Back

น้อยมาก - น้อยนิด

เมื่อวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๖ ข้าพเจ้าได้มีโอกาสคุยกับเจ้าหน้าที่ตำรวจคนหนึ่ง ซึ่งมียศเป็นนายดาบ แต่ข้าพเจ้าไม่ทันได้ดูป้ายชื่อและนามสกุล ปฏิบัติงานอยู่ที่เชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้า คุณจ่าซึ่งยังอยู่ในวัยหนุ่มได้บอกว่า ฟังรายการภาษาไทยของข้าพเจ้าอยู่เป็นประจำ และได้ถามข้าพเจ้าว่า สำนวนภาษาไทยที่ว่า "น้อยมาก" นั้น ฟังดูแล้วมันขัดหูอยู่ เพราะถ้า "น้อย" ก็ย่อม "ไม่มาก" "น้อย" จะ "มาก" ได้อย่างไร ทำไมจึงใช้กันอย่างนั้น ข้าพเจ้ารู้สึกชื่นชมยินดีมากที่คุณจ่าผู้นั้นมีความสนใจภาษาไทย และฟังรายการ "ภาษาไทย" ของข้าพเจ้าอยู่เสมอ

ข้าพเจ้าก็บอกว่าข้าพเจ้าเองก็มีความรู้สึกเช่นนั้นมานานแล้วเช่นกัน ทั้งนี้เพราะคำว่า "น้อย" และ "มาก" พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ได้ให้ความหมายไว้ดังนี้

"น้อย ๑ ว. ไม่มาก (ใช้เกี่ยวกับปริมาณ) เช่น มีเงินน้อย พูดน้อย, โดยปริยายหมายถึงถึงลักษณะที่ไม่บริบูรณ์ เช่น น้ำน้อย ฝนน้อย; เล็ก (ใช้เกี่ยวกับขนาด) เช่น เรือน้อย; โดยปริยายหมายถึงลักษณะที่ไม่สำคัญ เช่น ครูน้อย ผู้น้อย เณรน้อย, เกี่ยวกับความรู้สึกเป็นไปในทางน่ารักน่าเอ็นดู เช่น เด็กน้อย น้องน้อย สาวน้อย หนูน้อย."

"มาก ว. หลาย, ตรงข้ามกับ น้อย."

เมื่อคำว่า "น้อย" แปลว่า "ไม่มาก" ดังนั้นคำว่า "น้อยมาก" จึงไม่น่าจะถูกต้อง แต่คนเขาก็พูดกันทั้งบ้านทั้งเมือง เช่น ปีนี้การปลูกข้าวได้ผลน้อยมาก ข้าพเจ้าก็เลยบอกนายดาบผู้นั้นไปว่า คงจะเอาแบบคำภาษาฝรั่งมาใช้กระมัง เช่นคำว่า very little ก็แปลว่า "น้อยมาก, เล็กมาก" ถ้าจะพูดไม่ให้ความมันขัดกัน ก็น่าจะใช้คำว่า "น้อยนิด" มากกว่า"น้อยมาก" เพราะคำว่า "นิด" พจนานุกรม ฉบับ พ.ศ. ๒๕๒๕ ได้ให้ความหมายไว้ดังนี้ "ว. เล็ก,น้อย." และมีลูกคำอยู่ ๓ คำ คือ

๑. นิดเดียว ว. เล็กเหลือเกิน, น้อยเหลือเกิน.
๒. นิดหน่อย ว. ไม่มาก, น้อย.
๓. นิดหนึ่ง ว. หน่อยเดียว.

ตัวอย่างที่ยกมาเมื่อกี้นี้ที่ว่า "ปีนี้ การปลูกข้าวได้ผลน้อยมาก" หรือ "การทำนาได้ผลน้อยมาก" ถ้าหากเราเอาคำว่า "นิดเดียว, นิดหน่อย, นิดหนึ่ง" ไปแทนคำว่า "น้อยมาก" ความหมายจะเหมือนเดิมไหม เช่นถ้าพูดว่า "ปีนี้ทำนาได้ผลนิดเดียว" "ปีนี้การทำนาได้ผลนิดหน่อย" และ "ปีนี้การทำนาได้ผลนิดหนึ่ง" ข้าพเจ้าคิดว่าความจะใกล้เคียงกัน แต่ที่ว่าจะเหมือนกันทีเดียวนั้น คงไม่ใช่

วันหนึ่งข้าพเจ้าขับรถยนต์ไปตามถนนพระรามที่ ๔ พอถึงสี่แยกวิทยุก็พบป้ายของตำรวจตั้งไว้ข้างเกาะกลางถนน มีข้อความว่า "รถที่ขับด้วยความเร็วช้าให้วิ่งชิดซ้าย" หรืออะไรทำนองนี้ เพราะนานมาแล้วข้าพเจ้าก็คิดว่า ถ้าหากมี "ความเร็ว" แล้วทำไมจะต้อง "ช้า" ด้วย เพราะ "เร็ว" กับ "ช้า" มีความหมายตรงกันข้าม น่าจะเขียนบอกว่า "รถที่ขับด้วยความเร็วต่ำให้วิ่งชิดซ้าย" มากกว่าซึ่งก็ทำนองเดียวกับคำว่า "น้อยมาก" นั่นเอง ฟังแล้วก็พอเข้าใจ ถ้าจะใช้ว่า "น้อยนิด น้อยหน่อย น้อยหนึ่ง" หรือ "นิดเดียว นิดหน่อย นิดหนึ่ง" ก็คงสื่อความหมายได้ไม่เท่ากัน เพราะฉะนั้น ก็เห็นจะต้องยอมให้ใช้ "น้อยมาก" ได้ แต่อย่าสลับคำเป็น "มากน้อย" เล่า เพราะคำว่า "มากน้อย" มักจะมีความหมายเท่ากับ "มากหรือน้อย" มากกว่า

ภาษาไทยมีสิ่งที่น่าสังเกตและน่าอัศจรรย์อยู่มากมาย อาจจะมากยิ่งกว่าภาษาใด ๆ อื่นก็ได้ อย่างคำว่า "น้อยมาก" กับ "มากน้อย" ความหมายต่างกันลิบลับ คำว่า "ได้เสีย" พจนานุกรมให้ความหมายไว้ ๒ อย่างคือ "ร่วมประเวณี; ได้เงินเสียเงิน, ได้ผล" เช่น ถ้าพูดว่า "เขาได้เสียกันแล้ว" คือ "เขาร่วมประเวณีกันแล้ว" แต่ถ้าพูดว่า "ได้เสียกินด้วยกัน" จะเป็นสำนวนทางการพนัน คือเมื่อเล่นการพนันกันแล้ว ฝ่ายหนึ่งจะเป็นผู้ได้ ฝ่ายหนึ่งจะเป็นผู้เสีย แต่ถ้าเราพูดว่า "ได้เสียกินด้วยกัน" หมายความว่า เมื่อเลิกเล่นการพนันแล้ว ก็ไปเลี้ยงกัน คนได้กำไรก็จะเป็นฝ่ายออกเงินเลี้ยงคนที่เสียการพนัน พจนานุกรมยังได้เก็บลูกคำไว้อีกคำหนึ่งว่า "ได้เสียกัน" และได้ให้ความหมายไว้ว่า "เป็นผัวเมียกันแล้ว" ตามปรกติแล้วคำว่า "ได้เสีย" ที่หมายถึง "การร่วมประเวณี" นั้น จะต้องมีคำว่า "กัน" ต่อท้ายเสมอ ไม่น่าจะเก็บคำว่า "ได้เสีย" แยกออกไปจาก "ได้เสียกัน" เลย เพราะต่างก็ทั้งได้ทั้งเสียนั่นแหละ คำว่า "ได้เสีย" ควรจะเก็บเฉพาะความหมายที่ว่า "ได้เงินเสียเงิน, ได้ผล" เท่านั้น.


จำนงค์ ทองประเสริฐ
๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๖
Back