Back
คำเพี้ยนในภาษาไทย


ภาษาไทยนับว่าเป็นภาษาที่มีอะไรให้ศึกษาได้มากมายในหลายแง่หลายมุมด้วยกัน ทั้งนี้เพราะภาษาไทยมีภาษาอื่น ๆ ปะปนอยู่มาก นอกจากภาษาบาลีและสันสกฤตแล้วก็มีภาษาเขมร ภาษามลายู ภาษาฝรั่ง ภาษาจีน ฯลฯ อีกมากมาย บางคำเราก็ยังไม่ทราบว่ามาจากภาษาใดแน่ เพราะคำต่าง ๆ ที่เราเอามาจากภาษาต่างประเทศนั้น บางทีเราเขียนอย่างเดียวกับภาษาเดิมของเขา แต่ออกเสียงผิดกับของเขา บางทีเราก็ปรับปรุงรูปและเสียงให้เข้ากับลิ้นของเรา บางคำเราก็บัญญัติขึ้นมาโดยเลียนเสียงของเรา แต่ความหมายไม่ตรงกันเลยก็มี อย่างคำว่า automatic ที่เราบัญญัติใช้ว่า "อัตโนมัติ" เป็นการบัญญัติเลียนเสียง แต่ความหมายไม่ตรงกัน เพราะคำว่า "อัตโนมัติ" แปลว่า "มติหรือความรู้ของตน" พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ เคยทรงอธิบายไว้ว่า คำว่า automatic ถ้าจะบัญญัติให้ตรงความหมายก็ควรจะเป็น "อัตโนวัติ" ซึ่งแปลว่า "เป็นไปตามลำพังของ มันเอง" แต่เมื่อใช้ว่า "อัตโนมัติ" จนติดแล้ว พระองค์ก็ทรงบอกว่าเป็น "คำเพี้ยนที่ใช้ได้"

ข้าพเจ้าได้อ่าน "บันทึก" การประชุมคณะกรรมการชำระปทานุกรมของราชบัณฑิตยสถานที่พิมพ์รวมไว้ในหนังสือชื่อ "ความรู้ทางอักษรศาสตร์" มีอยู่เรื่องหนึ่งที่เกี่ยวกับ "คำเพี้ยน" ในหัวข้อว่า "คำเพี้ยนที่ใช้ในบทกลอน" ซึ่งอาจารย์เจริญ อินทรเกษตร เลขานุการคณะกรรมการชำระปทานุกรมในสมัยนั้นได้บันทึกไว้ดังนี้

"เจ้าหน้าที่เสนอว่า คำโบราณที่เรียกเพี้ยนไป เขาใช้ในบทกลอน เราแก้ให้ถูกตามแบบ แต่กลับเสียสัมผัสของเขา เช่น :-

๑. "ยกพญาสีเสวกเอกฉัททันต์" (...ละเหฺวกเอกกะฉัดทัน) เราแก้เป็น สีเศวตเอกฉัททันต์ เพราะเขาอ่าน ตฺร เป็น กฺร, ดังนั้นจึงอ่าน เศวตรฉัตร เป็น เศวกระฉัตร (สะเหฺวกกะฉัด)

๒. จันทร์เพ็ง เราแก้เป็น เพ็ญ เช่นกลอน "ดังจันทร์เพ็งเปล่งอร่ามงามลออ"

๓. สั่งรเสิญ เราแก้เป็น สรรเสริญ เช่น "ท้าวทศวงศ์ทรงฟัง ตรัส สั่งระเสิญ"

"สังเกตดูในพระอภัยมณี ฉบับหอพระสมุด เขาแก้ให้ถูกหมด แต่ผิดสัมผัส ไม่เหมือนฉบับพิมพ์ขายตามตลาด.

"และคำ ทรมาน เขาน่าจะอ่านเป็น ทนระมาน ได้ ฉบับเก่าจึงมีว่า "ขัดสนทรมาน" "ยากจนทรมาน" ฯลฯ (ขัดสนทนระมาน, ยากจนทนระมาน) แต่ฉบับหอพระสมุดแก้เป็น "ขัดสนทนทรมาน" "ยากจนทนทรมาน" ฯลฯ ทั้งนั้น

"คำเพี้ยนของโบราณเช่นนี้ จะเอาไว้หรือปล่อยให้สูญไป เอาตามที่แก้กันใหม่หรือในหนังสือเก่าคงของเขาไว้ให้คล้องสัมผัสกัน แต่ของใหม่แก้เสียให้ถูกต้อง และบอกไว้ในพจนานุกรมด้วย.

"กรรมการผู้หนึ่งเสนอว่า เรื่องคำเพี้ยนของโบราณ ว่าจะเอาไว้หรือจะปล่อยให้สูญไป หรือในหนังสือเก่าให้คงของเดิมไว้ เพื่อให้ได้สัมผัสกัน ส่วนของใหม่เราแก้ไว้ให้ถูกนั้น อันการแต่งบทกลอน ที่จะให้ดีถึงขนาด ต้องพร้อมด้วยองค์ ๓ คือ คำเหมาะแก่เรื่อง ความดี สัมผัสดี เช่นนี้ ต้องได้เห็นตัวอย่าง ทั้งข้างดีข้างเสีย ในตัวอย่างข้างเสียนั้น ได้มีภาษาที่สมมติเรียกกันอยู่ในหมู่กวีอย่างหนึ่งว่า "ขอไปที" คือ ใช้คำผิดหรือบิดคำให้เพี้ยนไป เพื่อให้เข้าสัมผัสในกลอนของตนได้เป็นแล้วกัน อันนี้ได้แก่ตัวอย่างคำเพี้ยนดั่งกล่าวมาข้างต้น เห็นว่าไม่ควรแก้ ควรจะคงไว้ตามเดิม เพื่อรักษาตัวอย่างข้างเสียไว้ ทั้งเป็นการรักษาสมมติที่ว่าขอไปทีนั้นได้ด้วย ส่วนของใหม่ควรแก้ให้ถูก จะได้เป็นตัวอย่างในข้างดี กวีในภายหน้าจะได้แต่งบทกลอนไม่เลวลงเพราะมีตัวอย่างยันไว้ทั้งสองด้าน.

"ที่ประชุมตกลงให้พิจารณาเป็นคำ ๆ ไป."

คำในภาษาไทยที่นำมาจากภาษาบาลีและสันสกฤตมีอยู่ไม่น้อยที่เรานำมาใช้ในความหมายที่ผิดเพี้ยนไปจากของเดิมมาก เช่น คำว่า "มานะ" ภาษาบาลีแปลว่า "ความถือตัว" ไทยเรานำมาใช้ในความหมายว่า "ความเพียรพยายาม" ก็ได้ คำว่า "สงสาร" ภาษาบาลีแปลว่า "ท่องเที่ยว" หรือคำว่า "เวทนา" แปลว่า "การเสวยอารมณ์" เราก็นำมาใช้ในความหมาย "รู้สึกเห็นอกเห็นใจในความเดือดร้อนหรือความทุกข์ของผู้อื่น, รู้สึกห่วงใยด้วยความเมตตากรุณา" และ "สงสารสลดใจ" ฯลฯ คำในลักษณะนี้มีอยู่มากมาย ผู้ที่รู้ทั้งภาษาบาลีและสันสกฤตนับว่าได้เปรียบในเรื่องนี้มากทีเดียว.

จำนงค์ ทองประเสริฐ
๑๑กุมภาพันธ์๒๕๓๕
Back