Back

ชมพูทวีป

คำว่า "ชมพูทวีป" เป็นคำที่ผู้ศึกษาพุทธประวัติรู้จักกันดีคำหนึ่ง เพราะเป็นดินแดนที่ประสูติของพระพุทธเจ้า เมื่อพูดถึง "ชมพูทวีป" เราก็นึกว่า ได้แก่ ประเทศอินเดียในปัจจุบันนี้เท่านั้น ความจริง "ชมพูทวีป" มีขอบเขตกว้างขวาง กว่านั้น คือรวมทั้งประเทศปากีสถานและเนปาลในปัจจุบันนี้ไว้ด้วย ส่วนคำว่า "ปากีสถาน" ซึ่งเป็นชื่อของประเทศที่สำคัญประเทศหนึ่งในทวีปเอเชียและเป็นคู่ปรับของอินเดียมาจนกระทั่งทุกวันนี้นั้น เป็นประเทศที่เกิดใหม่ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ นี้เอง มีคนเคยถามข้าพเจ้าว่า "ปากีสถาน" แปลว่าอะไร คำว่า "สถาน" ก็พอจะทราบว่าเป็นคำสันสกฤตซึ่งตรงกับคำบาลีว่า "ฐาน" แต่คำว่า "ปากี" หมายถึงอะไร ข้าพเจ้าขออธิบายถึงความเป็นมาของชื่อ ปากีสถาน ตามที่มีกล่าวไว้ในหนังสือ "บ่อเกิดลัทธิประเพณีอินเดีย" เล่ม ๓ ที่ข้าพเจ้าแปลมาจากหนังสือ Sources of Indian Tradition ฉบับของ Columbia University Press และราชบัณฑิตยสถานจัดพิมพ์เผยแพร่เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๓ เวลานี้ก็จำหน่ายเกือบหมดแล้ว โดยเฉพาะเล่ม ๑ ขาดตลาดไปนานแล้ว* ราชบัณฑิตยสถาน กำหนดจะพิมพ์ใหม่เพราะมีผู้สนใจและต้องการกันมาก ดังนี้

"เมื่อท่านอิกบาล (Igbal) บอกสันนิบาตออลอินเดียมุสลิม เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๓ ว่า ท่านหวังจะได้เห็นชมพูทวีปส่วนที่มีมุสลิมอยู่ มากมายกลายเป็นรัฐที่แยกออกไปต่างหากนั้น มิได้เป็นครั้งแรกที่เกิดมีมโนคตินี้ขึ้นมาเลย นักคิดพวก แพน - อิสลามที่มีชื่อก่อนหน้านั้นคนหนึ่งชื่อไซยิด ญะมาล อุดดีน อัลอัฟฆานี (Saiyid Jamal - u'd - din al - Afghani : พ.ศ. ๒๓๘๑/๘๒ - ๒๔๔๐) ได้เขียนไว้ว่า จุดหมายปลายทางของมุสลิมแห่งเอเชียกลาง ก็คือ การจัดตั้งรัฐร่วมกับอัฟกานิสถานและอาณาบริเวณอินเดียภาคตะวันตกเฉียงเหนือที่ประชาชนส่วนใหญ่เป็นมุสลิมขึ้น การที่จะแยกออกจากอาณาบริเวณอื่น ๆ ของอินเดียบางแบบกับการรวมกันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันโดยอัตโนมัตินั้น ก็เคยมีนักคิดรุ่นราวคราวเดียวกันนั้นอื่น ๆ อีกหลายคนประกาศ สนับสนุนมาแล้ว นักศึกษามุสลิมอินเดียคนหนึ่งที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ชื่อ เชาทรี ราห์มัต อาลี (Chaudari Rahmat Ali) ได้บัญญัติคำ "ปากีสถาน" (Pakistan) ขึ้น โดยเอาตัว ป (P) มาจาก "ปันจาบ" (Panjab) อา (A) มาจาก "อัฟกาเนีย" (Afghania) (ซึ่งเขาปรารถนาจะเรียกว่า มณฑลชายแดนภาคตะวันตกเฉียงเหนือมากกว่า) ตัว ก (K) มาจาก "แคชเมียร์" (Kashmir) ตัว ส (S) มาจาก "ซินด์หรือสินธุ์" (Sind) และถาน (Tan) มาจาก "บาลุชิสถาน" (Baluchistan) คำว่า "อี" ที่ตัว ก (K) มิได้ปรากฏว่ามาจากอะไร ถ้าหาก "ปากีสถาน" จะเขียนรูปภาษาอูรดู (Urdu) คำสังเคราะห์นี้ก็มีความหมายว่า "ดินแดนแห่งความบริสุทธิ์"

จากหนังสือบ่อเกิดลัทธิประเพณีอินเดีย เล่ม ๓ นี้ ได้ทำให้เราทราบว่า คำว่า "ปากีสถาน" มิใช่เกิดจากการนำคำว่า "ปากี" กับ "สถาน" มาต่อกัน หากแต่ละคำมีความหมายของมันอยู่ในตัว ดังเราจะทราบว่าดินแดนที่เป็นแคว้นแคชเมียร์นั้นเป็นดินแดนก็ก่อให้เกิดปัญหาระหว่างชาวอินเดียซึ่งส่วนมากนับถือศาสนาฮินดูกับชาวปากีสถานซึ่งส่วนมากนับถือศาสนาอิสลาม อยู่ตลอดมา แม้จนกระทั่งทุกวันนี้ การตั้งชื่อโดยนำคำย่อจากคำต่าง ๆ มาผสมกันได้เช่นนี้ นับว่าเป็นสิ่งที่ทำได้ยากยิ่ง แสดงให้เห็นว่า เชาทรี ราห์มัต อาลี แม้จะเป็นเพียงนักศึกษาคนหนึ่งเท่านั้น แต่ก็มีความคิดอ่านหลักแหลมมากสามารถตั้งชื่อประเทศเกิดใหม่ขึ้นมาได้ แม้แต่นักการเมืองคนสำคัญ ๆ ของมุสลิม เช่น ท่านจินนาห์ผู้ที่มีบทบาทในการกู้เอกราชของอินเดียคู่กับมากับท่านมหาตมา คานธี ก็ยอมรับ เพราะเป็นชื่อที่รวมเอาอักษรย่อของแคว้นต่าง ๆ มารวมกันได้อย่างน่าพิศวง ตอนแรกก็แยกเป็นปากีสถานตะวันตกกับปากีสถานตะวันออกก่อน ต่อมาปากีสถานตะวันออกก็แยกตัวออกจากปากีสถานตะวันตก ตั้งประเทศของตนขึ้นมาใหม่ที่เรียกกันว่า "บังกลาเทศ" ในปัจจุบันนี้นั่นเอง

ดังนั้นเมื่อพูดถึงคำว่า "ชมพูทวีป" แล้วก็อย่าลืมบวกเอาปากีสถาน บังกลาเทศ และเนปาลเข้าไว้ด้วย อย่าคิดว่า "ชมพูทวีป" ได้แก่ประเทศอินเดียเพียงประเทศเดียวเท่านั้น มิฉะนั้นจะทำให้คลาดเคลื่อนจากความจริงไปได้.
จำนงค์ ทองประเสริฐ
๔ พฤศจิกายน ๒๕๓๕
Back