Back
ถวายชัยมงคล


ในวันสำคัญ ๆ เช่นวันขึ้นปีใหม่ วันเฉลิมพระชนมพรรษา ทางราชการมักจะประกาศเชิญชวนข้าราชการและประชาชนไปลงนาม "ถวายพระพร" อยู่เสมอมา ได้เคยมีผู้วิพากษ์วิจารณ์ว่า การที่เราไปลงนาม "ถวายพระพร" นั้นถูกต้องแล้วหรือ คำว่า "ถวายพระพร" น่าจะเป็นคำที่พระสงฆ์ใช้กับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หรือสมเด็จพระบรมราชินีมากกว่า ถ้าจะไม่ใช้คำว่า "ถวายพระพร" จะใช้คำว่าอะไร บางท่านก็บอกว่า "ถวายพระพรชัยมงคล" กันเต็มที่เลย ข้าพเจ้าได้อ่านพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ชื่อ "การประชุมพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการถวายชัยมงคล" แล้วเห็นว่าน่าสนใจมาก จึงขออัญเชิญพระราชนิพนธ์นั้นมาเสนอท่านผู้ฟังต่อไปนี้

"ธรรมเนียมนี้ได้เกิดมีขึ้นเมื่อเฉลิมพระชนมพรรษาใหญ่ ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ปีชวด ฉศก ๑๒๒๖ นั้น เสด็จพระราชดำเนินออกบนพระที่นั่งเศวตฉัตร พระที่นั่งอนันตสมาคมอย่างแขกเมืองใหญ่ ฝ่ายพระบรมวงศานุวงศ์ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนนรานุชิต เป็นผู้ทรงอ่านคำถวายชัยมงคล ฝ่ายข้าราชการ เจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (นามเดิม บุญศรี ต้นสกุล บุรณศิริ) ซึ่งยังเป็นเจ้าพระยาธรรมาธิกรณ์ เป็นผู้อ่าน ด้วยท่านทั้ง ๒ นี้เป็นผู้มีชนมายุมากกว่าพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการทั้งปวง เมื่อเจ้านายอ่านคำถวายชัยมงคลแล้ว ถวายบังคม ๓ ครั้งเหมือนอย่างขุนนาง เป็นครั้งแรกที่ข้าพเจ้าได้เคยเห็น ข้าราชการก็เหมือน กัน แต่ไม่มีพระราชดำรัสอันใด เป็นแต่พระราชทานพรย่อ ๆ เล็กน้อยแล้วก็เสด็จขึ้นในเวลาประชุมใหญ่นั้น พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่ได้เสด็จลงมา เพราะเป็นเวลาทรงพระประชวรอยู่ข้างจะซูบผอมมากอยู่แล้ว แต่ครั้นเวลาเย็นทรงพระอุตสาหะเสด็จลงมา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ไม่ทรงทราบ เวลานั้นข้าราชการก็ไม่รู้มีใคร ข้าพเจ้าเดินดูเครื่องตกแต่งในพระที่นั่งอนันตสมาคมอยู่ไม่ทันรู้ตัว เสด็จขึ้นมาจับศีรษะสั่น เหลียวหลังไปจึงเห็น ตกใจเป็นกำลัง รับสั่งให้เข้าไปกราบทูลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินออกมา พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าถวายของและถวายชัยมงคล ครู่หนึ่งก็เสด็จกลับด้วยไม่ทรงสบาย ดูเหมือนจะเป็นครั้งที่สุดที่ได้เสด็จลงมาพระบรมมหาราชวังในเวลานั้น คนต่างประเทศก็มีถวายชัยมงคลเหมือนกัน แต่เป็นคนละเวลากับข้าราชการ ไม่ได้เสด็จขึ้นพระที่นั่งและไม่สู้จะเป็นการพรักพร้อมกันครั้งเดียวนัก

"อนึ่ง ในการเฉลิมพระชนมพรรษานี้ มีการปล่อยปลาตามแบบเฉลิมพระชนมพรรษา ครั้งปีชวด ฉศก ๑๒๒๖ เป็นราคาวันละ ๑๖ ตำลึง กรมวังทูลถวายพระราชกุศลตามแบบ

"ในวันที่ ๒๑ มียิงปืนใหญ่สลุต ทั้งทหารบกและเรือรบซึ่งจอดรายอยู่ในลำน้ำ แต่ก่อนมาใช้เวลาละ ๒๑ นัด ยิงเวลาเช้า ๒ โมง เวลาเที่ยง เวลาบ่าย ๕ โมง ตั้งแต่ปีมะเมีย จัตวาศก ๑๒๔๔ (พ.ศ. ๒๔๒๕) ปีรัตนโกสินทร์ศก ๑๐๐ จึงได้ยิงถัวกัน ๓ เวลา ครบ ๑๐๑ นัด

"การแต่งประทีปในพระบรมราชวังเป็น ๕ คืน แต่ข้างนอกแต่ง ๓ คืน เพราะการที่แต่งประทีปไม่ได้เป็นการกะเกณฑ์ ผู้ที่ตกแต่งก็อยากจะได้ถวายตัวให้ทอดพระเนตร จึงได้เสด็จพระราชดำเนินประพาสตามลำน้ำในเวลากลางคืน วันที่ ๒๑ ทุกปีเสมอมิได้ขาด กระบวนเสด็จพระราชดำเนินนั้นใช้เรือไฟลำเล็ก ๆ แล่นขึ้นไปเหนือน้ำก่อนแล้วจึงได้ล่องลงไปข้างล่าง เมื่อเสด็จพระราชดำเนินถึงหน้าบ้าน หน้าห้างใหญ่ ๆ บางรายก็จุดพลุแทนปืนสลุต ๒๑ นัดบ้าง จุดพุ่มพระเนียงกรวดตะไลดอกไม้เทียนต่างสีบ้าง ตามแต่ผู้ใดจะหาได้ เป็นการแสดงความชื่นชมยินดี

"และในวันที่ ๒๑ นั้น พระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี เมื่อยังว่าการต่างประเทศ จัดการเชิญคนต่างประเทศประชุมเต้นรำที่บ้านให้เป็นการเฉลิม พระชนมพรรษาขึ้น เมื่อทรงทราบจึงได้พระราชทานเงินทุน ในการที่จะใช้จ่ายนั้นให้ ต่อมาก็มีการเต้นรำเช่นนั้นเสมอมาทุกปี เมื่อเสด็จพระราชดำเนินกลับขึ้นมาแต่ลำแม่น้ำ ก็หยุดประทับที่ศาลาว่าการต่างประเทศ ให้คนต่างประเทศได้เฝ้าครู่หนึ่ง แล้วจึงเสด็จคืนพระบรมมหาราชวัง ครั้นเมื่อพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทวะวงศ์วโรประการว่าการต่างประเทศ ย้ายการเต้นรำมาที่วังสราญรมย์ การเสด็จพระราชดำเนินประพาสลำน้ำคงอยู่ต่อ เมื่อเสด็จพระราชดำเนินกลับแล้ว จึงได้เสด็จพระราชดำเนินประพาสทางบก ประทับที่วังสราญรมย์ให้คนต่างประเทศเฝ้าเหมือนแต่ก่อน

"การเฉลิมพระชนมพรรษานี้ จะว่าให้ละเอียดเป็นแน่นอนไปทีเดียวไม่ได้ ด้วยการยังเป็นปัจจุบันแท้ มีลักษณะที่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลสมัยเป็นคราว ๆ เมื่อก่อนมา แรกที่จัดตั้งมิวเซียมขึ้นที่ศัลลักษณสถาน (คือตึกใหญ่หน้าประตูพิมานไชยศรี ต่อมาเป็นหอพระสมุดอยู่คราวหนึ่ง และบัดนี้เป็นศาลาหทัยสมาคม) ในการเฉลิมพระชนมพรรษาก็เปิดให้ราษฎรมาดู ราษฎรพากันมาดูวันหนึ่งหลาย ๆ พันคนจนกว่าจะแล้วงานนับด้วยหมื่น ได้เปิดมาหลายปี ครั้นเมื่อจัดการยักย้ายไปอย่างอื่น ก็ไม่ได้เปิดการพระราชกุศลที่เป็นวิเศษ บางปีก็มีตามกาลสมัย คือเวลาข้าวแพง พระราชทานข้าวสารองค์ละถัง และปลาเค็มแก่พระสงฆ์ทั่วทั้งแขวงจังหวัดกรุงเทพฯ เวลาที่ตั้งพระราชบัญญัติพิกัดเกษียณอายุ ก็จ่ายพระราชทรัพย์พระคลังข้างที่ออกช่วยทาสปล่อยให้เป็นไทยหลายสิบคน เวลาเมื่อเสด็จพระ ราชดำเนินประพาสเกาะสีชังซึ่งเป็นที่คนป่วยไข้ออกไปอยู่รักษาตัว ก็บริจาค พระราชทรัพย์พระคลังข้างที่พระราชทานให้สร้างอาศัยสถาน สำหรับคนป่วยได้ออกไปอยู่เปลี่ยนลมอากาศ การเหล่านี้มีพิเศษเปลี่ยนแปลงกันไปไม่เสมอทุกปี และไม่เหมือนกันทุกครั้ง จึงไม่ว่าลงเป็นแบบใดแน่."

จากพระราชนิพนธ์นี้ทำให้ทราบว่า การ "ถวายพระพรชัย" หรือ "ถวายพระพรชัยมงคล" ที่เราใช้กันอยู่นั้น ที่ถูกควรจะใช้ว่า "ถวายชัยมงคล" เท่านั้น.


จำนงค์ ทองประเสริฐ
๑๖ กรกฎาคม๒๕๓๔
Back