Back

ชื่อวิสามานยนามกับสถานีวิทยุโทรทัศน์

ท่านที่สนใจข่าวกีฬาและการเมือง เมื่อชมรายการวิทยุโทรทัศน์ช่อง ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นช่อง ๓ ช่อง ๕ ช่อง ๗ หรือ ช่อง ๙ ก็ตาม มักจะพบการเขียนชื่อประเทศ เมืองหลวง และเมืองสำคัญต่าง ๆ ผิดเพี้ยนไปจากประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี และประกาศราชบัณฑิตยสถาน "เรื่องกำหนดชื่อทวีป ประเทศ เมืองหลวง มหาสมุทร ทะเล และเกาะ และเรื่อง การเขียนชื่อจังหวัด เขต อำเภอ และกิ่งอำเภอ" อยู่เสมอ อย่างเช่นข่าวเกี่ยวกับสถานการณ์ในรัสเซียเมื่อต้นเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๓๖ ระหว่างประธานาธิบดีบอริส เยลต์ซิน กับรัฐสภา ในมอสโกซึ่งเป็นเมืองหลวง ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์ช่องหนึ่งเขียนเป็น "มอสโคว์" ทั้ง ๆ ที่หนังสือพิมพ์ต่าง ๆ ก็ใช้ว่า "มอสโก" แม้แต่บทความในบัญชร "ซอยสวนพลู" ของท่านอาจารย์ พลตรี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ฉบับวันอังคารที่ ๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๓๖ ท่านก็ใช้ว่า "มอสโก" แต่สถานีวิทยุโทรทัศน์ของทางราชการแท้ ๆ กลับใช้เป็น "มอสโคว์" หรือในเวลาที่ดูรายการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเกมส์ หรือ เอเชียนเกมส์ เป็นต้น ทางสถานีโทรทัศน์ก็มักเขียนชื่อประเทศหรือเมือง ต่าง ๆ ผิดไปจากประกาศฯ ทั้ง ๒ ฉบับดังกล่าวแล้วอยู่เสมอ แสดงให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีความรับผิดชอบเกี่ยวกับเรื่องนี้มิได้มีความสนใจเกี่ยวกับประกาศของทางราชการเลย คล้าย ๆ กับมิได้ให้ความร่วมมือแก่ทางราชการ ทำตัวคล้าย ๆ รัฐสภาของรัสเซียที่เป็นกบฏต่อรัฐบาลรัสเซียฉะนั้น ผู้ที่ได้ดูได้ชมรายการทางโทรทัศน์ก็จะพลอยจำผิด ๆ ไปด้วย

เรื่องนี้ข้าพเจ้าเห็นว่าท่านอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์และหัวหน้าหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง ผู้อำนวยการ อ.ส.ม.ท. หรือ ผู้อำนวยการสถานีวิทยุโทรทัศน์ช่อง ๕ และ ช่อง ๗ ควรจะได้กวดขันในเรื่องการเขียนชื่อประเทศ ชื่อเมืองต่าง ๆ ให้ถูกต้องตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี และประกาศราชบัณฑิตยสถาน "เรื่อง กำหนดชื่อทวีป ประเทศ เมืองหลวง มหาสมุทร ทะเล และเกาะ" ด้วยไม่ใช่ใครอยากเขียนอย่างไรก็เขียนตามใจชอบตามภูมิรู้หรือความเข้าใจของตน จนมิได้สนใจประกาศของทางราชการเสียเลย ถ้าเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบขาดความรู้ความสนใจในประกาศของทางราชการแล้วใช้ภาษาผิด ๆ ออกไป ผู้ที่มีความรู้เขาก็เย้ยหยัน และผู้ไม่มีความรู้ก็จะจำคำผิด ๆ ไปใช้ ทำให้เกิดความสับสน ขาดเอกภาพในการใช้ภาษาได้ ความจริงประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีและประกาศราชบัณฑิตยสถาน "เรื่อง กำหนดชื่อทวีป ประเทศ เมืองหลวง มหาสมุทร ทะเล และ เกาะ" นั้น ราชบัณฑิตยสถานได้ร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศพิจารณาจัดทำมาโดยตลอด เวลาที่จะแก้ไขก็ต้องปรึกษาหารือกันเสมอ เช่น เมืองหลวงของประเทศอินเดีย เดิมใช้ "เดลฮี" เพราะถอดมาจากภาษาอังกฤษ Delhi ต่อมาก็เปลี่ยนเป็น "นิวเดลี" คำว่า "นิวเดลี" นี้ เมื่อข้าพเจ้าเดินทางกลับจากสหรัฐอเมริกาได้ไปแวะอินเดียเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๔ ได้พบว่าชื่อสถานีรถไฟเขาเขียนเป็นอักษรเทวนาครี อ่านได้ว่า "เดลลี" เพราะมี ล ซ้อนกัน ๒ ตัว คำว่า Norway สมัยก่อนเคยเขียนว่า "นอรเว" ที่ "เว" ไม่มี ย การันต์ ข้าพเจ้าเคยถามท่านอาจารย์เจริญ อินทรเกษตร อดีตเลขาธิการราชบัณฑิตยสถานว่าทำไมจึงไม่มี ย การันต์ ทั้ง ๆ ที่ภาษาอังกฤษมีตัว y อยู่ด้วย ท่านก็บอกว่าคำนี้กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร ทรงเคยใช้ว่า "นอรเว" มาก่อน จึงได้ใช้ตามนั้น ต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๐ ได้มีการปรับปรุงกันอีกครั้งหนึ่ง คำว่า "นอรเว" ก็เปลี่ยนเป็น "นอร์เวย์" คือที่ "เวย์" มี ย การันต์ด้วย แต่ที่ตัว "นอร" ซึ่งเราเคยออกเสียงว่า "นอ - ระ" ท่าน ก็การันต์ตัว ร ทำให้ต้องอ่านว่า "นอ - เว" คงจะให้สอดคล้องกับชื่อทะเล Norwegian ที่อยู่ติดต่อกับมหาสมุทรแอตแลนติก ซึ่งท่านถอดอักษรออกมาเป็น "นอร์วีเจียน" กระมัง ข้าพเจ้าเองก็ต้องพยายามอ่านและดูความเปลี่ยนแปลงของการเขียนชื่อประเทศและเมืองต่าง ๆ เช่นกันตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีและประกาศราชบัณฑิตยสถาน เกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่เสมอ เกรงว่าจะ เขียนผิด เพราะข้าพเจ้ามิได้เป็นกรรมการทำอักขรานุกรมภูมิศาสตร์ ของราชบัณฑิตยสถาน จึงต้องพยายามติดตามความเคลื่อนไหวอยู่ตลอดมา ในเวลาประชุมคณะบรรณาธิการสารานุกรมไทย และคณะบรรณาธิการสารานุกรมนักเรียนของราชบัณฑิตยสถาน เราก็ต้องพยายามให้เจ้าหน้าที่ระมัดระวังในการเขียนชื่อประเทศและเมืองต่าง ๆ ของโลกให้ถูกต้องอยู่เสมอ จึงขอถือโอกาสนี้ขอร้องให้ผู้ใหญ่ในกรมประชาสัมพันธ์และสถานีวิทยุโทรทัศน์ทุกแห่งช่วยกำชับและกวดขันเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องให้เขียนชื่อทวีป ประเทศ เมืองหลวง ตลอดจนมหาสมุทร ทะเลและเกาะต่าง ๆ ให้ถูกต้องตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี และประกาศราชบัณฑิตยสถาน "เรื่อง กำหนดชื่อทวีป ประเทศ เมืองหลวง มหาสมุทร ทะเล และเกาะ" ด้วย.

จำนงค์ ทองประเสริฐ
๖ ตุลาคม ๒๕๓๖
Back