Back

นั่งแป้น

ในการประชุมคณะกรรมการชำระพจนานุกรม ที่ราชบัณฑิตยสถาน เมื่อวันจันทร์ที่ ๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๓๕ มีกรรมการผู้หนึ่งได้ปรารภในที่ประชุมว่า เมื่อเวลา ๗ น. เศษ ของวันที่ ๕ ตุลาคมนั้น ได้มีรายการ ข่าวของกรมประชา สัมพันธ์ ได้กล่าวถึงรัฐมนตรีแต่ละคนว่านั่งกระทรวงนั้นกระทรวงนี้บ้าง หรือว่าการกระทรวงนั้นกระทรวงนี้บ้าง แต่พอมาถึงพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ก็บอกว่า "นั่งแป้น" กระทรวงมหาดไทย กรรมการท่านนั้นได้ให้ข้อคิดว่าคำว่า "นั่งแป้น" นั้นเขาใช้กับลิง ทำไมเอามาใช้เฉพาะกับพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ทีรัฐมนตรีคนอื่น ๆ ใช้กริยาว่า "นั่ง" และ "ว่าการ" ทั้งนั้น ไม่เห็นใช้ว่า "นั่งแป้น" เลย ท่านจึงขอร้องให้ข้าพเจ้านำเรื่องนี้มาออกอากาศในรายการนี้ เพื่อ เจ้าหน้าที่ทั้งของกรมประชาสัมพันธ์และสถานีวิทยุอื่น ๆ รวมทั้งหนังสือพิมพ์ทั้งหลายจะได้ใช้ภาษาได้ถูกต้อง เพราะการที่เจ้าหน้าที่กรมประชาสัมพันธ์ใช้คำว่า "นั่งแป้น" กับพลเอกชวลิต ยงใจยุทธนั้น ข้าพเจ้าคิดว่าคงไม่มีเจตนาจะลบหลู่อะไรดอก หากเพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์หรือไม่มีความรู้ความเข้าใจในการใช้ภาษาที่ถูกต้องเท่านั้น ทั้งนี้เพราะในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ มิได้เก็บทั้งคำว่า "นั่งแป้น" และ "ลิงนั่งแป้น" ไว้ แต่ที่คำว่า "แป้น" พจนานุกรมได้ให้ความหมายไว้ดังนี้

"แป้น ๑ น. กระดานที่มักมีรูปกลมแบน, ไม้ฐานสำหรับปั้นหม้อ, ไม้กระดานที่ติดไว้บนหัวเสา ; ไม้สำหรับสอยผลไม้ชนิดหนึ่ง ; เหล็กที่เจาะเป็นรูสำหรับชัดลวด."

"แป้น ๒ น. ชื่อเรียกปลาขนาดเล็กหลายชนิด ที่มีลำตัวป้อม แบนข้างมาก และมักมีสีเงินหรือสีเนื้อ ที่สำคัญได้แก่ ปลาทะเล และปลาน้ำกร่อยทุกชนิดในสกุล Leiognathus, Secutor และ Gazza (เลอิออกนาทุส, เซคูเตอร์, กัซซา) วงศ์ Leiognathidae (เลอิออกนาทิดี) ปลาดอกหมาก ในสกุล Gerres (เกอเรส), Pentaprion (เพนตาปริออน) วงศ์ Gerridae (เกอริดี) รวมทั้งปลาข้าวเม่าในสกุล Chanda (จันทา) วงศ์ Chandidae (จันดิดี)."

"แป้น ๓ น. ชื่อส้มพันธุ์หนึ่งของชนิด Citrus reticulata (ซิตรุส เรติคูลาตา) Blanco (บลันโค) ลูกแป้น ๆ."

"แป้น ๔ ว. กลมแบนอย่างลูกจัน, ยิ้มทำแก้มแป้น เรียกว่า ยิ้มแป้น."

คำว่า "แป้น" ที่ "นั่งแป้น" นั้น คงหมายถึง "แป้น ๑" โดยเฉพาะใน ความหมาย ที่ว่า "ไม้กระดานที่ติดไว้บนหัวเสา" เพราะข้าพเจ้าเคยเห็นที่บ้านสูง ซึ่งเลี้ยงลิงไว้หลายตัว มีต้นมะขามใหญ่อยู่ตรงนอกชาน และท่านยังได้ทำไม้แป้นแบบนี้แหละไว้ให้ลิงนั่งด้วย

คำว่า "แป้น" ในความหมายที่ "แป้น ๑" นี้ ต่อมาคณะกรรมการชำระพจนานุกรม ราชบัณฑิตยสถานได้ปรับปรุงแก้ไขใหม่ดังนี้ "น. กระดานที่ติดไว้บนหัวเสาหรือหลัก มักมีรูปกลมแบนสำหรับให้ลิงนั่ง หรือสำหรับกระทุ้งต้นกล้าให้เสมอกันเป็นต้น, แผ่นไม้กลม ๆ ใช้เป็นฐานรองดินในเวลาปั้นหม้อ หมุนได้ ; เรียกเหล็กที่เจาะเป็นรูสำหรับชักลวด."

โดยเฉพาะในความหมายแรกที่ว่า "สำหรับให้ลิงนั่งหรือสำหรับกระทุ้งต้นกล้าให้เสมอกันเป็นต้น" นั้น ก็อยากอธิบายเพิ่มเติมในความหมายที่ว่า "สำหรับกระทุ้งต้นกล้าให้เสมอกัน" สักเล็กน้อย คือเวลาชาวนาเขาถอนกล้าเพื่อนำไปปักดำนั้น เมื่อเขาถอนกล้าขึ้นมาแล้ว เขาจะเอาทางด้านรากกระทุ้งกับแป้นให้มันเสมอกัน ก่อนที่จะมัดเป็นกำ ๆ แล้วก็หาบไปยังนาอันที่เขาไถและคราดพร้อมที่จะปักดำต่อไป

นอกจากนั้น คณะกรรมการชำระพจนานุกรมยังได้เก็บสำนวน "ลิงนั่งแป้น" ไว้ด้วย และให้ความหมายไว้ดังนี้ "น. ผู้ที่เขายกให้ดำรงตำแหน่งที่สำคัญ แต่ไม่มีอำนาจอะไรจริงจัง ต้องทำตามที่เขาสั่ง" ซึ่งก็มีลักษณะคล้าย ๆ กับคำว่า "อุปโลกน์" ซึ่งพจนานุกรมได้ให้ความหมายไว้ดังนี้ "ก. ยกกันขึ้นเป็น เช่น อุปโลกน์ให้เป็นหัวหน้า, อปโลกน์ ก็ว่า." โดยที่ตัวเองไม่มีอำนาจอะไรที่แท้จริง แต่พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ท่านเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย มีอำนาจอย่างเต็มที่ ไม่มีใครอุปโลกน์ท่าน หากมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยอย่างเต็มภาคภูมิ เพราะฉะนั้นการที่จะพูดว่าใคร "นั่งแป้น" นั้นจะต้องระมัดระวังให้มาก เพราะจะเท่ากับเป็นการดูถูกดูหมิ่นผู้อื่นโดยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ได้.


จำนงค์ ทองประเสริฐ
๖ตุลาคม๒๕๓๕
Back