Back

นายก - ผู้นำ

คำว่า "นายก" ที่เรานำมาใช้ในภาษาไทย เช่น นายกรัฐมนตรี นายกสภามหาวิทยาลัย นายกเทศมนตรี นายกสมาคม ฯลฯ เป็นคำที่เราเอามาจากคำภาษาบาลีและสันสกฤต เพราะคำ "นายก" เป็นคำบาลี มาจาก นี ธาตุ ในความนำ ลง ณวุ ปัจจัย แปลง ณวุ เป็น "อก" (อะ - กะ) ด้วยอำนาจ ณ ที่ ณวุ ปัจจัย สามารถพฤติ (พรึด) อี ที่นีธาตุเป็น ย แล้วทีฆะ อ เป็น อา จึงเป็น นายก แปลว่า "ผู้นำ" พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ได้ให้ความหมายไว้ดังนี้ "น. ผู้นำ, ผู้เป็นหัวหน้า, เช่น นายกราชบัณฑิตยสถาน นายกสมาคม นายกสโมสร." และมีลูกคำอยู่ ๒ คำ ด้วยกัน คือ

๑. นายกเทศมนตรี น. ตำแหน่งหัวหน้าคณะเทศมนตรี.
๒. นายกรัฐมนตรี น. ตำแหน่งหัวหน้าคณะรัฐมนตรี.

คำว่า "มรรคนายก" ซึ่งคำที่ใช้เกี่ยวกับศาสนา ที่ชาวบ้านมักเรียกกันว่า "มรรคทายก" นั้น พจนานุกรมได้ให้บทนิยามไว้ดังนี้ "น. ผู้นำทาง คือ ผู้จัดการทางกุศล หรือผู้ชี้แจงทางบุญ." ตามปรกติในขนบท มักจะเลือกผู้หลักผู้ใหญ่ที่ได้บวชเรียนมาแล้ว และเป็นคนมีคุณธรรมเป็นที่เคารพนับถือของชาวบ้าน เป็น "มรรคนายก" และตำแหน่งนี้เป็นตำแหน่งไม่มีวาระ คือเป็นได้เรื่อยไปจนทำหน้าที่ไม่ไหวหรือตายไป ก็จะเลือกมรรคนายกใหม่

ในพระพุทธศาสนาได้กล่าวถึงบุคคลที่จะเป็น "นายก" ไม่ว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรี นายกเทศมนตรี นายกสมาคม ฯลฯ ควรจะต้องมีคุณสมบัติ ๖ อย่างดังบาลีว่า

"ขมา ชาคริยุฏฺฐาน สํวิภาโค ทยิกฺขณา
นายกสฺส คุณาเปเต อิจฺฉิตพฺพา หิเตสิโน"
ซึ่งขอแปลอย่างรวบรัดและเอาความหมายเลยดังนี้

ผู้นำ (นายก) ที่ปรารถนาจะบำเพ็ญประโยชน์เกื้อกูลแก่ประชาชนจำต้องมีคุณธรรม ๖ ประการเหล่านี้ คือ ๑. ขมา - ความอดทน ๒. ชาคริยะ - ความตื่นตัวทันโลกทันเหตุการณ์ ๓. อุฏฐาน - ความขยัน ตั้งตนเป็นหลักเป็นที่พึ่งได้ ๔. สํวิภาคะ - มีความโอบอ้อมอารีเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ๕. ทยา - มีความเมตตากรุณาต่อผู้น้อยหรือผู้ที่อยู่ในปกครอง ๖. อิกขณา - มีความสอดส่องดูแลความทุกข์สุขของผู้อยู่ใต้ปกครอง"

ถ้าสังคมใด บ้านเมืองใดมีนายกคือผู้นำที่ดี สังคมนั้น บ้านเมืองนั้นก็จะมีความสุข ความเจริญ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ใน "ร้อยกรองร้อยเรื่อง" ข้าพเจ้าขออัญเชิญมาเสนอท่าน ผู้ฟังดังนี้

"โขลงช้างย่อมมีพญาสาร ครอบครองบริวารทั้งหลาย
ฝูงโคขุนโคก็เป็นนาย มุ่งหมายนำพวกไปหากิน
ฝูงหงษ์มีเหมราชา สกุณามีขุนปักษิณ
เทวายังมีสักรินทร์ เป็นปิ่นเทวันชั้นฟ้า
เผ่าชนจะตั้งเป็นคณะ จะต้องคิดเกะกะตามประสา
จะอยู่ได้ดีกี่เวลา ดูน่าจะย่อยยับอับจน
จำเป็นต้องมีหัวหน้า กะการบัญชาให้เป็นผล
กองทัพบริบูรณ์ผู้คน ไม่มีจุมพลจะสู้ใคร
เพราะฉะนั้นจึงควรจะเคารพ นอบนบท่านผู้เป็นใหญ่
บังคับบัญชาการใด ทำไปให้เสร็จดังจำนง
ผู้ใหญ่มีใจกรุณา แม้ข้าทำดีดังประสงค์
บำเหน็จแจกให้ดังใจจง หวังให้มั่นคงจงรัก
แม้ใครทำผิดพลาดพลั้ง ท่านก็ยังไม่ลงโทษหนัก
อุตส่าห์เป็นห่วงท้วงทัก ชี้โทษให้ประจักษ์แจ้งใจ
จำเป็นต้องลงอาญา ใช่ว่าโกรธเคืองก็หาไม่
ท่านต้องมั่นคงตรงไว้ รักษาวินัยให้เที่ยงธรรม
ควรเราที่เป็นผู้น้อย คอยปฏิบัติตามทุกสิ่งสรรพ์
คงจะเจริญสุขทุกวัน เกษมสันต์ร่มเย็นเป็นนิตย์"

ถ้า "ผู้นำ" คนใดได้ยึดถือหลักธรรมและบทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นแนวประพฤติปฏิบัติแล้ว ย่อมได้ชื่อว่าเป็นผู้นำที่ดีมีคุณธรรมและคุณภาพ ทั้งยังจะได้เป็นผู้นำในหัวใจของผู้ใต้บังคับบัญชาหรือประชาชนตลอดไปด้วย.


จำนงค์ ทองประเสริฐ
๑๒ มกราคม ๒๕๓๖
Back