Back

จอมอสูร


ในวรรณกรรมทางพระพุทธศาสนา เราพบคำว่า "อสูร" และ "จอมอสูร" อยู่บ่อย ๆ มีผู้สงสัยว่า เมืองอสูรอยู่ที่ไหน และใครเป็นจอมอสูร

หนังสือ "โลกบัญญัติ" ที่หอสมุดแห่งชาติ ตรวจชำระเรียบเรียงจากต้นฉบับที่เป็นภาษาบาลีและ กรมศิลปากรได้จัดพิมพ์เผยแพร่ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๘ ได้กล่าวถึง "อสูร" ไว้ใน "อสุรชาติวิภาค กัณฑ์ที่ ๔" ไว้เพียงย่อ ๆ ดังนี้

"ต่อไปนี้ กล่าวถึงวิภาคของกำเนิดอสูร ณ ประเทศอันเป็นรากฐานภายใต้ของภูเขาหลวงสิเนรุ ก็แลจากประเทศอันเป็นรากฐานภายใต้จนถึงภายนอก ของเมืองอสูรทั้ง ๔ โดยรอบทางฝั่งนี้ของทะเลร่วมใน แต่ละส่วน ๆ มีพาหา (ไหล่) ๑๒๔,๐๐๐ โยชน์ โดยรอบพาหาทั้ง ๔ ของแดนอสูร ๔๙๐,๐๐๐ โยชน์ ณ ประเทศท่ามกลางของพาหาทั้ง ๔ มีเมืองอสูร ๔ เมือง ล้อมด้วยกำแพงทอง มีประตู ๑,๐๐๐ ช่อง ด้านนอกมีคูล้อมรอบด้วยแถวต้นตาล ในระหว่าง ๆ มีสระโบกขรณี เหนือ คูมีหมู่อสูรและอสูรกัญญาพากันเล่นสนุก เปล่งเสียงรื่นรมย์ด้วยลีลาอันสวยงาม ประหนึ่งจะพึงกล่าวได้ว่าเป็นวนะอันเป็นแดนแห่งความสนุกสนาน ด้านนอกของสระโบกขรณีเหล่านั้น มีอุทยาน ๔ แห่ง ในสถานที่ ๔ ตำบล สมบูรณ์ด้วยไม้ดอกไม้ผล เป็นสถานอันน่ารื่นรมย์ ในภายในคูสระ และอุทยานมีนครอสูร ภายนอกนครเหล่านั้น ในทิศทั้ง ๔ มีหมู่บ้านอสูร นิคมอสูร ชนบทอสูร น้ำของ มหาสมุทรอันเป็นร่วมใน ย่อมไม่ไหลล่วงฝั่งในแดนอสูรจากภายนอกของชนบทเหล่านี้ ในราหุสูตร ฉันใด ในแดนอสูรทั้งปวงก็ฉันนั้น ในท่ามกลางของเมือง อสูรทั้ง ๔ แห่ง มีต้นไม้ชื่อจิตตปาตลี ที่ใกล้โคนต้นจิตตปาฏลีนั้น มีแผ่นศิลา ๔ แผ่น ประมาณ ๓๐ โยชน์ จอมอสูรทั้ง ๔ ย่อมอยู่ประจำ ณ ที่นั้น ที่ประชุม ปราสาท วิมาน กุฏาคาร ที่พำนัก ร้านตลาด และถนนย่อมแผ่กว้างไปในประตูทั้งหลาย เหมือนสิ่งอุปโภคของเทพยดาชาวดาวดึงส์ แต่แผ่ไปเป็น หย่อม ๆ ทรามกว่า

"เมืองอสูรทางปุรัตถิมทิศ จอมอสูรชื่อ เวปจิตติ ยุวราช ชื่อ สุจิตติ ทั้งสองเป็น จอมอสูร ครองความเป็นราชา มีอิศราธิปัตย์ของอสูรผู้มเหศักดิ์ทั้งหมด ตลอดถึงหมู่อสูรที่ชื่อว่า กาลกัญจิกา อันเป็นพวกที่ทรามกว่าอสูรทั้งปวง ที่มีรูปร่างต่าง ๆ มีริมฝีปากแบะ และมีริมฝีปากแคบ มีเล็บยาว บางพวกมีเท้าคด มีเล็บกุด มีผิวเหลืองซีดเหมือนใบไม้เหลือง และมีเส้นเอ็นสะพรั่งทั่วตัว มีดวงตากลมโปนออกมา มีจมูกและเท้ายาว หัวคด พวกอสูรที่มีรูปร่างต่าง ๆ อย่างนี้ เป็นพวกอสูรที่อยู่ในทวีปปุพพวิเทหะ ตลอดไปถึงแดนทวีปกุรุ (ล้วนอยู่ในปกครองของจอมอสูรทั้งสอง) จอมอสูรทั้งสองเพียบพร้อมด้วยด้วยจตุรงคินีเสนา พลช้าง พลม้า พลรถ และพลราบ ย่อมบุกรุกขึ้นไปเพื่อต้องการจะรบกับเทวดาชาวดาวดึงส์

เมืองอสูรที่ ๒ ทางทิศทักษิณ ในเมืองนั้นมี จอมอสูร ชื่อ สํปรี เป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องที่ดียิ่ง ยุวราช ชื่อ นมุจิ ทั้งสองเป็นจอมอสูร ครองความเป็นราชา มีอิศราธิปัตย์ของหมู่อสูรทั้งปวง และหมู่อสูรที่อยู่ในชมพูทวีป ตามเรื่องที่พรรณนาถึงพวกอสูรในก่อน จอมอสูรทั้งสองนั้นเพียบพร้อมด้วยจตุรงคินีเสนา บุกรุกขึ้นไปเพื่อต้องการจะรบกับเทวดาชาวดาวดึงส์

เมืองอสูรที่ ๓ ทางทิศปัจฉิม ในเมืองนั้นมีจอมอสูร ชื่อ พหินะ มียุวราชชื่อ อสุระ ทั้งสองเป็นจอมอสูร ครองความเป็นราชา มีอิศราธิปัตย์ของพวกอสูรทั้งปวง และของพวกอสูรที่อยู่ในทวีปอมรโคยาน ตามที่พรรณนาเรื่อง อสูรในก่อน ฯลฯ

เมืองอสูรที่ ๔ ทางทิศอุดร มีจอมอสูรชื่อ ปหาราทะ มียุวราช ทั้งสองเป็นจอมอสูรครองความเป็นราชา มีอิศราธิปัตย์ของพวกอสูรทั้งปวง และพวกอสูรที่อยู่ในทวีปอุตตรกุรุ ตามที่พรรณนาถึงอสูรไว้ในก่อน ฯลฯ

วิภาคแห่งอสุรชาติต่าง ๆ พึงทราบด้วยประการฉะนี้ อสุรชาติวิภาคกัณฑ์ที่ ๔ (ว่าด้วยกำเนิดของอสูร) จบ"

เวลานี้หนังสือพิมพ์มักนำคำว่า "เทพ" บ้าง "มาร" บ้าง มาใช้เรียกนักการเมืองพรรคต่าง ๆ ข้าพเจ้าจึงนำคำว่า "อสูร" มาเสนอท่านผู้ฟัง เพราะถือว่าเป็นคำในชุดเดียวกัน.

จำนงค์ ทองประเสริฐ
๑๓ สิงหาคม๒๕๓๕
Back