Back
ทำไมจึงเลิกใช้ ฃ (ขวด) และ ฅ (คน)


วันนี้ข้าพเจ้าขอนำเรื่องการเลิกใช้ ฃ (ขวด) และ ฅ (คน) มาเสนอท่านผู้ฟังเพื่อให้เรื่องราวต่อเนื่องกับเรื่อง ฃ และ ฅ ที่ได้กล่าวมาแล้ว เพราะมีบางคนเข้าใจว่าได้มีการประกาศยกเลิกใช้ ฃ และ ฅ อย่างเป็นทางการ เพราะในหนังสือปทานุกรม ฉบับกรมตำรา กระทรวงธรรมการ พ.ศ. ๒๔๗๐ ได้กล่าวถึง ฃ (ขวด) และ ฅ (คน) ไว้ดังนี้

"ฃ พยัญชนะตัวที่สามในพยัญชนะไทย, นับเป็นพวกอักษรสูง, เรียกชื่อว่า "ขอเขตต์" หรือ "ขอขวด" เข้าในพวกกัณฐชะ (เกิดจากคอ) ใช้เป็นตัวสะกดในมาตรากักได้ บางท่านกล่าวว่าตั้งขึ้นแทนตัว กษ ในภาษาสันสกฤต ซึ่งเขาอ่านควบเป็นเสียงตัวเดียวกัน, ถึงรูปร่างก็น่าจะกลายมาจากอักษร กษ ซึ่งเขียนหวัดติดกัน, สำหรับใช้เขียนคำตัว กษ สันสกฤต เช่น เกษตร กษัตริย์; แต่เดี๋ยวนี้เลิกใช้แล้ว, นับว่าไม่มีที่ใช้เลย."

"ฅ พยัญชนะตัวที่ห้าในพวกพยัญชนะไทย, นับเป็นพวกอักษรต่ำ, อ่านว่า 'คอ', เรียกชื่อว่า 'คอกัณฐา' หรือ 'คอคน', ออกเสียงอย่างเดียวกับ ค (คอคิด); เดิมมีที่ใช้อยู่คำหนึ่ง คือ 'ฅอ' ที่หมายความว่า คอคน หรือ คอสัตว์ มาบัดนี้ใช้ ค (คอคิด) หมดแล้ว เพราะฉะนั้นนับว่าไม่มีที่ใช้เลย, และตัว ฅ นี้ ตั้งขึ้นในภาษาไทย ไม่มีในบาลีและสันสกฤต บางท่านกล่าวว่า ความประสงค์ตั้งขึ้นสำหรับใช้คำไทยที่ออกเสียงคอทั่วไป เช่น คำ, คน, ควบ เป็นต้น, เพราะตัวคอคิดนั้นตั้งขึ้นแทนตัว ค บาลี ซึ่งมีเสียงเหมือนตัว G ในคำ God ไม่ตรงกับเสียง ค ไทย, แต่ไทยออกเสียง ค บาลีไม่ชัด กลายเป็นเสียง ค ไทยไปหมด, เลยใช้ตัว คอคิด ทั้งในเสียงบาลีและเสียงไทย, ตัว ฅ กัณฐานี้จึงไม่มีที่ใช้."

นับว่าหนังสือปทานุกรม ได้ให้ความหมายของ ฃ (ขวด) และ ฅ (คน) ค่อนข้างชัดเจนดีมาก ข้อสำคัญก็คือบอกว่าตัว ฅ (คน) นั้นใช้หมายถึง คอของคนหรือคอของสัตว์เท่านั้น หาได้ใช้เขียนคำว่า "คน" ไม่

ส่วนพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๔๙๓ ได้ให้คำอธิบายคำว่า ฃ (ขวด) และ ฅ (คน) ไว้เพียงสั้น ๆ ดังนี้
"ฃ พยัญชนะตัวที่สามนับเป็นพวกอักษรสูง แต่เดี๋ยวนี้เลิกใช้แล้ว."
"ฅ พยัญชนะตัวที่ห้านับเป็นพวกอักษรต่ำ เดี๋ยวนี้เลิกใช้แล้ว."

คงจะเป็นเพราะพจนานุกรม ฉบับ พ.ศ. ๒๔๙๓ มอบว่า "เดี๋ยวนี้เลิกใช้แล้ว" นี้เองจึงทำให้คนเข้าใจผิดคิดว่าได้มีการประกาศเลิกใช้เป็นทางการแล้ว แม้แต่พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ก็บอกไว้เช่นเดียวกับพจนานุกรม ฉบับ พ.ศ. ๒๔๙๓ ทุกประการ

สาเหตุที่ทำให้เลิกใช้ ฃ (ขวด) และ ฅ (คน) นั้น คงเนื่องมาจากพิมพ์ดีดภาษาไทยในสมัยแรก ๆ นั่นเองที่แป้นอักษรไม่มี ฃ และ ฅ เนื่องจากก้านอักษรมีไม่พอกับจำนวนสระพยัญชนะและวรรณยุกต์ในภาษาไทย จึงต้องตัดคำบางคำ หรือเครื่องหมายบางตัวออกไปบ้าง ในเรื่องเกี่ยวกับพิมพ์ดีดภาษาไทยนี้ ศาสตราจารย์ ยอช เซเดย์ ได้เขียนเล่าไว้ในหนังสือ "ตำนานอักษรไทย" ตอนหนึ่งดังนี้

"มิสเตอร์ เอดวิน เอช. แมคฟาร์แลนด์ (ภายหลังเป็นพระอาจวิทยาคม" เลขานุการพิเศษของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระดำรงราชา--นุภาพ (ต่อมาเป็น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ) ครั้งเสด็จดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงศึกษาธิการ ได้ออกความคิดจะทำเครื่องพิมพ์ดีดภาษาไทยขึ้น เมื่อได้รับความเห็นชอบที่จะให้มีพิมพ์ดีดเป็นภาษาไทยขึ้นจากพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระดำรงราชานุภาพ และมิสเตอร์แมคฟาร์แลนด์ ซึ่งถึงแม้ว่ามิได้เป็นช่างกลก็จริง แต่เป็นผู้มีความรู้ทางหนังสือดีผู้หนึ่ง ได้จัดการทำเครื่องพิมพ์ดีดขึ้นจนสำเร็จ เขาได้เลือกเครื่องพิมพ์ดีดชนิดสมิธพรีเมียร์ว่า เป็นแบบที่ดีที่สุดแลได้ใช้เวลาหลายเดือนในระหว่างลาหยุดคราวหนึ่งไปอยู่ในประเทศอเมริกา เพื่อจะจัดการทำเครื่องพิมพ์นี้ ผลที่สุดมิสเตอร์แมคฟาร์แลนด์ได้ร่วมการงานกับบริษัทสมิธพรีเมียร์ ทำเครื่องพิมพ์ดีดสมิธพรีเมียร์ภาษาไทย เบอร์ ๒ ซึ่งเป็นแบบเหมาะที่สุดขึ้นเป็นผลสำเร็จ

"เขาได้นำเครื่องพิมพ์นี้มาด้วยในเวลาที่กลับมาประเทศสยาม และได้รับพระบรมราชานุญาตให้เข้าไปเฝ้าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เขาได้อธิบายถึงประโยชน์ของเครื่องพิมพ์และดีดพิมพ์ถวายโดยพิสดาร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงพระปรีชาก็ทรงโปรด โดยทรงเห็นว่าเครื่องพิมพ์อาจเป็นประโยชน์แก่ประเทศของพระองค์มาก พระองค์ได้ทรงทดลองพิมพ์ลายพระราชหัตถ์ฉบับหนึ่งด้วยเครื่องพิมพ์ใหม่นี้ด้วยพระองค์เอง โดยทรงเอาพระหฤทัยใส่ที่สุดแล้ว ทรงขอบพระหฤทัยมิสเตอร์แมคฟาร์แลนด์ที่ได้คิดการอันนี้ให้แก่ประเทศสยาม และทรงแสดงว่าเครื่องพิมพ์นี้จะเป็นผลดีแก่ประเทศสยามในการภายหน้ามาก ลายพระราชหัตถ์ฉบับนี้ พระองค์ได้ทรงเซ็นพระบรมนามาภิไธย จุฬาลงกรณ์ และเพื่อเป็นเครื่องหมายว่า พระองค์ทรงโปรดมากยิ่งขึ้นไป พระองค์ได้พระราชทานนาฬิกาทองคำ มีพระบรมนามาภิไธยให้แก่มิสเตอร์แมคฟาร์แลนด์ ๑ เรือน และตรัสสั่งให้ทำเครื่องพิมพ์มีเครื่องหมายพระบรมนามาภิไธยของพระองค์อีก ๔๐ เครื่อง เครื่องนี้ได้ทำขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๕ ภายหลังเครื่องพิมพ์เครื่องแรกได้ประดิษฐ์ขึ้นในประเทศอเมริกา เพียง ๒๑ ปีเท่านั้น"

คงจะเป็นเพราะในเครื่องพิมพ์ดีดภาษาไทยสมิธพรีเมียร์ เบอร์ ๒ ในสมัยนั้น ไม่ได้บรรจุอักษร ฃ (ขวด) และ ฅ (คน) ไว้ เพราะไม่มีที่นั่นเอง ผสมกับคำที่ใช้ ฃ และ ฅ ก็มีน้อยและยังไม่เป็นเอกภาพกัน เมื่อได้ตัด ฃ และ ฅ ออกไป ก็ไม่มีปัญหาอะไร แม้ปัจจุบันวิทยาการและเทคโนโลยี จะเจริญจนสามารถบรรจุ ฃ และ ฅ ลงในเครื่องคอมพิวเตอร์หรือเครื่องคณิตกรณ์ได้แล้ว ก็คงไม่สามารถจะนำ ฃ และ ฅ มาใช้ได้อีกแล้ว เพราะใครเล่าจะเป็นผู้วางหลักเกณฑ์ว่าเมื่อใดจะใช้ ฃ (ขวด) ฅ (คน) ถึงจะมีผู้ประกาศใช้ ก็คงไม่มีใครยอมทำตามอย่างแน่นอน เพราะฉะนั้นจึงควรเก็บไว้เป็นประวัติศาสตร์ เพื่อให้อนุชนรุ่นต่อ ๆ ไปได้ทราบความเป็นมาของอักษรทั้ง ๒ ตัวนี้ มิฉะนั้น ถ้าไปพบ ฃ และ ฅ ในหนังสือเก่า จะคิดว่าบรรพบุรุษของเราเขียนผิด ก็ได้.

จำนงค์ ทองประเสริฐ
๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๓๖
Back