Back
ธำรง - ทำรง


ได้มีผู้ตั้งข้อสงสัยถามข้าพเจ้าว่า คำว่า "ธำรง" เป็นคำไทยหรือคำเขมร แผลงมาจากคำอะไร เคยมีอาจารย์ภาษาไทยตอบว่าแผลงมาจากคำว่า "ทรง" แต่เมื่อถามอีกครั้งว่า ถ้าแผลงมาจากคำว่า "ทรง" ก็น่าจะเป็น "ทำรง" ทำนองเดียวกับแผลง "จง" เป็น "จำนง" มีหลักภาษาอยู่ที่ไหนบ้างไหมที่แผลง "ท" เป็น "ธ" อาจารย์ท่านนั้นก็ตอบไม่ได้ จึงขอให้ข้าพเจ้าช่วยอธิบายด้วย

คำว่า "ทรง" เป็นคำภาษาเขมรว่า "ทฺรง" ออกเสียงว่า "ตฺร็วง" หนังสือ "พจนานุกรมเขมร - ไทย" ฉบับพระยาอนุมานราชธน ได้ให้ไว้ ๔ ความหมาย ดังนี้

๑. ทรง ใช้ประกอบกับคำอื่น เช่น ทฺรงสีล (ตฺร็วงเซ็ล) = ทรงศีล รักษาศีล ทฺรงธรฺม (ตฺร็วงเทือร์) = ทรงธรรม ฟังธรรม ทฺรงเคฺรือง (ตฺร็วงเก์รือง) = แต่งเครื่องแต่งตัว เป็นราชาศัพท์ใช้ เสฺฎจทรงพฺระพสฺตฺรพรัณ (ซฺดัจ ตร็วง เพฺรียะห์เปือะส์เปือร์) = เสด็จทรงพระพัสตรพรรณ ทรงฉลองพระองค์ โลกทฺรงบาตฺร (โลกตฺร็วงบาด) = พระทรงบาตร พระภิกษุสามเณรรับบาตร

๒. พระองค์ (ราชาศัพท์) เช่น สูมทฺรงโปฺรสพฺระราชทานอภัยโทส (โซมตฺร็วงโปฺระส์เพฺรียะห์เรียดเจียะเตียนอะเพ็ยโตะส์) = ขอพระองค์โปรดพระราชทานอภัยโทษ

๓. ทรงไว้ ดำรงไว้ ใช้ ทฺรงทุก (ตฺร็วงตุก) = ทรงไว้

๔. รูปร่าง สัณฐาน ทฺรงทฺราย (ตฺร็วงเตฺรียย) = ทรวดทรง"

ส่วนพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ได้ให้ความหมายของคำว่า "ทรง" ไว้ดังนี้ "น. รูปร่าง เช่น ทรงกระบอก ทรงปั้นหยา ทรงกระสอบ ทรงกระทาย (ลักษณะชามหรือถ้วยมีรูปคล้ายกระทาย), แบบ เช่น ทรงผม. ก. ตั้งอยู่ได้ เช่น ทรงตัว; จำ เช่น ทรงพระไตรปิฎก; รองรับ เช่น ธรรมย่อมทรงผู้ประพฤติธรรม; มี เช่น ทรงคุณวุฒิ; คงอยู่ เช่น ไข้ยังทรงอยู่ น้ำทรง; ในราชาศัพท์มีความหมายว่า ขี่ หรือ ถือ เป็นต้น ตามเนื้อความของคำที่ตามหลัง เช่น ทรงม้า ว่า ขี่ม้า ทรงช้าง ว่า ขี่ข้าง ทรงศร ว่า ถือศร ทรงศีล ว่า รับศีล ทรงธรรม ว่า ฟังเทศน์ ทรงบาตร ว่า ตักบาตร ทรงราชย์ ว่า ครองราชสมบัติ; ถ้าประกอบหน้านามบางคำ เช่น ชัย ภพ ศรี ศักดิ์ ธรรม เป็น พระทรงชัย พระทรงภพ พระทรงศรี พระทรงศักดิ์ พระทรงธรรม หมายถึง กษัตริย์; ถ้าประกอบหน้านามที่เป็นพาหนะหรืออาวุธเป็นต้นของพระเป็นเจ้า หมายถึง พระเป็นเจ้านั้น ๆ เช่น พระทรงโค หมายถึง พระอิศวร พระทรงครุฑ พระทรงศร พระทรงสังข์ หมายถึง พระนารายณ์ พระทรงหงส์ หมายถึง พระพรหม; ใช้นำหน้าคำกริยาสามัญให้เป็นราชาศัพท์ เช่น ทรงทราบ ทรงยินดี ทรงขอบใจ; ใช้นำหน้าคำนามราชาศัพท์ให้เป็นกริยาราชาศัพท์ เช่น ทรงพระสรวล ทรงพระเมตตา ทรงพระประชวร, ในลักษณะนี้ จะหมายความว่า มี ก็ได้ เช่น ทรงพระปรีชาสามารถ ทรงพระคุณ ทรงพระนาม, เมื่อกริยาเป็นราชาศัพท์อยู่แล้ว ไม่นิยมใช้คำว่า ทรง นำหน้าซ้อนลงไปอีก เช่น ไม่ใช้ว่า ทรงตรัส ทรงประทับ ทรงพระราชทาน. (ราชาศัพท์) ว. เรียกช้าง ม้า ที่ขึ้นระวางแล้วว่า ช้างทรง ม้าทรง."

คำว่า "ธำรง" พจนานุกรม ได้ให้ความหมายไว้ว่า "ก. ทรงไว้, ชูไว้." และคำว่า "ธรง" ซึ่งน่าจะเป็นที่มาของคำว่า "ธำรง" พจนานุกรม ได้บอกไว้ว่าเป็นคำโบราณ และเลิกใช้แล้ว มีความหมายว่า "ก. ทรง" และได้ให้ที่มาไว้ว่ามีอยู่ในหนังสือ "กฎหมายตราสามดวง" เท่านั้น

เมื่อไปดูหนังสือ "กฎหมายตราสามดวง" แล้วก็พบว่ามีทั้งคำว่า "ทรง" (ซง) และ "ธรง" (ทฺรง) แต่ส่วนมากใช้คำว่า "ธรง" คำว่า "ทรง" มีใช้บ้าง เหมือนกัน แต่น้อยมาก และมักใช้กับพระมหากษัตริย์ โดยเฉพาะข้อความที่ว่า "ผู้ทรงทศพิธราชธรรม" เช่น "ด้วยสมเด็จบรมนาถบพิตรพระพุทธิเจ้าอยู่หัวผู้ทรงทศพิตรราชธรรม อนันตคุณพิบูลศรัธามหากรุณา" หรือ "พระบาทสมเด็จเอกาทธรฐอิศวรบรมนาถบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงทศพิธราชธรรม อันมหาประเสริฐ" นอกจากนั้นก็มีอยู่แห่งหนึ่งที่มิได้นำหน้าคำว่า "ทศพิธ ราชธรรม" คือ ข้อวามว่า "ทรงพระราชศัททา" บำเพงพระราชกุศลเป็นอันมากแล้วตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรมสิบประการ" อย่างไรก็ตาม ข้อความดังกล่าว ก็ลงท้ายด้วย "ทศพิธราชธรรม" อยู่ดี

ส่วนคำว่า "ธรง" นั้น ก็ใช้เป็นราชาศัพท์เช่นเดียวกัน แต่มิได้ใช้กับคำว่า "ทศพิธราชธรรม" หากใช้ในกรณีอื่น ๆ เช่น "ถ้าธรงพระกรุณาให้ฆ่าตีไซ้..." หรือ "พระอรรคมเหษี พระราชเทวี ธรงราโชประโภคลดมงกุฎธรงพระมาลามวยหางหงษ" หรือ "ลูกเธอเอกโทธรงพระมาลามวยกลมเสื้อโภคลายทอง" ฯลฯ อย่างไรก็ดี คำว่า "ธรง" มิได้ใช้แก่สามัญชน หรือแม้แต่ขุนนางข้าราชการใด ๆ เลย

จากคำว่า "ธรง" นี้เองที่ได้แผลงเป็น "ธำรง" แม้ต่อมาเราจะใช้คำว่า "ทรง" แทน "ธรง" ทั่วไปแล้ว แต่เราก็ยังคงใช้คำว่า "ธำรง" ตามรูปแบบของคำเดิมว่า "ธรง" อยู่ หาได้เปลี่ยนไปเขียนเป็น "ทำรง" ไม่.

จำนงค์ ทองประเสริฐ
๑๑ พฤษภาคม๒๕๓๕
Back