทธศาสนา กล่าวคือในทางพระพุทธศาสนาไม่มีการแช่ง มีแต่ว่าถ้าทำดีก็ให้มีความเจริญ ถ้าทำตามถ้อยคำที่ให้ไว้ก็ให้มีความสุขสวัสดี (เอเตน สจฺจวชฺเชน โสตฺถิ เต โหตุ สพฺพทา ด้วยอำนาจสัจจวาจานั้น ขอความสวัสดีจงมีแก่ท่าน* ทุกเมื่อ) ถ้าหากทำผิด จะได้รับผลอะไรก็ตามที แต่ในทางพระพุทธศาสนาไม่แช่งไว้ คำสัจจาธิษฐานก็เริ่มต้นอย่างเดียวกับคำสาบาน คือกล่าวรับรองว่าจะปฏิบัติอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ลงท้ายแทนที่จะแช่งตัวเองให้ได้รับภัยอันตรายต่าง ๆ ในเมื่อกระทำผิดถ้อยคำ กลับกล่าวไปในทางที่ดี คือว่า เมื่อได้ปฏิบัติตามถ้อยคำที่พูดนั้นแล้ว ก็ขอให้มีความสวัสดี ส่วนการที่ไม่ปฏิบัติหรือทำผิดจากถ้อยคำที่ให้ไว้นั้นไม่พูดถึง เพราะการแช่งไม่ใช่คติของพระพุทธศาสนา

"คำปฏิญาณ" ผิดกับ คำสาบาน และ สัจจาธิษฐาน โดยเหตุว่าคำปฏิญาณเป็นแต่กล่าวรับรองเฉย ๆ ว่าจะทำอย่างนั้นย่างนี้ แต่ไม่มีคำสาปแช่งหรือขอพรขอรับผลดีอย่างไร เช่นคำปฏิญาณของทหารที่พิมพ์ไว้ในที่นี้เป็นต้น

"ที่ใช้กันอยู่โดยมากในเมืองเราแต่ก่อนมา มักมีคำสาบานกับสัจจาธิษฐานผสมกัน คือมีทั้งแช่งและขอพรอยู่ในเรื่องเดียวกัน แช่งตัวเองไว้ในเมื่อทำผิดวาจา และขอความสุขความเจริญแก่ตนในเมื่อได้ปฏิบัติตามถ้อยคำที่ให้ไว้ อย่างไรก็ดี มาถึงสมัยนี้ คำสาบานและสัจจาธิษฐานมีที่ใช้น้อย โดยมากเป็นแต่คำปฏิญาณ แม้คำที่เรียกว่า "สาบานธง" เดี๋ยวนี้ก็มิได้ใช้ คงใช้แต่คำปฏิญาณ ถ้าหากจะเลิกใช้คำว่า "สาบานธง" กันจริง ๆ ข้าพเจ้าก็เห็นพ้องด้วย เพราะคำว่า "สาบานธง" ก็เป็นคำใช้ที่ไม่เหมาะอยู่แล้ว เพราะคำว่า "สาบานธง" นั้นจะแปลอย่างอื่นไม่ได้ นอกจากจะต้องแปลว่า "แช่งธง" คำว่า "สาบานตัว" ก็แปลว่า แช่งตัวเอง ส่วนการกระทำสัตย์สาบานต่อหน้าสิ่งใดสิ่งหนึ่งนั้นจะเรียกว่า สาบานสิ่งนั้นไม่ได้ ต้องพูดให้เต็มความว่าสาบานตัวต่อหน้าสิ่งนั้น ๆ เช่นการสาบานตัวต่อหน้าพระพุทธปฏิมากร ไทยเราก็เคยพูดเต็มประโยคว่า "สาบานตัวต่อหน้าพระ" เราไม่เคยพูดว่า "สาบานพระ" เลย

สัจจวาจาทั้งหลายที่ได้ประมวลมาในหนังสือเล่มนี้ ได้รวบรวมตามที่นึกได้ในชั่วเวลาเล็กน้อย อาจมีสัจจวาจาอื่น ๆ ที่ยังหลงอยู่โดยข้าพเจ้าไม่รู้หรือไม่สามารถนึกได้ ท่านผู้ใดทราบและนึกได้อีกนอกจากที่พิมพ์ไว้แล้วนี้ ขอโปรดแจ้งแก่ข้าพเจ้า จะขอบคุณอย่างยิ่ง

หลวงวิจิตรวาทการ
หอสมุดแห่งชาติ
๒๔ ตุลาคม ๒๔๗๗"


จำนงค์ ทองประเสริฐ
๑๔สิงหาคม๒๕๓๔
Back