Back

จักรวาลวิทยา

ผู้ที่มีความสนใจในเรื่องศิลปกรรมคงจะได้พบคำว่า "จักรวาลวิทยา" อยู่บ่อย ๆ แต่ถ้าจะถามว่า "จักรวาลวิทยา" แปลว่าอะไร ก็นับว่าเป็นคำถามที่ตอบได้ค่อนข้างยาก เพราะในประเทศไทย เรามิได้ศึกษาวิชาจักรวาลวิทยากันอย่างแท้จริงเลย

วิชาจักรวาลวิทยา ซึ่งตรงกับภาษาอังกฤษว่า Cosmology นั้น เป็นสาขาหนึ่งของอภิปรัชญา (Metaphysics) ที่เกี่ยวกับระบบของจักรวาลในฐานะที่เป็นระบบที่มีระเบียบซึ่งต่างกัน Cosmogony ซึ่งข้าพเจ้าอยากจะบัญญัติศัพท์ว่า "จักรวาลศาสตร์" ซึ่งเป็นวิชาที่ศึกษาเกี่ยวกับการสร้างโลกหรือบ่อเกิดของโลก

ในประเทศอินเดีย ได้มีการศึกษาเกี่ยวกับจักรวาลวิทยามาตั้งแต่ก่อนสมัยพุทธกาลแล้ว และพระพุทธศาสนาก็มิได้ปฏิเสธเรื่องจักรวาล หากยังได้นำเอาวิชาจักรวาลวิทยามาใช้ให้เป็นประโยชน์ในการเทศนาสั่งสอนประชาชนชาวชมพูทวีปในสมัยนั้น ซึ่งปัจจุบันได้แก่ประเทศอินเดีย เนปาล และปากีสถาน เพราะบุคคลเหล่านั้นซึ่งยึดมั่นในศาสนาพราหมณ์มีความเชื่อในเรื่องจักรวาลวิทยาด้วย พระพุทธศาสนานิกายที่สนใจในเรื่องจักรวาลวิทยามาก ก็คือ นิกายเถรวาท นิกายสรวาสติวาท และนิกายโยคาจาร

จักรวาลวิทยาในพระพุทธศาสนาที่มีเค้าโครงมาจากจักรวาลวิทยาในศาสนาพราหมณ์ ซึ่งยืนยันว่าโลกมีจำนวนนับไม่ถ้วน คือ เป็นอนันตะนั้น ในพระบาลีมีคำ เช่น "ทสสหสฺสจกฺกวาเลสุ" (ทะสะสะหัดสะจักกะวาเลสุ) ซึ่งแปลว่า "ในหมื่นจักรวาล" อยู่ทั่วไป แสดงให้เห็นว่าพระพุทธศาสนาได้ยอมรับว่า จักรวาลนั้นมีมากมายจนเป็นอนันตะ ทั้งนี้เพราะ "อวกาศ" (space) ซึ่งตรงกับคำบาลีว่า "อากาส" นั้นเป็น "อนันตะ" คือไม่มีที่สิ้นสุด ดังคำบาลีว่า "อนนฺโต อากาโส" ด้วย

ตามคติในศาสนาพราหมณ์ ถือว่า โลกเรานี้มีเขาพระสุเมรุเป็นศูนย์กลางมีทวีปทั้ง ๔ ล้อมอยู่ใน ๔ ทิศ คือ อุตตรกุรุทวีปอยู่ทางทิศเหนือ บุพพวิเทหทวีปอยู่ทางทิศตะวันออก อมรโคยานทวีปอยู่ทางทิศตะวันตก และชมพูทวีปอยู่ทางทิศใต้ และมีทะเลใหญ่หรือมหาสมุทรทั้ง ๔ เป็นขอบเขต ได้แก่ ปีตสาคร คือทะเลที่มีน้ำสีเหลือง ขีรสาคร คือ ทะเลที่มีน้ำสีขาว ผลิกสาคร คือ ทะเลที่มีน้ำสีแก้วผลึก และนีลสาคร คือ ทะเลที่มีน้ำสีเขียว

ในพระพุทธศาสนาแบ่ง "ภพ" หรือ "ภูมิ" หรือ "ธาตุ" ออกเป็น ๓ ระดับ คือ กามภพหรือกามธาตุ ๑ รูปภพหรือรูปธาตุ ๑ อรูปภพหรืออรูปธาตุ ๑ ถ้าจัดเป็น "ภูมิ" เรียกว่า "กามาวจรภูมิ รูปาวจรภูมิ อรูปาวจรภูมิ"

ในภพหรือธาตุทั้ง ๓ นี้ กามภพหรือกามธาตุ ถือว่าเป็นภพต่ำสุด และในกามภพหรือกามธาตุนี้ ก็ยังมีระดับตั้งแต่ต่ำสุดขึ้นไปถึงสูงสุดดังนี้ นรก เปรตวิสัย กำเนิดดิรัจฉาน โลกมนุษย์ แล้วก็ถึงอสูรพิภพ ซึ่งถือว่าเป็นที่อยู่ของเทวดาชั้นต่ำ ต่อจากนั้นก็ถึงสวรรค์ ๖ ชั้น นับตั้งแต่ต่ำสุดขึ้นไปก็มี ชั้นจาตุมมหาราชิก ชั้นดาวดึงส์ ชั้นยามา ชั้นดุสิต ชั้นนิมมานรดี และชั้นปรนิมมิตวสวัดดี

สัตว์นรกเป็นพวกที่ได้รับความทุกข์ความเดือดร้อนมากน้อยตามสมควรแก่ความชั่วที่ตนได้ทำไว้ นรกที่ต่ำสุดและเลวที่สุด คืออเวจีมหานรก นรกใหญ่มีอยู่ ๘ ขุม คือ สัญชีวนรก กาฬสุตตนรก สังฆาตนรก โรรุวนรก มหาโรรุวนรก ตาปนนรก มหาตาปนนรก และมหาอเวจีนรก แต่ละนรกยังมี "อุสสุท นรก" หรือ "นรกย่อย" เป็นบริวารอีก ๑๖ ขุม คืออยู่ทั้ง ๔ ทิศ ทิศละ ๔ ขุม

พระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทซึ่งเจริญรุ่งเรืองอยู่ในประเทศแถบร้อน จึงมักมีนรกที่ร้อน ๆ ทั้งนั้น แต่ในฝ่ายมหายานซึ่งมักเจริญรุ่งเรืองอยู่ใน ประเทศที่มีอากาศค่อนข้างหนาวจะมี "สีตนรก" คือนรกที่มีอุณหภูมิต่ำมาก ผู้ตกนรกจึงรู้สึกหนาวเป็นที่สุด

พื้นผิวโลกเป็นอาณาจักรของพวกมนุษย์และสัตว์ดิรัจฉาน พวกอสูรส่วนหนึ่งอยู่บนผิวโลก และอีกส่วนหนึ่งอยู่ในที่ที่สูงขึ้นไป คือในอากาศหรือที่เชิงเขาพระสุเมรุ เทวดาอยู่ในสวรรค์ คือที่เขาพระสุเมรุและเหนือเขาพระสุเมรุขึ้นไป เขาพระสุเมรุเป็นที่อยู่ของเทวดาชั้นดาวดึงส์

ภพที่สูงยิ่งขึ้นไปกว่า กามภพหรือกามธาตุ ก็คือรูปภพหรือรูปธาตุ ผู้ที่เกิดในรูปภพ จะมีเพียง ๓ ประสาท คือ จักษุประสาท โสตประสาท และมโนประสาทเท่านั้น (ไม่มีฆานประสาท ชิวหาประสาท และกายประสาท) เทวดาชั้นนี้ ยังมีรูปอยู่ ซึ่งเรียกว่า รูปพรหม

รูปภพหรือรูปธาตุเป็นที่อยู่ของรูปพรหมมี ๑๖ ชั้น ผู้ที่จะไปเกิดในชั้นรูปพรหมจะต้องได้บรรลุรูปฌาน ๔ คือ ปฐมฌาน (ฌานที่ ๑) ทุติยฌาน (ฌานที่ ๒) ตติยฌาน (ฌานที่ ๓) และจตุตถฌาน (ฌานที่ ๔) แต่ภูมิของผู้ที่ได้แต่ละฌาน มีแบ่งย่อยออกไปไปไม่เท่ากัน ภูมิของผู้ได้ปฐมฌาน ทุติยฌาน และตติยฌาน แบ่งย่อยออกไปเป็นภูมิละ ๓ ชั้นรวม ๙ ชั้น ส่วนภูมิของผู้ได้จตุตถฌานแบ่งย่อยไปเป็น ๗ ชั้น จึงรวมทั้งหมดเป็นรูปพรหม ๑๖ ชั้น

ภพที่สูงกว่ารูปภพ ได้แก่ อรูปภพหรืออรูปธาตุ เป็นที่อยู่ของผู้ที่ ได้อรูปฌาน ๔ คืออากาสานัญจายตนฌาน วิญญาณัญจายตนฌาน อากิญจัญญายตนฌาน และเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน.

จำนงค์ ทองประเสริฐ
๑๕ กันยายน๒๕๓๕
Back