Back

บันทึกการประชุมคณะกรรมการชำระปทานุกรม

ในการประชุมกรรมการชำระปทานุกรมสมัยก่อน กรรมการชำระพจนา-นุกรมปัจจุบัน กรรมการทำพจนานุกรมศัพท์วรรณคดี กรรมการทำพจนานุกรมศัพท์ศิลปกรรม ฯลฯ ของราชบัณฑิตยสถานที่ข้าพเจ้าได้มีส่วนร่วมในฐานะเป็นกรรมการบ้าง หรือเป็นกรรมการและเลขานุการบ้าง ข้าพเจ้ามักจะบันทึกความคิดความเห็นของกรรมการแต่ละคนที่ได้อภิปรายกันด้วยเหตุผลต่าง ๆ อยู่เสมอ ถ้าเป็นการประชุมคณะกรรมการชำระพจนานุกรมหรือคณะกรรมการศัพท์วรรณคดีไทย แม้ข้าพเจ้าจะเป็นเพียงกรรมการเท่านั้น แต่ก็ต้องทำหน้าที่เหมือนเลขานุการไปในตัว เพราะต้องพยายามบันทึกเหตุผลที่กรรมการได้อภิปรายกัน และต้องทำหน้าที่สรุปหรือเขียนบทนิยามต่าง ๆ ทั้งนี้โดยอาศัยหลักตรรกศาสตร์ที่ข้าพเจ้าเรียนมาและยังสอนอยู่ตามมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในปัจจุบันเป็นหลัก ทั้งนี้ เพราะวิชาตรรกศาสตร์เป็น "ศิลปะแห่งการนิยามความหมายและการให้เหตุผล" ดังนั้นในการนิยามความหมายของคำต่าง ๆ จึงต้องเอาหลักการนิยามความหมายในวิชาตรรกศาสตร์มาใช้ ซึ่งจะทำให้การนิยามความหมายมีความรัดกุมและกะทัดรัด โต้แย้งได้ยาก แต่เป็นที่น่าเสียดายก็คือ เมื่อผลงาน พจนานุกรมต่าง ๆ ออกมานั้น ผู้อ่านก็ทราบเพียงบทสรุปเท่านั้น หาได้ทราบความเป็นมาหรือเหตุผลว่าทำไมจึงต้องให้บทนิยามอย่างนั้นด้วย อย่างเช่น พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๔๙๓ ให้บทนิยามของ "เมีย" ไว้ว่า "หญิงที่อยู่กินกับชาย" และคำว่า "อยู่กิน" ท่านก็ให้ความหมายไว้ว่า "กินและนอน, ดำรงชีวิต" อย่างนี้ตามหลักตรรกศาสตร์ท่านมีกฎเกี่ยวกับการนิยามอยู่ข้อ ๑ ใน ๕ ข้อว่า "บทนิยามกับคำที่ถูกนิยามจะต้องสลับกันได้" ดังนั้นบทนิยามของคำว่า "เมีย" คือ "หญิงที่อยู่กินกับชาย" นั้น ถ้าสลับกันว่า "หญิงที่อยู่กินกับชาย คือ เมีย" จะถูกต้องรัดกุมไหม และ "อยู่กิน" ท่านก็ให้บทนิยามไว้ว่า "กินและนอน, ดำรงชีวิต" อย่างนี้ถ้าเราบอกว่า "หญิงที่อยู่กิน คือ กินและนอน กับชาย คือ เมีย" หรือ "หญิงที่อยู่กิน คือดำรงชีวิตกับชาย คือ เมีย" จะถูกต้องไหม ถ้าถือตามนัยนี้ สมมุติว่า ข้าพเจ้ามีสาวใช้ ๑ คน หรือมีญาติพี่น้องที่เป็นผู้หญิงมาอยู่กิน คือกินและนอนด้วยหรือดำรงชีวิตอยู่กับข้าพเจ้า คนเหล่านี้มิต้องเป็นเมียข้าพเจ้าไปด้วยหรือ คณะกรรมการชำระปทานุกรม จึงต้องแก้บทนิยามของคำว่า "เมีย" เสียใหม่ดังปรากฏในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ว่า "หญิงที่เป็นคู่ครองของชาย" และคำว่า "คู่ครอง" พจนานุกรม ก็ได้ให้บทนิยามไว้ว่า "ผัวหรือเมีย" ดังนั้น "หญิงที่เป็นคู่ครองของชายก็ต้องเป็นเมียชาย" คงไม่ได้เป็นผัวดอก และเมื่อนิยามคำว่า "เมีย" ได้แล้ว ก็เลยต้องแก้บทนิยามของคำว่า "ผัว" ซึ่งพจนานุกรม ฉบับ พ.ศ. ๒๔๙๓ ได้ให้บทนิยามไว้ดังนี้ "ชายที่มีเมียเป็นคู่ครอง" เสียใหม่เป็น "ชายที่เป็นคู่ครองของหญิง" ถ้าเป็นอย่างนี้เราก็สลับที่กันว่า "ชายที่เป็นคู่ครองของหญิง คือ ผัว" ได้ และเพื่อที่จะให้บทนิยามเดิมที่ว่า "เมีย คือ หญิงที่อยู่กินกับชาย" ใช้ได้ ก็ต้องแก้บทนิยามของคำว่า "อยู่กิน" ด้วย ดังนั้น พจนานุกรมฉบับ พ.ศ. ๒๕๒๕ จึงได้ให้บทนิยามของคำว่า "อยู่กิน" ใหม่ว่า "ดำรงชีวิตฉันผัวเมีย" ถ้าอย่างนี้บทนิยามเดิมที่ว่า "เมีย คือ หญิงที่อยู่กินกับชาย" ก็ใช้ได้ เพราะหมายความว่า "หญิงที่ดำรงชีวิตฉันผัวเมียกับชาย"

ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่าการทำพจนานุกรมนั้น มิใช่ทำกันได้ง่าย ๆ เลย หรือถ้าประธานเสนออย่างไรก็ต้องเอาอย่างนั้น ทุกคนมีอิสระในด้านความคิดเท่าเทียมกัน แต่ที่นับว่ายากก็คือ เมื่อแต่ละคนได้อภิปรายด้วยเหตุผลต่าง ๆ แล้ว ปัญหาต่อไปก็คือจะนิยามความหมายอย่างไรที่จะให้กรรมการทุกคนยอมรับได้

สมัยหนึ่งเมื่ออาจารย์เจริญ อินทรเกษตร อดีตเลขาธิการราชบัณฑิตยสถาน เป็นเลขานุการ คณะกรรมการชำระปทานุกรม ท่านได้รวบรวมความคิดของกรรมการต่าง ๆ ในเวลาประชุมไว้ แล้วได้เขียนเป็นบทความตีพิมพ์ออกเผยแพร่มาครั้งหนึ่งโดยให้ชื่อว่า "คณะกรรมการชำระปทานุกรมทำอะไร" ทำให้ได้รับความรู้อย่างมากมาย ข้าพเจ้าก็เคยเขียนเรื่องทำนองนี้ลงในนิตยสาร "สามทหาร" มาบ้างเหมือนกัน แต่เวลานี้ไม่มีเวลาจะเขียน อย่างไรก็ตามข้าพเจ้าได้ให้เลขานุการรวบรวมบันทึกต่าง ๆ ที่ข้าพเจ้าได้บันทึกไว้เก็บเข้าแฟ้มไว้สำหรับตรวจสอบตลอดมา ซึ่งทำให้ข้าพเจ้าได้รับความรู้กว้างขวางยิ่งขึ้น ทั้ง ๆ ที่ความรู้เดิมเกี่ยวกับภาษาไทยก็มีไม่มากนัก จึงรู้สึกว่ากรรมการชำระปทานุกรมและกรรมการชำระพจนานุกรมล้วนมีพระคุณต่อข้าพเจ้าทั้งโดยตรงและโดยอ้อมตลอดมา จึงทำให้มีเรื่องเขียนออกอากาศได้กว่า ๒๐ ปีแล้ว.


จำนงค์ ทองประเสริฐ
๒๗ มกราคม ๒๕๓๖
Back