Back

ประวัติแคว้นเชียงตุง

วันนี้จะได้นำตำนานหรือประวัติเมืองเชียงตุงย่อ ๆ ที่อาจารย์ทวี สว่างปัญญางกูร ได้เขียนไว้ในนิตยสาร "สยามอารยะ" ที่ปี ๓ ฉบับที่ ๑๑ พ.ศ. ๒๕๓๖ มาเสนอท่านผู้ฟังต่อจากคราวที่แล้วดังนี้

"ตามเอกสารโบราณของไทเขินเชียงตุงอาทิเช่น "ตำนานเมืองเชียงตุง" "ตำนานเมืองยอง" "พื้นเมืองเขมรัฐ" ฯลฯ ดินแดนเชียงตุงเดิมเป็นที่อยู่ของชนชาติละหรือลัวะ "ตำนานเมืองเชียงตุง" บันทึกว่า

"ฝูงฮ่อทั้งหลาย ครั้นได้รู้แล้ว ก็มักใคร่หัน (อยากเห็นเมืองเชียงตุง) ก็ชวนเอาฮ่อทั้งหลายลงมา ลำดับด้วยหนทาง ก็จิ่งรอดถึงหนองสระ (ถึงหนองน้ำ) อันฤษีมาข่าง (ระบายน้ำออก) หั้นแล ส่วนว่าฮ่อทั้งหลาย เขาก็ชวนกันมาอยู่ที่นั้น เป่ามึนนานเท่าใด (ไม่นานเท่าใด) ก็ลวดกลายเป็นไข้เป็นหนาวไปมากนัก ลางพ่องก็ตายไปเสียก็มีหั้นแล ส่วนว่าฮ่อทั้งหลายก็กลัวตาย ก็เอากันพอกคืน (กลับไป) เมือเมืองแห่งเขาอั้นแล ส่วนฮ่อทั้งหลาย ลางพ่องก็ละ (ทิ้งไว้) หมากน้ำเต้าไว้ภายลูนมา (ต่อมา) ลวดแตกงอกเป็นเครือไป ก็มีหน่วยมากหลาย ครั้นแก่มาแล้ว ก็แตกออกมาลวดกลายเป็นคนไป เป็นชาวทัมมิละไปเลี้ยงหั้นแล..."

"แม้ว่าภาษาในตำนานเข้าใจยาก แต่ก็ให้ทราบถึงความเชื่อของไทเขินเชียงตุงว่า คนดั้งเดิมของเชียงตุงนั้นลงมาจากเมืองจีน ชื่อไทเขิน ไทลื้อ ไทยวน เรียกว่า "ฮ่อ" และเชื่อว่า ชนชาติที่ตั้งถิ่นฐานในเมืองเชียงตุงก่อนไทเขิน คือ ชนชาติลัวะ หรือละ ในตำนาน "เมืองยอง" ก็มีข้อมูลว่า ชนชาติลัวะเป็นผู้บุกเบิกเมืองยองก่อนคนไท

"ในตำนาน "สุวรรณคำแดง" ของล้านนามีข้อมูลที่สวนทางกับตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ คือ บันทึกว่าชาวลัวะเป็นผู้สร้างเมืองเชียงใหม่ และพญา มังรายมาทีหลัง เวลาพญามังรายจะเสด็จเข้าเมืองเชียงใหม่ก็ได้โปรดให้หมอโหราหาทางเข้าที่เป็นมงคล และในที่สุดก็เสด็จเข้าเวียงเชียงใหม่ทางด้านเหนือ ต่อมาพญามังรายได้ทรงส่งทูตขึ้นดอยสุเทพ ทูลถามพญาลัวะเกี่ยวกับประวัติเมืองเชียงใหม่ พญาลัวะจึงได้มอบตำนานเมืองเชียงใหม่ที่เขียนด้วยอักษรลัวะให้ทูต และพญามังรายได้โปรดให้เสนาอำมาตย์ แปลตำนานเมืองเชียงใหม่สำนวนลัวะมาเป็นภาษาและอักษรล้านนา

"นิทานที่เล่ากันนั้น ทำให้คิดว่า อาจมีอาณาจักรลัวะในบริเวณล้านนาเดิมก็ได้ และชนชาติลัวะและชนชาติไทยยวนก็มีตัวอักษรก่อนสมัยพญามังรายหรือพ่อขุนรามคำแหงแล้วก็เป็นได้

"ในประวัติศาสตร์ก็มีชนชาติหลายเผ่าที่ได้หายสาบสูญไปแล้ว เช่น ชนชาติจาม ในบริเวณเวียดนามกลาง หรือ อาณาจักรจามปา ปัจจุบันนี้ ชาวจามเหลือไม่กี่หมื่นคนเท่านั้น ชนชาติลัวะอาจมีอาณาจักรดั้งเดิม มีวัฒนธรรมของตนเองก็ได้

"ในพิธีราชาภิเษกเจ้าผู้ครองเชียงใหม่ มีประเพณีให้ลัวะจูงหมานำขบวนเข้าคุ้มหลวงก่อนเพื่อแสดงถึงความยอมอ่อนน้อมของชาวลัวะต่อกษัตริย์ล้านนา ในราชพิธีของไทเขินเชียงตุงก็เช่นกัน แต่ผิดไปในรายละเอียดคือให้ลัวะเข้านั่งในหอคำก่อน ให้รับประทานอาหารอิ่มหนำสำราญ แล้วจะมีเสนาอำมาตย์ตำแหน่งเป็น "พระยาไล่" ถือไม้ไปไล่ลัวะกลุ่มนั้นไป เจ้าฟ้าไทเขินจึงจะเข้าหอตามมา หลังจากมีการต่อรองราคาเป็นเบี้ยที่จะต้องจ่ายให้ชาวลัวะ

"สมัยพญามังรายยังประทับอยู่เมืองเชียงราย พระองค์ได้ส่งทัพขึ้นยึด เชียงตุง แต่กองทัพล้านนาไม่สามารถเอาชนะทัพลัวะได้ จึงต้องส่งชาวลัวะดอยตุง (เชียงราย) ชื่อ มังคุ่มและมังเคียน ๒ คนขึ้นไปเป็นไส้ศึกหลอกพญาลัวะ ทางล้านนาถึงจะยึดเชียงตุงได้ และพญามังรายโปรดให้โอรสไปครองเชียงตุง จ.ศ. ๖๑๕ หรือ ๙ ปีก่อนทรงสร้างเมืองเชียงราย (จ.ศ. ๖๒๔ หรือ พ.ศ. ๑๘๐๕)

"ต่อมากลอุบายส่งไส้ศึกนั้น พญามังรายก็ทรงใช้กับอาณาจักรมอญแห่งหริภุญชัย โดยโปรดส่งอ้ายฟ้าลงไป แต่ว่าสวามิภักดิ์ต่อพญายีบาแห่งหริภุญชัยหาวิธีบ่อนทำลายขวัญ ชาวลำพูนหันมานิยมพญามังรายมากกว่าพญายีบา ในที่สุดมังรายยึดครองหริภุญชัยได้อย่างง่ายดาย"

ในตอนสุดท้ายแห่งบทความนี้ อาจารย์ทวี สว่างปัญญางกูร ได้สรุปไว้ดังนี้

"ในอดีต ชนชาติไทเขินเป็นชนชาติที่แข็งแกร่ง เคยชนะกองทัพของพญามังราย กองทัพพม่า จีน และในสมัย ร.๓ ร.๔ กองทัพไทยที่ไปตีเมืองเชียงตุงก็ไม่สามารถเข้าเวียงเชียงตุงได้รวม ๓ ครั้ง

ปัจจุบันเป็นที่น่าเสียดายที่ดินแดนเชียงตุงขึ้นกับต่างชาติ คือ พม่า แต่จิตใจของชาวไทเขินก็ยังนิยมชมชื่นประเทศไทยอย่างไม่เสื่อมคลาย"


จำนงค์ ทองประเสริฐ
๒๖ ตุลาคม ๒๕๓๖
Back