Back

คำในภาษาไทย
และภาษาจีนบางคำที่สันนิษฐานว่ามาจากแหล่งเดียวกัน

ประเทศไทยและประเทศจีนต่างก็ได้รับนับถือพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาของประชาชนแทบทั้งประเทศด้วยกันโดยเฉพาะประเทศไทยนับถือพระพุทธศาสนาว่าเป็นศาสนาประจำชาติมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย คือเมื่อ ๗๐๐ ปีเศษมาแล้ว หรืออาจจะตั้งแต่ไทยเรายังอยู่ทางตอนใต้ของประเทศจีนก็ได้ เพราะเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ ๖ - ๗ พ่อขุนหลวงเม้าแห่งอาณาจักรอ้ายลาวหรืออ๋ายเหล่าก็ได้นำประชาชนชาวไทยหันไปนับถือพระพุทธศาสนามาแล้ว คำต่าง ๆ ในทางพระพุทธศาสนาจึงเข้าไปมีอิทธิพลอยู่ทั้งในภาษาไทยและภาษาจีน แต่ในภาษาจีนมีศัพท์ทางศาสนาปะปนอยู่ในภาษาของตนน้อยกว่าในภาษาไทย นอกจากศัพท์ทางพระพุทธศาสนาแล้ว ก็มีศัพท์จากภาษาอื่น เช่น มลายู เปอร์เซีย ฯลฯ ผสมอยู่บ้างเพราะมีการติดต่อค้าขายกัน

ในหนังสือ "ภาษาไทย ภาษาจีน" ของคุณเฉลิม ยงบุญเกิด ได้รวบรวมคำประเภทนี้ไว้ในหัวเรื่องว่า "คำที่มีที่มาอย่างเดียวกัน" โดยเริ่มตั้งแต่อักษร ก ไป ดังนี้

๑. "กะหล่ำ น. พันธุ์ผักจำพวกหนึ่งมีสองชนิด คือ กะหล่ำปลี (กะหล่ำใบ Brassica oleracea Var. capitata) (บรัสสิกา โอเลราเซีย) และกะหล่ำดอก กะหล่ำต้น (Brassica oleracea Var.botrytis)

ภาษาจีนกลาง อ่านว่า กันหลาน ทั้ง ๒ ภาษามีที่มาจากภาษาเปอร์เซีย อย่างเดียวกัน"

คำว่า "กะหล่ำ" พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ได้ปรับปรุงแก้ไขใหม่แล้วดังนี้

"น. ชื่อไม้ล้มลุกชนิด Brassica oleracea Linn. ในวงศ์ Cruciferea (ครูคิเฟเรีย) มี ๔ พันธุ์ คือ กะหล่ำปลี หรือกะหล่ำใบ (B.oleracea Linn. Var. capitata Linn. กะหล่ำดอกหรือกะหล่ำต้น (B.oleracea Linn. Var. botrytis Linn.) กะหล่ำดาว หรือกะหล่ำหัวลำต้น (B.oleracea Linn. Var. gemmifera DC.) และกะหล่ำปม (B.oleracea Linn. Ar. Gongylodes Linn.)"

๒. "กำยาน น. ชันหรือยางที่ออกจากเปลือกของต้นไม้บางชนิด (ในสกุล styrax)

ภาษาจีนกลาง อ่านว่า กินเหยียน กินหยิง แปลว่า กำยาน เข้าใจว่า ทั้งภาษาไทยและภาษาจีนคงมาจากภาษามลายู

คำว่า "กำยาน" พจนานุกรม ฉบับ พ.ศ. ๒๕๒๕ พิมพ์ครั้งที่ ๔ ได้แยกเก็บเป็น "กำยาน ๑, กำยาน ๒" และให้ความหมายไว้ดังนี้

"กำยาน ๑ น. วัตถุเครื่องหอมชนิดหนึ่ง เกิดจากชันหรือยางที่ออกจากเปลือกของต้นกำยาน มีกลิ่นหอม ใช้เผาอบผ้าและทำยาได้ (เทียบมลายู Kamoyan"

"กำยาน ๒ น. (๑) ชื่อไม้ต้นขนาดกลาง หลายชนิดในสกุล styrax วงศ์ Styracacea (สัตราซาเซีย) ขึ้นตามป่าเขาในระดับสูง ใบเดี่ยว หลังใบขาว ดอกสีขาว หอมอ่อน ๆ. (๒) ชื่อกล้วยพันธุ์หนึ่ง มีกลิ่นหอม เรียกว่า กล้วยกำยาน."

๓. "กุลี น. คนรับจ้างทำงานหยาบ เช่น หาบหามเป็นต้น

ภาษาจีนกลาง อ่านว่า ขู่ลี่ แปลว่า กุลี ภาษาจีนเอามาจากภาษาอังกฤษ coolie ซึ่งมาจากภาษาฮินดี Kuli การแปลของจีนแปลได้ดีมากทั้งสำเนียงและความหมาย เพราะ ขู่ลี่ แปลว่า แรงงานที่ลำบากตรากตรำ ภาษาไทย กุลี เข้าใจว่ามาจากภาษาอังกฤษเช่นเดียวกันกับภาษาจีน"

คำว่า "กุลี" พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ได้แยกเก็บเป็น "กุลี ๑, กุลี ๒, กุลี ๓" ดังนี้

"กุลี ๑ น. คนรับจ้างทำงานหนักมีหาบหามเป็นต้น."

"กุลี ๒ เพี้ยนมาจาก กลี เช่น เกิดการกุลี. (หนังสือกฎหมาย พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ทรงรวบรวม ฉบับโรงพิมพ์กองลหุโทษ ร.ศ. ๑๒๐)

"กุลี ๓ ลักษณนามบอกประมาณ คือผ้าห่อหนังสือที่รวมกัน ๒๐ ผืน (ใช้แก่ผ้าลาย ผ้าพื้น ผ้าขาวม้า และโสร่ง เป็นต้น)"

ที่พจนานุกรมอ้าง "หนังสือกฎหมายฉบับที่พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ทรงรวบรวม" นั้น ข้าพเจ้าได้พบตัวอย่างในหนังสือ "กฎหมายตราสามดวง" ตอน "พระไอยการกระบดศึก" มีข้อความตอนหนึ่งในตอนที่ ๖๙ ว่า "เพราะว่าเกิดกุลีแผ่นดิน" กับอีกแห่งหนึ่งว่า "มิใช่พี่น้องว่าเปนพี่น้อง เข้าว่าเนื้อความต่างกันให้เปนกุลีในแผ่นดิน" นอกจากนั้นก็มีคำว่า "กุลียุก" ด้วยดังมีข้อความว่า "อนึ่งมีกฎให้ไว้แก่ขุนอาญาจักราชปลัดว่าราษฎรเปนกุลียุก มิใช่พี่ว่าพี่ มิใช่น้องว่าน้อง"

เรื่องคำในภาษาจีนและภาษาไทยที่สันนิษฐานว่ามีที่มาตรงกันนั้น ยังมีอยู่อีกหลายคำจะได้นำมาเสนอท่านผู้ฟังในคราวหน้า.


จำนงค์ ทองประเสริฐ
๒๗ เมษายน ๒๕๓๖
Back