Back

จราจร - จลาจล

ข้าพเจ้าได้อ่านบทความของท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ในบัญชร "ซอยสวนพลู" น.ส.พ.สยามรัฐ ประจำวันจันทร์ที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๖ แล้ว เห็นว่ายังมีอะไรบางอย่างที่อาจทำให้คนเข้าใจไขว้เขวได้ ท่านได้ขึ้นต้นบทความของท่านดังนี้

"คำว่า จราจร ในภาษาไทยนั้น ใครก็รู้ว่าแปลว่าอะไร ถ้าจะแปลศัพท์นี้ตามความเข้าใจของคนทุกวันนี้ การจราจร ก็คือการที่รถติดจนเป็นจลาจล

"ซึ่งถ้าจะดูรากศัพท์กันแล้วก็คงจะไม่ผิดนัก เพราะคำว่า จราจร มาจากภาษาสันสกฤตมีศัพท์รวมกันเข้ามาสองคำ คือ จล และ อจล แปลว่า ไป (จล) และมาหรือไม่ไป (อจล)

"เมื่อรวมคำสองคำเข้าด้วยกันตามภาษาสันสกฤตแท้ ๆ ก็จะต้องเป็น จลาจล มิใช่ จราจร

"แต่ความหมายในภาษาไทยนั้น จลาจลเป็นอีกความหมายหนึ่ง ไม่เกี่ยวกับการจราจร และดูเหมือนจะแปลว่า เรียกร้องประชาธิปไตยในสมัยนี้

"เพราะฉะนั้น คำว่า จลาจล จึงจะเอามาใช้ในภาษาไทยให้รถแล่นไปแล่นมาไม่ได้ จึงได้มีคนดีตั้งศัพท์ขึ้นมาว่า จราจร เพราะคำว่า จล ในภาษาสันสกฤตนั้น ในภาษาไทย ถ้าจะให้หมายถึงคำว่า ไป ก็มักจะเขียนว่า จร อยู่แล้ว

"จร บวก อจร ก็ได้คำว่า จราจร ซึ่งถึงปัจจุบันนี้ก็แปลว่า จลาจล เพราะเป็นปัญหาที่ดูเหมือนจะไม่มีใครแก้ได้"

ข้าพเจ้ารู้สึกว่าท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้นำคำว่า "จราจร" และ "จลาจล" มาใช้ได้เหมาะสมดี ตรงข้อความที่ว่า "การจราจร" ก็คือการที่รถติดเป็นจลาจล" นับว่าเป็นการให้ภาพการจราจรในกรุงเทพมหานคร ซึ่งติดจนเกือบเหมือนตังเม คือในบางเวลาแทบจะขยับเขยื้อนไม่ได้เลย บางทีเราก็พูดกันว่า "รถติดเป็นแพเลย"

แต่พอมาถึงตอนแยกศัพท์ เกิดความสับสนนิดหน่อยตรงที่ว่า "คำว่า จราจร มาจากภาษาสันสกฤต มีศัพท์รวมกันเข้ามาสองคำ คือ จล กับ อจล แปลว่า ไป(จล) และมาหรือไม่ไป (อจล)"

คำว่า "จราจร" กับ "จลาจล" มาจากคำภาษาบาลีและสันสกฤต ทั้ง ๒ คำ ไม่ใช่เฉพาะคำสันสกฤตเท่านั้น คำว่า "จราจร" เป็นการนำคำว่า "จร" ซึ่งแปลว่า "เที่ยวไป เดิน เคลื่อนที่" กับ "อาจร" ซึ่งแปลว่า "เดินมา, เที่ยวมา" มาเข้าสนธิกัน ดังนั้นคำว่า "จราจร" ก็หมายถึง "เดินไปเดินมา, เคลื่อนที่ไปเคลื่อนที่มา" จะอยู่เฉย ๆ ไม่ได้ ส่วนคำว่า "จลาจล" นั้น มาจาคำว่า "จล" ซึ่งแปลว่า "สั่น, ไหว, หวั่นไหว" กับคำว่า "อาจล" ซึ่งแปลว่า "หวั่นไหวมา" คำว่า "อา" ในภาษาบาลีเป็นคำอุปสรรค (prefix) แปลว่า "ทั่ว, ข้างหน้า, ก่อน, ออก" ทำให้มีความหมายตรงกันข้าม คือ "กลับความกัน" ก็ได้ ดังนั้นคำว่า "จลาจล" จึงแปลว่า ไหวไปไหวมา หวั่นไหวไปหวั่นไหวมา ก็ได้ มิใช่ "จล + อจล" ดอก เพราะถ้าเป็น "อจล" ก็คือ "ไม่หวั่นไหว" เช่นคำว่า "อจลศรัทธา" แปลว่า "ศรัทธาหรือความเชื่อที่ไม่หวั่นไหว"

คำว่า "จราจร" พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ได้ให้บทนิยามไว้ดังนี้ "น. การที่ยวดยานพาหนะ คน หรือ สัตว์พาหนะเคลื่อนไปมาตามทาง, เรียกผู้มีหน้าที่เกี่ยวกับการนั้น เช่น ตำรวจจราจร."

ส่วนคำว่า "จลาจล" พจนานุกรมได้ให้บทนิยามไว้ดังนี้ "น. ความวุ่นวายในบ้านเมือง, ความปั่นป่วนในบ้านเมือง." และบอกที่มาไว้ว่า มาจากคำบาลีและสันสกฤตว่า "จล + อจล" ซึ่งยังไม่ถูกต้อง ที่ถูกควรเป็น "จล + อาจล" ส่วนคำว่า "จราจร" มิได้บอกที่มาไว้ ควรบอกว่ามาจากคำบาลีและสันสกฤตว่า "จร + อาจร" ด้วยเช่นกัน

คำในลักษณะเช่นนี้ ในภาษาไทยก็มีอีกคำหนึ่งคือ "คมนาคม" ซึ่งพจนานุกรม ได้ให้ความหมายไว้ว่า "น. การติดต่อไปมาถึงกัน, การสื่อสาร." และบอกที่มาว่ามาจากคำบาลีว่า "คมน + อาคม" คำว่า "คมน" (คะ - มะ - นะ) แปลว่า "การไป" และคำว่า "อาคม" (อา - คะ - มะ) แปลว่า "การมา" ดังนั้นคำว่า "คมนาคม" จึงแปลว่า "การไปมา, การไป ๆ มา ๆ" ในที่นี้บอกที่มาว่า มาจาก "คมน + อคมน" แต่ที่คำว่า "จลาจล" บอกที่มาว่ามาจาก "จล + อจล" จึงควรแก้ไขที่มาเสียให้ถูกต้องว่า "จล + อาจล" ในการตรวจพิสูจน์อักษร ข้าพเจ้าจึงมีความหวั่นใจอยู่เสมอว่า อาจมีขาดตกบกพร่องอยู่บ้างเพราะเจ้าหน้าที่ที่ทำหน้าที่พิสูจน์อักษรส่วนมากก็มีความรู้ภาษาบาลีและสันสกฤตน้อย อย่าง "อ" กับ "อา" ในภาษาบาลีที่เป็นคำคุณศัพท์นั้น ความหมายไปคนละเรื่องเลย คำว่า "อ" เมื่ออยู่ข้างหน้าเป็นคำปฏิเสธ เช่น "อมนุษย์" ก็แปลว่า "ผู้ที่มิใช่มนุษย์" แต่ "อา" นั้น ทำให้มีความหมายตรงกันข้ามเลยก็ได้ เช่น "จร" แปลว่า "ไป" ส่วน "อาจร" แปลว่า "มา" เพราะฉะนั้นจึงต้องระมัดระวังกันให้มากเป็นพิเศษด้วย.


จำนงค์ ทองประเสริฐ
๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๖
Back