Back

บัตรธนาคาร


คำที่มีปัญหาในการตีความคำหนึ่งก็คือคำว่า "บัตรธนาคาร" ที่พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ได้ให้บทนิยามไว้ดังนี้ "น.บัตรที่ธนาคารออกใช้แทนเงิน ไม่เป็นสิ่งที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย."

ต่อมาศาสตราจารย์ ดร.ประยูร กาญจนดุล ประธานคณะกรรมการ ทำพจนานุกรมศัพท์กฎหมายไทยได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบเมื่อวันที่ ๒ มกราคม พ.ศ. ๒๕๒๕ ว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยได้มีหนังสือที่ บ.๑๔/๒๕๓๓ ลงวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๓๓ เรื่อง ขอปรับปรุงแก้ไขความหมายของคำในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน แจ้งมายังราชบัณฑิตยสถานความว่า ตามที่พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ หน้า ๔๖๔ (ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๓ เป็นหน้า ๔๗๐...ผู้เขียน) ระบุความหมายของคำว่า "บัตรธนาคาร" ว่าหมายถึง "บัตรที่ธนาคารออกใช้แทนเงิน ไม่เป็นสิ่งที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย" นั้น

ปรากฏว่า ความหมายดังกล่าวยังคลาดเคลื่อนจากบทบัญญัติของกฎหมายที่เกี่ยวข้องและอาจทำให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจผิดได้ ทั้งนี้เนื่องจาก ธนาคารแห่งประเทศไทยได้นำบัตรธนาคาร ชนิดราคา ๖๐ บาท ออกใช้เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชทรงเจริญพระชนมายุครบหกสิบพรรษาบริบูรณ์ เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๓๐ แล้ว ซึ่งตามบทบัญญัติ มาตรา ๒๓ และมาตรา ๒๗ แห่งพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช ๒๔๘๕ ระบุไว้ชัดเจนว่า "การ ออกและจัดการบัตรธนาคารของธนาคารแห่งประเทศไทยนั้น ให้อยู่ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยระบบเงินตรา และคำว่า "ธนบัตร" ที่ใช้ในกฎหมายดังกล่าวนั้นให้ถือว่ารวมตลอดถึง "บัตรธนาคาร" ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยออกด้วย และบัตรธนาคารแห่งประเทศไทยนั้น ให้ถือว่าเป็นเงินตราตามความหมายแห่งกฎหมายลักษณะอาญา."

อนึ่ง มาตรา ๑๕ แห่งพระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ. ๒๕๐๑ ก็กำหนดไว้ว่า "ธนบัตรเป็นเงินที่ชำนะหนี้ได้ตามกฎหมายโดยไม่จำกัดจำนวน."

ดังนั้น ความหมายที่ถูกต้องของคำว่า "บัตรธนาคาร" จึงควรหมายถึง "บัตรที่ธนาคารแห่งประเทศไทยออกใช้แทนเงิน และเป็นสิ่งที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมายเช่นเดียวกับธนบัตร."

ด้วยเหตุนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย จึงใคร่ขอให้ราชบัณฑิตยสถาน ได้พิจารณาปรับปรุงแก้ไขความหมายของคำว่า "บัตรธนาคาร" ในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถานให้ถูกต้องต่อไปด้วย

เรื่องนี้ นายกราชบัณฑิตยสถานได้สั่งการให้คณะกรรมการชำระพจนานุกรม รับไปดำเนินการ ซึ่งเลขานุการคณะกรรมการชำระพจนานุกรม ได้ขอความอนุเคราะห์ให้พิจารณาในด้านเศรษฐศาสตร์และกฎหมาย

ที่ประชุมคณะอนุกรรมการบัญญัติศัพท์เศรษฐศาสตร์ ได้พิจารณาในการประชุม ครั้งที่ ๒๕/๒๕๓๓ เมื่อวันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๓๓ มีมติดังนี้ "บัตรธนาคาร น.บัตรที่ธนาคารออกใช้แทนเงิน." โดยตัดข้อความว่า "ไม่เป็นสิ่งที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย" ออก ด้วยเหตุผลว่า ความหมายทั่วไปควรนิยามไว้อย่างกว้าง ๆ

ในด้านศัพท์กฎหมายไทย ที่ประชุมพิจารณา แล้วมีมติดังนี้

"บัตรธนาคาร น. บัตรที่ธนาคารออกใช้แทนเงิน; (กฎหมาย) บัตรที่ธนาคารแห่งประเทศไทยออกใช้แทนเงินตรา."

ในการประชุมคณะกรรมการทำพจนานุกรมศัพท์กฎหมายไทยครั้งต่อมา คือเมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม พ.ศ. ๒๕๓๕ คณะกรรมการทำพจนานุกรมศัพท์กฎหมายไทย ได้ปรับปรุงแก้ไขบทนิยามของคำว่า "บัตรธนาคาร" ใหม่ดังนี้

"บัตรธนาคาร น. บัตรที่ธนาคารออกใช้เป็นเงินตรา; (กฎหมาย) บัตรที่ธนาคารแห่งประเทศไทยออกใช้เป็นเงินตรา."

ที่คณะกรรมการทำพจนานุกรมศัพท์กฎหมายไทย ได้ปรับปรุงแก้ไขใหม่จาก "ออกใช้แทนเงิน" หรือ "ออกใช้แทนเงินตรา" เป็น "ออกใช้เป็นเงินตรา" นั้น เพราะมิใช่ "ออกใช้แทน" หาก "ออกใช้เป็น" เงินตราทีเดียว

คำว่า "เงินตรา" พจนานุกรม ฉบับ พ.ศ.๒๕๒๕ ได้ให้บทนิยามไว้แล้วดังนี้ "น.เงินที่รัฐกำหนดขึ้นไว้เพื่อใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย เช่น เหรียญกระษาปณ์ ธนบัตร."

ศัพท์กฎหมายที่มีอยู่ในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ นั้น คณะกรรมการทำพจนานุกรมศัพท์กฎหมายไทยกำลังพิจารณาปรับปรุงแก้ไขอย่างรีบเร่ง และได้พิจารณาปรับปรุงแก้ไขอย่างรีบเร่ง ขณะนี้ได้พิจารณามาถึงตัว ม แล้ว เมื่อคณะกรรมการฯ ได้พิจารณาศัพท์กฎหมายเสร็จแล้ว พจนานกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๒๕ ก็คงจะมีศัพท์กฎหมายถูกต้องและสมบูรณ์ยิ่งขึ้นอย่างแน่นอน.

จำนงค์ ทองประเสริฐ
๑๗สิงหาคม๒๕๓๕
Back