Back
คุก - ตะราง - เรือนจำ


สถานที่ที่มนุษย์ไม่ปรารถนาที่จะเข้าไปอยู่เป็นอย่างยิ่งก็คือ "คุก - ตะราง" หรือเรียกให้เสนาะหูสักหน่อยก็คือ "เรือนจำ" เพราะคนที่เข้าไปอยู่ในสถานที่เช่นนั้น ก็คือ "นักโทษ" ซึ่งเราเรียกอาการที่ต้องไปอยู่ในสถานที่เช่นนั้นว่า "ติดคุก - ติดตะราง" แต่ไม่เคยได้ยินใครพูดว่าไป "ติดเรือนจำ" เลย

คำว่า "คุก" พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ได้ให้บทนิยามไว้ดังนี้ "น. ที่ขังนักโทษ, เรือนจำ, ห้องใต้ถุนหรือใต้บันไดสำหรับเก็บสิ่งของ."

คำว่า "ตะราง" พจนานุกรมได้ให้บทนิยามไว้ว่า "น. ที่คุมขังนักโทษ."

คำว่า "เรือนจำ" คำนี้คงแปลมาจากภาษาบาลีว่า "พันธนาคาร" นั่นเอง พจนานุกรมได้ให้ความหมายไว้ว่า "น. ที่ขังนักโทษ."

เมื่อพิจารณาจากพจนานุกรมแล้ว ก็ไม่ทราบว่า "คุก - ตะราง - เรือน -จำ" มีความหมายต่างกันอย่างไรบ้างหรือไม่ หรือมีความหมายเท่ากันพอดี

ต่อมาข้าพเจ้าได้อ่านบทความเรื่อง "ราชทัณฑ์" ที่นายประเสริฐ เมฆมณี อดีตรองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ เขียนส่งไปให้ราชบัณฑิตยสถานเพื่อตีพิมพ์ลงใน "สารานุกรมไทย" จึงได้เข้าใจความหมายของคำว่า "คุก" และ "ตะราง" ดีขึ้น ข้าพเจ้าขอนำข้อความบางตอนมาเสนอท่านผู้ฟังดังนี้

"...เรือนจำในกรุงเทพฯ (ยุคแรก) มีชื่อเรียกเป็น ๒ อย่าง คือ คุก และ ตะราง

คุกเป็นที่คุมขังผู้ต้องขังมีกำหนดโทษตั้งแต่ ๖ เดือนขึ้นไป คุกเดิมตั้งอยู่ที่หน้าวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ตรงที่ตั้งกองทหาร ร.พัน ๑ ในปัจจุบัน ภาษาสามัญชนเรียกคุกนี้ว่า "คุกหน้าวัดโพธิ์" และสังกัดกระทรวงนครบาล หลวงพัศดีกลางเป็นหัวหน้าดูแลรับผิดชอบ โดยมีขุนพัศดีขวาและขุนพัศดีซ้ายเป็นผู้ช่วย ส่วนผู้คุมใช้เลขไพร่หลวงยามใน คนใดมาเข้าเวรไม่ได้ ต้องเสียเงินคนละ ๖ บาทสำหรับจ้างผู้คุมแทนตัว เจ้าพนักงานคุกไม่มีเงินเดือนหรือเบี้ยหวัด ได้ผลประโยชน์จากการใช้แรงงานนักโทษทำงาน และได้ค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ที่นักโทษต้องเสีย ค่าธรรมเนียมการรับนักโทษ มีอัตราวางไว้เก็บเมื่อเข้ามาต้องโทษ และเมื่อพ้นโทษต้องเสียเงินให้เจ้าพนักงานที่นำความกราบบังคม ทูล ๓ ตำลึง (๑๒ บาท) ครั้นโปรดเกล้าฯ ให้ปล่อยตัว เสียให้อีก ๒ ตำลึง (๘ บาท) การกิน การนุ่งห่มของนักโทษ ญาติพี่น้องต้องติดตามมาส่งบ้าง นักโทษทำงานด้วยฝีมือเป็นลำไพ่ของตนบ้าง เช่น การช่างไม้และการจักสาน มิได้จ่ายของหลวงให้เลย

ส่วนตะรางใช้เป็นที่คุมขังผู้ต้องขังที่มีโทษตั้งแต่ ๖ เดือนลงมา กับนักโทษที่มิใช่โจรผู้ร้าย ตะรางมีหลายแห่งซึ่งสังกัดอยู่ตามกระทรวงทบวงกรมที่บังคับบัญชากิจการนั้น ๆ เช่น ตะรางกลาโหม ตะรางมหาดไทย ตะราง กรมท่าช้าง ตะรางกระทรวงวัง ตะรางกระทรวงนครบาล ตะรางกระทรวงนครบาลนี้มีรวมทั้งหมด ๑๒ ตะราง ซึ่งได้แยกไปสังกัดในบังคับบัญชาของกรมพระนครบาล ๔ ตะราง สังกัดกรมพลตระเวน ๔ ตะราง ตะรางต่าง ๆ ที่แยกย้ายไปสังกัดกระทรวงทบวงกรมต่าง ๆ กันนี้ก็เพราะการศาลสถิตยุติธรรมในสมัยนั้นแยกย้ายกันสังกัดอยู่ ไม่ได้รวมขึ้นอยู่ในกระทรวงเดียวกันเหมือนสมัยนี้

การเรือนจำหัวเมืองชั้นนอก เดิมหน้าที่การไต่สวนโจรผู้ร้ายและการตุลาการในหัวเมืองชั้นนอกรวมอยู่ในหน้าที่ความรับผิดชอบของผู้ว่าราชการเมือง ซึ่งมีที่คุมขังผู้ต้องขัง เรียกว่า ตะรางประจำเมือง เมืองละแห่ง แต่บางเมืองมีอาณาเขตกว้างขวาง ถ้ามีพลเมืองมากก็สร้างที่คุมขังย่อยขึ้นตามอำเภอ สำหรับคุมขังผู้ต้องหาในคดีที่มีโทษหลวงรอจนกว่าจะได้ส่งตัวมายังผู้ว่าราชการเมือง บางเรื่องบางรายถ้าเป็นความผิดฉกรรจ์มหันตโทษ ผู้ว่าราชการเมืองต้องส่งตัวมายังกระทรวงเจ้าสังกัด คือกลาโหม การคุมขังนักโทษในสมัยนั้นไม่มีกฎข้อบังคับเรือนจำวางไว้โดยเฉพาะ แล้วแต่ผู้ว่าราชการเมืองจะวางขึ้นใช้เองตามที่เห็นสมควร"

ท่านผู้ฟังคงพอกำหนดได้แล้วว่า คำว่า "คุก" ใช้คุมขังที่มีโทษตั้งแต่ ๖ เดือนขึ้นไป ส่วน "ตะราง" นั้นใช้คุมขังผู้ต้องขังที่มีโทษตั้งแต่ ๖ เดือนลงมา นับว่า "คุก" มีศักดิ์ศรีสูงกว่า "ตะราง" คนที่ติดคุกติดตะรางนาน ๆ เมื่อพ้นโทษออกมาจากคุกจากตะรางแล้วคนก็ยังเรียกด้วยความเหยียดหยามว่า "ขี้คุกขี้ตะราง" ทำให้หมดศักดิ์ศรีไปทีเดียว.


จำนงค์ ทองประเสริฐ
๗ ธันวาคม๒๕๓๖
Back