Back

ทรงพระประชวร - ทรงประชวร


คำราชาศัพท์ที่ยังใช้กันสับสนคำหนึ่งในหลาย ๆ คำ ก็คือ คำว่า "ประชวร" ข้าพเจ้าได้อ่าน น.ส.พ. สยามรัฐ ฉบับประจำวันพุธที่ ๒๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๓๖ ในบัญชร "โลกที่เลือกไม่ได้" โดย ไชยวัฒน์ ยนเปี่ยม ในหัว เรื่องว่า "ญี่ปุ่น : สื่อมวลชนกับสำนักพระราชวัง" มีเรื่องเกี่ยวกับสมเด็จพระจักรพรรดินีมิชิโกะ ดังนี้

"ข่าวเกรียวกราวชิ้นหนึ่งที่เกิดขึ้นจากพระราชวังอิมพีเรียลในญี่ปุ่นเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ได้แก่ พระอาการประชวรกะทันหันของสมเด็จพระจักรพรรดินี มิชิโกะ โดยทรงเป็นลมหลังจากตรัสกับพระจักพรรดิอากิฮิโตแล้ว ไม่สามารถรับสั่งอะไรได้ในพระราชวังอิมพิเรียล เหตุเกิดขณะที่มีพระราชพิธีเมื่อวันเฉลิมพระชนมพรรษาครบ ๕๙ พรรษาของพระองค์ ทำให้พระราชพิธีต้องดำเนินต่อไปโดยไม่มีพระจักรพรรดินีทรงร่วมด้วย

"เหตุประชวรครั้งนี้ทำให้สมเด็จพระจักรพรรดินีต้องงดหมายกำหนดการที่จะเสด็จเยือนทางตอนใต้ของญี่ปุ่น และทางเจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังแจ้งว่า พระอาการประชวรของสมเด็จพระจักรพรรดินีไม่รุนแรงนัก แม้ว่าพระอาการของสมเด็จพระจักรพรรดินีจะค่อย ๆ ทรงดีขึ้น แต่กระนั้นพระองค์ก็ยังรับสั่งไม่ได้อยู่หลายวันต่อมา

"การทรงประชวรของสมเด็จพระจักรพรรดินีดังกล่าว ปรากฏว่าทำให้ประชาชนชาวญี่ปุ่นขณะนี้กำลังโจษจันกันทั่วไป มีการกล่าวกันว่า สมเด็จ พระจักรพรรดินีมิชิโกะทรงประชวรเพราะพระโรคลมปัจจุบัน แต่ทางสำนักพระราชวังยืนยันว่าไม่ใช่ และแถลงอ้างว่า พระองค์แค่ทรงอ่อนเพลียเท่านั้น..."

ในตอนสุดท้ายแห่งข่าวนี้ได้กล่าวว่า

"เมื่อ ๕ ปีก่อน สำนักพระราชวังญี่ปุ่นก็เคยแถลงปฏิเสธอยู่หลายเดือนว่า สมเด็จพระจักรพรรดิฮิโรฮิโตมีได้ทรงมีพระประชวรด้วยพระโรคมะเร็ง แต่สำนักพระราชวังก็มายอมรับเอาว่า ทรงพระประชวรด้วยพระโรคนี้จริงเอาต่อเมื่อสมเด็จพระจักรพรรดิเสด็จสวรรคตแล้ว"

ในข่าวนี้มีคำว่า "ประชวร" ทั้งที่ใช้เป็นคำนามและคำกริยาหลายแห่ง คือ พระอาการประชวร การทรงประชวร ทรงประชวร ทรงมีพระประชวร และทรงพระประชวร โดยเฉพาะคำกริยาที่ว่า "ทรงประชวร ทรงมีพระประชวร ทรงพระประชวร" นั้น ควรจะใช้คำใดจึงจะถูกต้อง

ต่อมาข้าพเจ้าได้อ่านบทความของ พลตรี หม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ ปราโมช ในบัญชร "ซอยสวนพลู" ในหนังสือพิมพ์สยามรัฐ ฉบับประจำวันอังคารที่ ๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๖ ก็มีเรื่องเกี่ยวกับวันเฉลิมพระชนมพรรษาและการประชวรของสมเด็จพระเจ้านโรดมสีหนุ พระเจ้ากรุงกัมพูชา มีความที่น่าสนใจหลายตอนดังนี้

"แต่งานเฉลิมพระชนมพรรษาในกรุงพนมเปญนี้ ขาดบุคคลสำคัญยิ่งไปพระองค์หนึ่ง คือ องค์สมเด็จพระเจ้าสีหนุนั่นเอง ผู้ซึ่งกำลังพระประชวรอยู่ที่กรุงปักกิ่ง ไม่สามารถจะเสด็จมายังกรุงพนมเปญในการฉลองเฉลิมนี้ได้

"สมเด็จพระเจ้าสีหนุ ได้เริ่มทรงมีพระอาการประชวรมาตั้งแต่เดือนกันยายนที่แล้ว และนายแพทย์ที่กรุงปักกิ่งได้ตรวจพระอาการแล้ว บอกว่าทรงเป็นเนื้องอกที่ต่อมลูกหมาก ซึ่งเป็นพระอาการประชวรที่พอจะผ่าตัดได้

"นายแพทย์จีนก็ได้ผ่าตัดตรงที่ประชวร และมีพระอาการทุเลาขึ้น แต่ยังจะต้องรักษาต่อไปด้วยการรักษาทางเคมีจนกว่าจะหายพระประชวร เป็นปกติ..."

อีกตอนหนึ่งได้กล่าวไว้ว่า

"แต่อาการพระประชวรของสมเด็จพระเจ้าสีหนุก็ยังไม่หาย จะทุเลาลงเพียงใด ก็ไม่มีใครทราบ..."

และอีกตอนหนึ่งได้กล่าวว่า

"อย่างไรก็ตาม สมเด็จพระเจ้าสีหนุ ถึงปีนี้มีพระชนมพรรษา ๗๒ พรรษาเข้าไปแล้ว ถ้าจะว่าไป ก็เรียกได้ว่าค่อนข้างจะทรงพระชรา..."

ที่ข้าพเจ้าได้ยกข้อความที่เกี่ยวกับการประชวรของสมเด็จพระจักรพรรดินีมิชิโกะและของสมเด็จพระเจ้าสีหนุมากล่าวถึงในที่นี้ ก็เพราะเห็นว่าการใช้ราชาศัพท์เกี่ยวกับคำว่า "ประชวร" ของคุณไชยวัฒน์ ยนเปี่ยม กับของพลตรี หม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ ปราโมช นั้นต่างกันอยู่บ้าง โดยเฉพาะที่ใช้เป็นคำกริยา คือของคุณไชยวัฒน์ ยนเปี่ยม ที่เป็นกริยา มีทั้ง "ทรงประชวร" "ทรงมีพระประชวร" และ "ทรงพระประชวร" ที่เป็นคำนามก็ใช้ "พระอาการประชวร" และ "การทรงประชวร" ส่วนของหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่เป็นกริยาก็มี กำลัง"พระประชวร" "หายพระประชวร" และที่เป็นนามก็ใช้ "พระอาการประชวร" โดยเฉพาะคำว่า "ประชวร" คำเดียวก็เป็นคำกริยาราชาศัพท์อยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องมี "ทรง" นำหน้า ถ้าหากจะทำกริยาราชาศัพท์ให้มี "ทรง" นำหน้า ท่านผู้ใหญ่ท่านก็บอกว่าให้ทำกริยาราชาศัพท์ให้เป็นคำนามเสียก่อน เช่นคำว่า "สรวล, ประชวร, ผนวช" คำเหล่านี้เป็นราชาศัพท์อยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องมี "ทรง" นำหน้า แต่เราก็มักได้พบคำว่า "ทรงผนวช" อยู่เสมอ จนเกือบจะเรียกว่าใช้กันเป็นปรกติไปแล้ว ผู้ใหญ่ในสำนักพระราชวังท่านหนึ่งซึ่งได้ถึงแก่อนิจกรรมไปแล้ว ท่านเคยบอกว่า ถ้าจะใช้ "ทรง" นำหน้า "ผนวช" ก็ควรทำคำว่า "ผนวช" ซึ่งเป็นคำกริยาให้เป็นคำนามก่อน โดยเติมคำว่า "พระ" ไว้ข้างหน้า แล้วเติมคำว่า "ทรง" หน้าคำว่า "พระ" เป็น "ทรงพระผนวช" คำว่า "ประชวร, สรวล" ก็ทำนองเดียวกัน คือ ถ้าจะเติม "ทรง" ข้างหน้าก็ต้องทำให้เป็นคำนามก่อน คือ ใช้ว่า "ทรงพระประชวร, ทรงพระสรวล" ทำนองเดียวกันคำว่า "ทรงพระชรา" ที่พลตรี หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ท่านใช้ในบทความของท่านนั่นแหละ ส่วนที่เป็นอาการเจ็บไข้ได้ป่วย ในบทความของพลตรี หม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ ปราโมช มีทั้ง "พระอาการประชวร" และ "อาการพระประชวร" ปัญหาก็อยู่ที่ว่าควรจะใช้คำใด ข้าพเจ้าเห็นว่าน่าจะใช้ได้ทั้ง ๒ คำ แต่คำว่า "พระอาการประชวร" จะนิยมใช้มากกว่า เพราะบางทีเราก็อาจถามว่า "พระอาการเป็นอย่างไรบ้าง ?" เป็นการทำ "อาการประชวร" ให้เป็นราชาศัพท์ทั้งคำเลย ถ้าใช้ "อาการพระประชวร" ก็เป็นราชาศัพท์เฉพาะ "ประชวร" เท่านั้น คือทำกริยาราชาศัพท์ให้เป็นคำนามราชาศัพท์

เรื่อง "ราชาศัพท์" เป็นเรื่องละเอียดอ่อน เวลาใช้เข้าจริง ๆ บางทีก็ทำให้สับสนได้มากเหมือนกัน สำหรับคนที่มิได้ใช้คำราชาศัพท์เป็นปรกติ ซึ่งก็นับว่าน่าเห็นใจมาก.

จำนงค์ ทองประเสริฐ
๓ พฤศจิกายน ๒๕๓๖
Back