Back

ซีกวงเดือน - เสี้ยววงเดือน

ประเทศไทยเพิ่งจัดงานฉลองครบรอบ ๑๐๐ ปี สภากาชาดไทยเมื่อเร็ว ๆ นี้ ในปีนี้ ปรากฏว่าประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซียนก็ได้รวมพิธีด้วย โดยการนำธงสัญลักษณ์ของสภากาชาดเดินทางจากประเทศอินโดนีเซียมายังสิงคโปร์ มาเลเซียแล้วก็เข้าสู่ภาคใต้ของประเทศไทย แต่เป็นที่น่าสังเกตก็ตรงที่ธงกาชาด สากลนั้นมีทั้งรูปกากบาทสีแดงอย่างที่เราคุ้นตากันอยู่ พร้อมกันนั้นก็มีรูปพระจันทร์เสี้ยวสีแดงอยู่ข้างล่างอีก และเราก็คงได้ยินผู้บรรยายทางสถานีวิทยุโทรทัศน์ใช้คำว่า "ซีกวงเดือนแดง" ข้าพเจ้าเองก็สงสัยว่าทำไมจึงเรียก "ซีกวงเดือน" ทั้ง ๆ ที่ภาพที่เห็นเป็น "เสี้ยววงเดือน" มากกว่า

คำว่า "ซีก" พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ได้ให้บทนิยามไว้ดังนี้ "น. ส่วนที่ผ่าครึ่ง, ส่วนของบางสิ่งบางอย่าง เช่น ไม่ไผ่หรือแตงโมที่ผาออกโดยปรกติตามยาว, โดยปริยายหมายความว่า ด้าน, ส่วน, เช่น ร่างกายตายไปซีกหนึ่ง ปลาทูซีกนี้; ลักษณนามเรียกส่วนที่แยกออกนั้น เช่น มะม่วงซีกหนึ่ง แตงโม ๒ ซีก ; ใช้สำหรับมาตราเงินโบราณเท่ากับ ๑.๒ ของเฟื้อง" ส่วนคำว่า "เสี้ยว" พจนานุกรม ได้ให้บทนิยามไว้ดังนี้ "น. ส่วน ๑ ใน ๔, ส่วนย่อย, ว. เฉ, ไม่ตรง."

เมื่อพิจารณาบทนิยามนี้แล้วก็จะเห็นได้ว่า "ซีก" กับ "เสี้ยว" มีความหมายต่างกัน เวลาที่ข้าพเจ้าสอนเกี่ยวกับเรื่องศาสนาก็มักจะพูดถึงเครื่องหมายของศาสนาอิสลามที่เราเห็นอยู่ตามยอดสุเหร่าหรือมัสยิดว่า "พระจันทร์เสี้ยวกับดวงดาว" เราไม่ได้ใช้คำว่า "พระจันทร์ซีก" เลย

นอกจากนั้นบางคนก็สงสัยว่าทำไมสัญลักษณ์กาชาดจึงต้องมี "พระจันทร์เสี้ยว" ด้วยและบางคนก็ปรารถนาจะทราบความเป็นมาของสภากาชาดที่ว่าครบ ๑๐๐ ปีนั้น มีความเป็นมาอย่างไร

ในฐานะที่ข้าพเจ้าเป็นบรรณาธิการผู้หนึ่งในคณะบรรณาธิการสารานุกรมนักเรียนของราชบัณฑิตยสถาน ได้มีโอกาสตรวจเรื่อง "กาชาด" ของนางสาวณัฐกาญจน์ ทรัพย์งาม หัวหน้าข่าวและบริการ แผนกประชาสัมพันธ์ สำนักงานกองสภากาชาดไทย เห็นว่ามีประโยชน์มาก จึงขอนำข้อความบางตอนเกี่ยวกับความเป็นมาของสภากาชาดไทยมาช่วยเผยแพร่ต่อไปดังนี้

"กาชาดเกิดจากแนวความคิดของนายอังรี ดูนังต์ (Henry Dunant) ชาวสวิส อังรี ดูนังต์ เกิดเมื่อวันที่ ๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๓๗๑ ณ กรุงเจนีวา ในครอบครัวผู้มีฐานะดีและตระกูลสูง ดูนังต์เป็นนักท่องเที่ยว เขาได้เดินทางไปแสวงหาโชคลาภในทวีปแอฟริกาเหนือ และผ่านไปทางภาคเหนือของอิตาลีที่หมู่บ้านซอลเฟริโน ได้เห็นการสู้รบกันระหว่างทหารฝรั่งเศส ซึ่งช่วยอิตาลีรบกับออสเตรีย ทหารประมาณ ๔๐๐,๐๐๐ คนต่อสู้กัน มีทหารประมาณ ๔๐,๐๐๐ คน บาดเจ็บ ล้มตายเกลื่อนกลาดสนามรบ โดยไม่มีผู้ใดช่วยเหลือรักษาพยาบาล ดูนังต์ได้ลงมือช่วยเหลือผู้บาดเจ็บด้วยตนเอง และขอร้องหญิงชาวบ้านในท้องถิ่นนั้นให้มาช่วยด้วย ประสบการณ์อันสยดสยองนี้ทำให้ดูนังต์เกิดแรงบันดาลใจเขียนหนังสือ "ความทรงจำเรื่องที่ซอลเฟริโน" ขึ้น และกล่าวในตอนหนึ่งเป็นเชิงรำพึงว่า "จะเป็นไปไม่ได้หรือที่จะตั้งองค์การอาสาสมัครซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือดูแลทหารบาดเจ็บในสงคราม"

"จากแนวความคิดของดูนังต์ ได้มีการจัดตั้ง "คณะกรรมการระหว่างประเทศเพื่อบรรเทาทุกข์ทหารบาดเจ็บ" เมื่อวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๐๖ คณะกรรมการชุดนี้ปัจจุบันคือ คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (International Committee of the Red Cross หรือ ICRC) ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางเมื่อเกิดการขัดแย้งหรือความไม่สงบ หรือสงครามกลางเมืองหรือสงครามระหว่างประเทศ

"สัญลักษณ์ของกาชาด คือ เครื่องหมายกากบาทแดง อันเป็นการให้เกียรติแก่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของกาชาด เครื่องหมายนี้แทนที่เป็นกากบาทขาวบนพื้นแดงซึ่งเป็นธงของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ แต่กลับกันเป็นกากบาทแดงบนพื้นขาว และเพื่อป้องกันการเข้าใจผิดว่าเครื่องหมายกากบาทมีความสำคัญทางศาสนาคริสต์ อนุสัญญาเจนีวาจึงอนุมัติให้ประชากรมุสลิมใช้เครื่องหมายซีกวงเดือนแดงเป็นสัญลักษณ์ของกาชาดแทนกากบาทแดง ดังนั้นกาชาดของประเทศที่ใช้เครื่องหมายกากบาทแดงจึงเรียกว่า สภากาชาด และกาชาดของประเทศที่ประชากรเป็นมุสลิม เรียกว่า สภาซีกวงเดือนแดง ทั่วโลกได้ถือวันที่ ๘ พฤษภาคม ซึ่งเป็นวันเกิดของอังรี ดูนังต์ เป็นวันที่ระลึกกาชาดสากลหรือวันกาชาดโลก"

คงจะเป็นเพราะสภากาชาดไทยใช้คำว่า "สภาซีกวงเดือนแดง" นี้เอง จึงทำให้เกิดคำที่ไม่ถูกต้องกับความหมายเดิม น่าจะเรียกว่า "สภาเสี้ยววงเดือนแดง" มากกว่า

ส่วนสภากาชาดไทยเริ่มขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๖ (ร.ศ. ๑๑๒) ซึ่งเป็นปีที่เกิดกรณีพิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศส ท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์ ภริยาเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ มีความเห็นว่าน่าจะมีองค์การเพื่อช่วยบรรเทาทุกข์ในลักษณะเช่นนี้ขึ้น จึงได้กราบบังคมทูลสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี ขอให้ทรงเป็น "ชนนีผู้บำรุง" คือองค์อุปถัมภ์ในการจัดตั้งองค์การบรรเทาทุกข์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพอพระราชหฤทัยในความคิดนี้จึงได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดตั้งองค์การดังกล่าว เมื่อวันที่ ๒๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๓๖ โดยใช้ชื่อว่า "สภาอุณาโลมแดง" ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น "สภากาชาดสยาม" และ "สภากาชาดไทย" ตามลำดับ.

จำนงค์ ทองประเสริฐ
๕ พฤษภาคม ๒๕๓๖
Back