Back



หลังจาก "สงครามอ่าวเปอร์เซีย" ได้ยุติลงโดยประเทศอิรักได้ยอมรับเงื่อนไขต่าง ๆ ขององค์การ สหประชาชาติโดยไม่มีข้อแม้ใด ๆ ทั้งสิ้นแล้ว หนังสือพิมพ์ก็ยังลงข่าวเกี่ยวกับอิรักอยู่แทบทุกวัน โดยเฉพาะเรื่องที่อิรักจะต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ประเทศคู่สงครามที่เป็นฝ่ายชนะ คือ ฝ่ายพันธมิตร โดยไม่มีเงื่อนไขแล้ว
หนังสือพิมพ์ที่มีผู้นิยมกันมากก็ใช้ศัพท์ไม่เหมือนกัน ทำให้ผู้อ่านเกิดสับสนว่าจะเขียนอย่างไรจึงจะ ถูกต้องดังนี้
หนังสือพิมพ์ "สยามรัฐ" ฉบับประจำวันศุกร์ที่ ๕ เมษายน พ.ศ. ๒๕๓๔ หน้า ๒ มีข้อความในข่าวเรื่อง "เคิร์ดนับล้านหนีตายออกนอกอิรัก ยูโรออกมติให้ซัดดามใช้ค่าสงคราม" มีข้อความตอนหนึ่งดังนี้

"พร้อมกันนั้น อิรักยังไม่แสดงการตอบสนองใด ๆ ต่อมติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งองค์การ สหประชาชาติที่ได้มีออกมาจากการประชุมเมื่อวันพฤหัสบดี ให้เป็นข้อตกลงหยุดยิงฉบับถาวรระหว่างพันธมิตรกับอิรัก โดยคณะมนตรี ๑๕ ชาติ มีมติ ๑๒ ต่อ ๑ ให้ผ่านมตินี้ออกมาบังคับใช้

"มติกำหนดให้มีการทำลายอาวุธต่าง ๆ ที่มีอานุภาพสังหารผู้คนได้คราวละมาก ๆ และมีเงื่อนไขที่ อิรักจะต้องปฏิบัติรวมอีกหลายข้อ พร้อมกับสั่งยกเลิกการคว่ำบาตรทางอาหารแก่อิรักด้วย โดยให้มีการส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบ นอกจากนั้นยังเรียกค่าปฏิมากรรมสงครามที่จะหักจากรายได้ในการขายน้ำมันของอิรักด้วย"

ส่วนหนังสือพิมพ์ "ไทยรัฐ" ฉบับวันจันทร์ที่ ๘ เมษายน พ.ศ. ๒๕๓๔ หน้า ๒ มีข่าวเรื่อง "บุช ชมเชยอิรักที่ยอมรับมติหยุดยิง - ลิเบียหาอิรักทำให้อาย" มีข้อความขึ้นต้นข่าวดังนี้

"ข่าวต่างประเทศเมื่อวันอาทิตย์แจ้งว่า ประธานาธิบดีจอร์จ บุชแห่งสหรัฐได้ประกาศแสดงความ ยินดีต่ออิรักที่ตกลงยอมรับมติหยุดยิงของสหประชาชาติ ซึ่งมติดังกล่าวเป็นการตัดโอกาสไม่ให้กองกำลังของอิรักกำเริบเสิบสานรุกรานประเทศเพื่อนบ้านได้อีก นอกจากนั้นแล้วในมติหยุดยิงได้บังคับให้อิรักต้องจ่ายค่าปฏิกรณ์สงครามให้แก่คูเวตอีกเป็นจำนวนเงินมหาศาลด้วย"

จากข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ที่มีผู้นิยมทั้ง ๒ ฉบับนี้ จะเห็นว่าใช้ศัพท์ เกี่ยวกับค่าชดใช้เกี่ยวกับการสงครามครั้งนี้ไม่เหมือนกัน คือ น.ส.พ.สยามรัฐ ใช้ "ค่าปฏิมากรรมสงคราม" น.ส.พ.ไทยรัฐใช้ "ค่าปฏิกรณ์สงคราม" ซึ่งนับว่าผิดทั้งคู่ คำนี้ที่ถูกต้องใช้ว่า "ค่าปฏิกรรมสงคราม"

คำว่า "ค่าปฏิกรรมสงคราม" เป็นศัพท์ที่เพิ่งนิยมใช้แพร่หลายเมื่อหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ นี้เอง เป็นคำที่ พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ อดีตนายกราชบัณฑิตยสถานเป็นผู้ทรงบัญญัติขึ้นแทนคำว่า reparation

ในเรื่องนี้ พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ได้ทรงอธิบายถึงการบัญญัติศัพท์ "ปฏิกรรม" ดังที่สำนักพิมพ์แพร่พิทยา ได้รวบรวมมาพิมพ์ไว้ในหนังสือ "วิทยาสารานุกรม" ดังนี้

"อันคำที่ประกอบด้วยอุปสรรคและธาตุนั้น บางทีอุปสรรคก็สำคัญ บางทีธาตุก็สำคัญ กล่าวคือ บางคำก็อาศัยอุปสรรคเน้นความหมาย บางคำก็อาศัยธาตุเน้นความหมาย เช่นคำว่า reparation ซึ่งทางราชการเคยใช้ว่า ทำให้คืนดี แต่เมื่อต้องใช้เป็นคุณศัพท์ย่อมไม่สะดวกนั้น พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร แต่ครั้งยังอยู่กระทรวงการต่างประเทศ ได้คิดหาคำทางบาลี ในเวลานั้นยังทรงรู้คำบาลีน้อย แต่เมื่อวิเคราะห์ศัพท์อังกฤษแล้วเห็นว่า re = กลับคืน para = ทำให้เหมือนกันหรือเตรียมพร้อม ความหมายของคำก็หนักอยู่ที่อุปสรรค์ re และไทยเราใช้ว่า ทำให้คืนดีนั้น ก็ได้ความชัดดีแล้ว จึงได้ถอดเข้าเป็นรูปบาลี ในชั้นต้นได้ "ปฏิการ" แต่ "ปฏิการ" ไทยเราใช้อยู่แล้ว โดยนัยหมายความว่า "ตอบแทน" จึงเอามาใช้สำหรับ reparation ไม่ได้ แต่ได้ทรงพลิกพจนานุกรมชิลเดอร์ดู ก็พบคำว่า "ปฏิกัมม์" ซึ่งมีความหมายตรงกับคำว่า reparation จึงได้ลองร่างใช้ถวายสมเด็จกรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ สมเด็จกรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการจึงทรงแปลงรูปให้คนไทยเห็นชัดขึ้นเป็น "ปฏิกรรม" พระองค์เจ้าวรรณไวทยากรขลังไป กรมสมเด็จประทานรูปคำไทยดีกว่า นักภาษาคงเห็นว่าเป็นครึ่งบาลี ครึ่งสันสกฤต ไม่ชอบด้วยหลักภาษา แต่กรมสมเด็จทรงรู้หลักภาษาไทย ดีกว่า ถ้าเขียนว่า "ปฏิกรรม" แล้วคนไทยมีทางที่จะเห็นความหมายชัดขึ้น นั่นแหละเป็นคำไทยที่ดี และในทางราชการก็ได้ใช้คำนั้นต่อมา"

คำว่า "ปฏิกรรมสงคราม" พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๔ ได้ให้บทนิยามไว้ดังนี้ "น. การชดใช้ค่าเสียหายที่ฝ่ายชนะสงครามเรียกร้องเอาจากฝ่ายพ่ายแพ้." ถ้าเขียนเป็น "ค่าปฏิมากรรมสงคราม" ก็ต้องแปลว่า "ค่าสร้างพระพุทธรูปเมื่อสงคราม" เพราะคำว่า "ปฏิมา" หรือ "ปฏิมากร" พจนานุกรมได้ให้บทนิยามไว้ว่า "น. รูปเปรียบหรือรูปแทนองค์พระพุทธเจ้า คือ พระพุทธรูป, เรียกย่อมาจาก พุทธปฏิมา หรือ พุทธปฏิมากร." และเขาเขียนเป็น "ค่าปฏิกรณ์สงคราม" ก็ไปกันใหญ่ เพราะคำว่า "ปฏิกรณ์" พจนานุกรม ได้ให้บทนิยามไว้ดังนี้ "(ฟิสิกส์) น.เครื่องที่ใช้สำหรับก่อให้เกิดปฏิกิริยาแตกสลายทางนิวเคลียร์อย่างสม่ำเสมอและควบคุมได้ เพื่อผลิตพลังงาน สารกัมมันตรังสี เครื่องชนิดนี้มีหลายแบบ และใช้เชื้อเพลิงนิวเคลียร์ซึ่งมักเป็นแท่งยูเรเนียม, มักเรียกว่า เครื่องปฏิกรณ์ปรมาณู. (อ. Reactor)."

คำว่า "ค่าปฏิกรรมสงคราม" กรุณาใช้ให้ถูกต้องด้วย มิฉะนั้นจะกลายเป็นค่าสร้างพระพุทธรูป หรือค่าเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูไป.


จำนงค์ ทองประเสริฐ
๘ เมษายน ๒๕๓๔
Back