Back
ช้างเผือก กับ นางงาม


ในสมัยโบราณถือว่า "ช้างเผือก" เป็นช้างที่แสดงบุญบารมีของพระมหากษัตริย์ ถ้าพระมหากษัตริย์พระองค์ใดมีช้างเผือกหลายช้างก็แสดงว่าพระมหากษัตริย์พระองค์นั้นทรงมีบุญญาบารมีสูงส่ง บางทีถึงกับเป็นเหตุทำให้เกิดสงครามชิงช้างเผือกกันก็มี ดังเช่นสงครามช้างเผือกในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าจักรพรรดิแห่งกรุงศรีอยุธยาเป็นต้น ซึ่งก็คงพอเทียบได้กับ "ช้างแก้ว" ของพระเจ้าจักรพรรดิตามคติความเชื่อถือของอินเดียนั่นเอง และสิ่งที่คู่กับ "ช้างเผือก" อีกอย่างหนึ่งก็คือ "นางงาม" ก็คงเป็นคติเดียวกันที่ว่าพระเจ้าจักรพรรดิจะต้องมี "นางแก้ว" นั่นเอง ในเรื่อง "ช้างเผือกกับนางงาม" นี้ ได้มีพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ซึ่งนับว่าน่าสนใจมาก ข้าพเจ้าขออัญเชิญพระราชนิพนธ์นั้นเพียงบางส่วนมาเสนอท่านผู้ฟังต่อไป

ในส่วนที่เกี่ยวกับ "ช้างเผือก" พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์ไว้ดังนี้

"มีคำเขียนในพระราชพงศาวดาร กล่าวเรื่องแผ่นดิน สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ เสวยราชสมบัติกรุงมหานครศรีอยุธยา ได้ช้างเผือกมา ๗ ช้าง ความทราบไปถึงกรุงหงสาวดี พระเจ้าหงสาวดีแต่งทูตให้มาขอทำไมตรีเป็นเมืองพี่เมืองน้อง จะไม่ทำศึกสงครามต่อไป แต่จะขอช้างเผือกช้างหนึ่ง ถ้าไม่ได้ช้างเผือกจะยกทัพมาทำสงครามใหญ่ ครั้งนั้นสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ทรงปรึกษาด้วยข้าราชการเป็นอันมากเห็นพร้อมกันว่า เมืองหงสาวดีมีอำนาจโตใหญ่ เป็นแดนมากของทัพศึกสำคัญ จะสู้รบเป็นโดยอันยาก ก็ครั้งนี้มีช่องมีคราวที่จะไกล่เกลี่ยเป็นไมตรี ก็ช้างเผือกของเรามีถึง ๗ ช้าง ควรจะยกให้พระเจ้าหงสาวดีไปเสียช้างหนึ่งระงับทัพศึกสงครามให้สงบหาย ให้บ้านเมืองเป็นสุขสนุกสบายไปแล้ว ถ้าบุญของเรายังมี ช้างโขลงในป่ามีถมไป อุตส่าห์ค้นคว้าไป ก็คงจะได้มาอีกสักช้างหนึ่ง มาเพิ่มเติมให้เต็ม ๗ ช้างดังเก่า เมื่อสมเด็จพระจักรพรรดิทรงพระราชดำริ พร้อมด้วยความคิดข้าราชการเป็นอันมากดังนี้ จึงสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ พระราเมศวร ๑ เจ้าพระยาจักรี ๑ พระสุนทรสงคราม ผู้สำเร็จราชการเมืองสุพรรณบุรี ๑ ทั้งสามนี้ไม่ยอมตามพระราชดำริและความคิดท่านทั้งหลายทั้งปวง กราบทูลว่า ช้างเผือก ๗ ช้างที่ได้มานั้นเป็นนิมิตเป็นเหตุให้เห็นว่าพระบารมีครั้งนี้โตใหญ่ พระเจ้าหงสาวดียกทัพมาครั้งก่อนจนศึกเข้าติดประชิดพระนครแล้วเอาชัยชนะก็มิได้ ต้องล่าทัพกลับคืนไปก็เพราะพระบารมี ภายหลังได้ช้างเผือกมา ๗ ช้างดังนี้ จนพระเจ้าหงสาวดีต้องกลับมาของ้อ ก็เป็นเหตุให้เห็นว่าพระบารมีจะใหญ่โต พระเจ้าหงสาวดีเห็นจะสู้ไม่ได้ ถ้าพระราชทานช้างไปด้วยเกรงใจพระเจ้าหงสาวดี ก็จะเป็นที่เห็นว่าตัดรอนพระบารมีของพระองค์เองให้เสื่อมทรามลง ถ้าแม้นพระเจ้าหงสาวดี ด้วยเหตุที่ไม่ได้ช้างจะยกกองทัพมาแล้ว ข้าพเจ้าทั้งสามจะขอรับอาสาฉลองพระเดชพระคุณ เอาชีวิตเป็นแดนต่อสู้กำชัยชนะให้จงได้..." คงจะเป็นเพราะวาทะในตอนท้ายที่ว่า "ก็จะเป็นที่เห็นว่าตัดรอนพระบารมีของพระองค์เองให้เสื่อมทรามลง" นี้เอง ทำให้พระเจ้าจักรพรรดิทรงเกิดขัตติยมานะ และทรงเห็นด้วยกับพระราเมศวร เจ้าพระยาจักรี และพระสุนทรสงคราม ซึ่งเป็นฝ่ายข้างน้อย จึงไม่พระราชทานช้างเผือกให้แก่พระเจ้าหงสาวดี และในที่สุดก็เกิดสงคราม ซึ่งเราเรียกกันว่า "สงครามช้างเผือก" ทั้งนี้เพราะมีช้างเผือกเป็นต้นเหตุให้เกิดสงครามนั่นเอง

ในส่วนที่เกี่ยวกับ "นางงาม" พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ตอนหนึ่งดังนี้

"ว่าถึงนางรูปงามก็เป็นที่เกี่ยงกันว่าคนนั้นดีกว่าคนนี้ คนนี้ดีกว่าคนนั้นดีกว่าคนโน้น จะเป็นปากหนึ่งปากเดียวกันลงเป็นแน่เหมือนช้างเผือกไม่ได้ เพราะไม่มีลักษณะอันใดเป็นที่สังเกต เมียใคร ๆ ก็ว่าดี ถึงกระนั้นจะว่าแต่ด้วยของในหลวง ก็เป็นที่เห็นพร้อมกันที่ดูพร้อมกันก็แต่ละครผู้หญิง เป็นของมีสำหรับแผ่นดินทุกแผ่นดินมา เว้นไว้แต่แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ตัวพระเอกนางเอกในโรงละครหลวงนั้น ก็คนทั้งปวงเป็นอันมากมายอมพร้อมกัน เห็นว่านางใดดีกว่านางอื่นแล้วจึงเลือกสรรให้เป็นพระเอกนางเอก ก็ได้ออกโรงเป็นที่เห็นของคนเป็นอันมาก ถึงกระนั้นก็เถียง ๆ กันอยู่ ในแผ่นดินเจ้ากรุงธนบุรี มีเล่าลือกันว่างามมากอยู่สามนาง เรียกว่า บุนนาคสีดา ภู่สีดา ศรีสีดา ครั้นเมื่อเกินแผ่นดินกรุงธนบุรีแล้ว บุนนาคสีดาทำราชการฉลองพระเดชพระคุณในพระบรมมหาราชวัง โปรดปรานพระราชทานเบี้ยหวัดถึงปีละ ๑๐ ชั่ง ทั้งเป็นเจ้าจอมตัวเปล่า ไม่มีพระองค์เจ้าและชาติกระกูลก็หาไม่ ทราบว่า บิดาเป็นจีน มารดาเป็นญวน หาได้เป็นข้าราชการตำแหน่งใดไม่ แต่จะดี อย่างไรจึงเล่าจึงลือจึงโปรดปรานหนักหนา ก็ไม่ทราบเลย ได้เห็นเมื่อชราแล้ว เอาเป็นแน่ไม่ได้ ภู่สีดานั้นทราบว่าเป็นบุตรวิเศษพระราชทานไปพระบวรราชวัง มารดาตกเป็นวิเศษปากบาตร ในพระบวรราชวัง สมคบอ้ายสองคนปลอมแปลงเป็นหญิงวิเศษเข้าไปในพระบวรราชวัง เกิดความขึ้น ชำระไปได้ความว่า จะยอมยกภู่สีดาให้เป็นพระมเหสีของอ้ายคนร้าย ภู่สีดากับมารดาต้องรับพระราชทานโทษถึงตาย หาได้เห็นตัวว่าอย่างใดไม่ แต่ศรีสีดานั้นพระราชทานไปตามคู่ตุนาหงัน เดิมก็ได้ยินว่าโปรดปรานมาก แต่เมื่อได้เห็นตัวนั้น เป็นผู้ใหญ่มีพระองค์เจ้าแล้วถึงสองพระองค์ รูปพรรณแปรปรวนอ้วนพี..."

ศรีสีดาผู้นี้ คือ เจ้าจอมมารดาศรี (ซึ่งเรียกกันว่า เจ้าคุณพี่) เป็น เจ้าจอมมารดาพระองค์เจ้าจักรจั่น และพระองค์เจ้าบุปผา ในรัชกาลที่ ๒ เป็นธิดาเจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช (บุญรอด ต้นสกุล บุณยรัตนพันธุ์)

ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า และ แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ก็มี "นางงาม" หรือ "นางเอก" เช่นเดียวกัน.

จำนงค์ ทองประเสริฐ
๓ พฤศจิกายน๒๕๓๔
Back