Back

คำหับ

ข้าพเจ้าได้อ่านหนังสือเรื่อง "พระราชสาส์นไปเมืองจีน ครั้งรัชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อปีมะโรง ฉศก จุลศักราช ๑๑๔๖ พ.ศ. ๒๓๒๗" ซึ่งพิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพหม่อมราชวงศ์หญิงเจียน ฉัตรกุล ณ เมรุวัดทองนพคุณ จังหวัดธนบุรี ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๐๕ แล้วพบคำที่น่าสนใจคำหนึ่งคือ "คำหับ" ซึ่งเป็นคำประกอบ "พระราชสาส์น" ว่า "พระราชสาส์นคำหับ" ดังข้อความที่ข้าพเจ้าขอคัดมาเสนอท่านผู้ฟังเฉพาะตอนต้นและตอนท้ายแห่ง "พระราชสาส์นคำหับ" นั้นดังนี้

"พระราชสาส์นสมเด็จพระเจ้ากรุงพระมหานครศรีอยุธยา ปราบดาภิเษก ตามบุรพราชประเพณีมาแต่ก่อน คิดถึงทำนอง คลองพระราชไมตรีสมเด็จพระเจ้ากรุงต้าฉิงผู้ใหญ่ ซึ่งมาแต่ก่อน จึงแต่งให้

พระสวัสดิสุนทร ราชทูต หลวงบวรเสน่หา อุปทูต หลวงพจนาพิมล ตรีทูต ขุนพจนาพิจิตร ท่องสื่อ หมื่นพิพิธวาจา ปั้นสื่อ จำทูลพระสุพรรณบัฏสุวรรณพระราชสาส์น เชิญเครื่องราชบรรณาการ คือ

ช้างพลายสูง ๓ ศอก ๑ คืบ ช้างหนึ่ง ช้างพังสูง ๓ ศอก ๑ คืบ ๒นิ้ว ช้างหนึ่ง รวม ๒ ช้าง
ฯลฯ

น้ำดอกไม้เทศ ข้างหน้า ๖๐ เต้า ข้างใน ๓๐ เต้า รวม ๙๐ เต้า

ออกมาจิ้มก้องสมเด็จพระเจ้ากรุงต้าฉิงผู้ใหญ่ ตามบุราณราชประเพณีพระมหากษัตราธิราชเจ้าสืบมาแต่ก่อน ถ้าและราชทูต อุปทูต ตรีทูต ท่องสื่อ ปั้นสื่อ ถึงแล้ว ขอสมเด็จพระเจ้ากรุงต้าฉิง ผู้ใหญ่ ได้เห็นแก่ทางพระราชไมตรีสมเด็จพระเจ้ากรุงพระมหานครศรีอยุธยาผู้ใหญ่ จงได้ให้นำราชทูต อุปทูต ตรีทูต ข้าหลวงทั้งปวง เข้ากราบถวายบังคมสมเด็จพระเจ้ากรุงต้าฉิงผู้ใหญ่ สำเร็จแล้ว ขออย่าให้ขาดทางพระราชไมตรี ให้ได้กลับมาจงสะดวก

พระราชสาส์นคำหับปิดตราโลโต ครั้งนี้หาตราโลโตมิได้ ปิดตราไอยราพต มาเป็นสำคัญ
พระราชสาส์นมา ณ วันศุกร์ เดือน ๗ ขึ้น ๑๐ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๔๖ ปีมะโรง ฉศกฯ"

ในหนังสือนั้นได้ให้เชิงอรรถคำว่า "คำหับ" ไว้ว่า "หมายถึงปิดงำ พระราชสาส์นนี้น่าจะบรรจุหีบเล็ก ๆ หรือภาชนะที่มีฝาปิด" และได้ให้ความหมายของคำว่า "ตราโลโต" และ "ตราไอยราพต" ไว้ด้วยดังนี้

"ตราโลโต เป็นตราที่พระเจ้ากรุงจีนพระราชทานพระเจ้ากรุงสยาม ทำด้วยหยกสีตองอ่อน มีลักษณะเป็นแท่นสี่เหลี่ยม บนนั้นแกะเป็นรูปอูฐหมอบ ใต้นั้นแกะเป็นรูปตัวหนังสือจีนอย่างตัวสี่เหลี่ยม อ่านว่า เสี้ยม โหล ก๊ก อ๋อง

"ตราไอยราพต เป็นตราเก่า ในรัชกาลที่ ๔ ก็มีใช้อยู่ เป็นตราที่ทำด้วยโมรามีรูปตราเท่าที่เห็นได้ในสัญญาบัตร เป็นรูปช้างสามเศียร"

อย่างไรก็ดี คำว่า "คำหับ" พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ยังมิได้เก็บไว้

หนังสือ "ภาษาไทย - ภาษาจีน" ของคุณเฉลิม ยงบุญเกิด ได้อธิบายความหมายของคำว่า "คำหับ" ไว้ดังนี้

"ถ้าเราอ่านพระราชสาส์นที่มีไปกรุงจีน เราจะพบศัพท์อยู่ ๒ คำ คือ พระราชสาส์นคำหับ และ พระราชสาส์นสุพรรณบัฏ พระราชสาส์นคำหับคืออะไร เคยมีผู้ให้คำอธิบายว่า เป็นพระราชสาส์นที่มีคำปกปิดซึ่งความจริงไม่ถูกต้อง คำหับ เป็นภาษาจีน อ่านว่า คำฮะ (แต้จิ๋ว) แปลตามตัวอักษรว่า ตรวจสอบเข้ากันพอดี คำหับ วิธีการสั่งเคลื่อนทัพของจีนในสมัยโบราณ คือ เอาไม้ไผ่มาประทับตราหรือเครื่องหมายอย่างหนึ่งอย่างใดแล้วผ่าออกเป็นสองซีก ซีกหนึ่งผู้ออกคำสั่งถือไว้ อีกซีกหนึ่งส่งไปให้ผู้รับคำสั่ง เมื่อได้รับซีกไม้ไผ่ ก็จะนำซีกที่ตนถืออยู่มาต่อกันดู ถ้าเข้ากันพอดี ก็เชื่อได้ว่าเป็นคำสั่งที่แท้จริงในหนังสือกึงตังทงจี่ (จดหมายเหตุเมืองกวางตุ้ง) อธิบายเรื่องสมุดคำหับว่า ในแผ่นดินไท้โจ๊วแห่งราชวงศ์เหม็ง ปีรัชกาลฮ่งบู๊ที่ ๑๖ (พ.ศ. ๑๙๒๖) ได้ให้แก่กรุงศรีอยุธยาเป็นประเทศแรก ต่อมาจึงได้ขยายให้แก่ประเทศอื่น แต่ละประเทศมีคำหับ ๒๐๐ ชุด เช่นกรุงศรีอยุธยาคำหับอักษรเซี้ยม ๑๐๐ ชุด แผ่นที่มีอักษรเซี้ยมและล้อส่งไปเก็บไว้ที่คลังพัสดุคำหับอักษรล้อ ๑๐๐ ชุด แผ่นที่มีอักษรเซี้ยมมอบให้กรุงศรีอยุธยาไปกรอกรายการ แผ่นที่มีอักษรล้อส่งไปยังเจ้าพนักงานครองเมืองกวางตุ้ง เมื่อเข้าไปจิ้มก้องกรุงศรีอยุธยา จะกรอกพระนามพระเจ้าแผ่นดิน นามทูตเครื่องบรรณาการและวันเดือนปีในคำหับแผ่นที่มีอักษรเซี้ยมให้ทูตนำไป เจ้าพนักงานปกครองจะตรวจสอบพระราชสาส์นคำหับ ตลอดจนเลขหมายก่อนว่าถูกต้องตรงกันกับหลักฐานที่ตนมีอยู่ จึงจะอนุญาตให้ส่งไปยังเมืองหลวงได้ ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันพ่อค้าชาวต่างประเทศแอบอ้างเอาการจิ้มก้องเข้าไปค้าขาย เพราะประเทศจีนมีนโยบายปิดประตูการค้า ประเทศที่เข้าไปจิ้มก้องเท่านั้นที่ยอมให้ค้าขายได้เป็นครั้งคราว มาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ประเทศจีน ก็ยังคงถือนโยบายเช่นนั้นอยู่ ประเทศไทยจึงต้องส่งพระราชสาส์นไป ๒ ฉบับ ฉบับหนึ่งเป็นพระราชสาส์นจารึกบนแผ่นทองเรียกว่า พระราชสาส์นสุพรรณบัฏ อีกฉบับหนึ่งเป็นพระราชสาส์นคำหับเขียนลงบนคำหับที่จีนให้มาดังได้กล่าวมาแล้ว"


จำนงค์ ทองประเสริฐ
๑๘ มกราคม ๒๕๓๖
Back