Back



เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๒ ข้าพเจ้าได้รับหนังสือจากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติเล่มหนึ่ง ชื่อ "คนเพลงและเพลงพื้นบ้านภาคกลาง" ของ เอนก นาวิกมูล ซึ่งได้รวบรวมเกี่ยวกับคนเพลงพวกพ่อเพลงแม่เพลงและเพลงพื้นบ้านภาคกลางไว้เป็นจำนวนมาก นับว่าเป็นหนังสือที่มีค่ามากเล่มหนึ่งในหนังสือนั้น มีอยู่ตอนหนึ่งคือ ตอน ๑๕ ว่าด้วย "พจนานุกรมล่าสุดสมัยกรุงรัตนโกสินทร์" โดย หมอยอนอเมริกัน คุณเอนก นาวิกมูล ได้เขียนเล่าไว้ดังนี้

"เมื่อ ปี พ.ศ. ๒๕๒๓ ผู้เขียนเขียนสารคดีเรื่องหนึ่ง ชื่อ "พจนานุกรมรุ่นแรกของไทย (ฝรั่งทำแทบทั้งนั้น)" ลงในหนังสือ "โลกหนังสือ" ฉบับเดือนมิถุนายนปีเดียวกัน

มีพจนานุกรมเล่มหนึ่งซึ่งเขียนไปโดยมีข้อติดขัดไม่กระจ่าง คือ พจนานุกรมของมิชชันนารี เทเลอร์ โจนส์ อันเป็นพจนานุกรมเก่าสุดของสมัย กรุงรัตนโกสินทร์เท่าที่มีรูปเล่มปรากฏให้เห็น จัดทำเมื่อ ค.ศ.๑๘๔๖ (พ.ศ. ๒๓๘๙) ก่อน ร.๓ สวรรคต ๕ ปี ที่ว่าติดขัดไม่กระจ่างก็เพราะไม่เคยเห็นตัวหนังสือเล่มนี้ ทั้ง ๆ ที่อาจารย์แม้นมาส ชวลิต เคยเขียนถึงเอาไว้สั้น ๆ ในคำนำหนังสือ อักขราภิธานศรับท์ หมอบรัดเลย์ ฉบับพิมพ์ใหม่ พ.ศ. ๒๕๑๔ ว่า เทเลอร์ โจนส์ ได้ทำพจนานุกรมขึ้นในปีดังกล่าว แต่ท่านไม่ได้บอกว่าหลักฐานมาจากไหน มีพจนานุกรมให้ดูหรือไม่ หากจะสอบถามท่านก็ลำบากเพราะท่านกำลังไปปฏิบัติงานอยู่ในต่างประเทศ ผู้เขียนจึงปล่อยให้เป็นข้อข้องใจตลอดมา

อันความสงสัยหรือปัญหาต่าง ๆ นั้น ความจริงแล้วต้องมีข้อยุติ ข้อสำคัญคือเวลาที่ต้องรอให้ยุตินั้นจะยาวนานเท่าใด บางครั้งเราต้องใช้เวลารอกุญแจไขปัญหานานนับเดือนนับปี และนับเป็นพัน ๆ ปีก็มี แต่บางครั้งเพียงชั่วข้ามวัน เราก็สามารถหาคำตอบได้

เรื่องของจักรวาลแห่งความรู้จึงอาศัยเวลา และขณะเดียวกันก็อาศัยโชคด้วย แต่ถึงกระนั้น นี่ก็ไม่ใช่ว่าจะรอโชคโดยไม่ขวนขวายพยายามแต่อย่างใด

เรื่องพจนานุกรมของเทเลอร์ โจนส์ ก็เหมือนกัน หลังจากที่ทิ้งค้างเป็นปัญหาเอาไว้ถึง ๒ ปี วันหนึ่งเมื่อกลาง พ.ศ. ๒๕๒๕ ผู้เขียนจึงได้พบพจนานุกรมเล่มนี้

คำว่าพบในที่นี้ ไม่ได้หมายความว่าตัวเองเป็นผู้ค้นพบโดยตรง แต่หมายความว่า เพิ่งเห็น เพราะมีผู้ที่เคยเห็นพจนานุกรมมาก่อนแล้ว อย่างน้อยก็คงอาจารย์แม้นมาส ชวลิต อดีตผู้อำนวยการหอสมุดแห่งชาติท่านหนึ่ง และอีกท่านหนึ่ง คือ คุณธูป นวลยง หัวหน้างานไมโครฟิล์ม ซึ่งมีความเมตตาหยิบไมโครฟิล์มที่ท่านถ่ายพจนานุกรมเก่าแก่เล่มนี้เอาไว้ออกมาให้ดูปกติผู้เขียนไปนั่งอ่านไมโครฟิล์มที่ห้องไมโครฟิล์มของหอสมุดแห่งชาติเสมอ แต่ไม่เคยเฉลียวใจว่าจะมีการถ่ายพจนานุกรมของเทเลอร์ โจนส์ และอนึ่ง เพราะไม่มีรายชื่อพจนานุกรมเล่มนี้ปรากฏให้เห็นในบัญชีบริการด้วย

วันหนึ่ง คุณธูป นวลยง (เกษียณอายุเมื่อกันยายน พ.ศ. ๒๕๒๕) ปรารภ ถึงสารคดีเรื่องพจนานุกรมที่ผู้เขียนเขียนขึ้น และเมื่อคุยไปสักครู่ ท่านก็เดินเข้าไปหยิบเอาไมโครฟิล์มม้วนหนึ่งมาฉายให้ดู ไมโครฟิล์มม้วนนั้นไม่ใช่เรื่องอื่นใด ท่านผู้อ่านเองก็คงทายถูกว่าคือไมโครฟิล์มพจนานุกรมของ เทเลอร์ โจนส์ ที่เคยเป็นปัญหามาเมื่อ ๒ ปีที่แล้ว นั่นเอง

ผู้เขียนย่อมมีความตื่นเต้นที่สุดที่ได้เห็นหนังสือเก่าแก่เช่นนี้ปรากฏรูปให้เห็นอยู่ ตื่นเต้น จนมือสั่น เพราะนึกไม่ถึงว่าอยู่ดี ๆ ก็ได้เห็นตัวปัญหาเพื่อนเก่าอยู่ตรงหน้าโดยไม่ได้คาดการณ์มาก่อนเลยทั้งสิ้น ก่อนหน้านี้ทำไมไม่เคยเอ่ยถามคุณธูป นวลยงเลยก็ไม่ทราบ

ต่อไปนี้ผู้เขียนจะเล่าเรื่องพจนานุกรมของเทเลอร์ โจนส์ ให้รู้กันเท่าที่กำลังจะทำได้

ความสำคัญของพจนานุกรมที่ค้นหาอยู่นี้ อยู่ตรงที่ว่า อาจถือเป็น "พจนานุกรมไทย - อังกฤษ ที่เก่าที่สุดในประวัติพจนานุกรมประเทศไทยเท่าที่มีตัวเล่มให้เห็นก็ว่าได้"

นี่เป็นข้อความตอนแรกของบทความที่คุณเอนก นาวิกมูลเขียนไว้ และมีตอนหนึ่งกล่าวว่า

"โจนส์ เริ่มต้นพจนานุกรมโดยไม่มีคำนำ หรือแนะนำอะไรทั้งสิ้น พอถัดจากหน้าปกก็เป็นการแปลภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษ นับตั้งแต่ ก กา กาณะ กาฝาก กาเฟือง กามาพจร ฯลฯ ไปเลย ลายมือที่คัดลอกนี้งดงาม เหลือเกิน ดูเท่าไรก็ไม่เบื่อ..."

ความจริงพจนานุกรมไทยที่ฝรั่งทำไว้มีหลายเล่ม ที่เรายังไม่ได้ถ่ายทอดออกให้คนไทยได้ทราบ เพราะมักมีต้นฉบับเป็นลายมือเขียน เพียงฉบับเดียว เมื่อข้าพเจ้าไปศึกษาที่มหาวิทยาลัยเยล สหรัฐอเมริกา พ.ศ. ๒๕๐๒ - ๒๕๐๔ นายมุสเกรฟ เจ้าหน้าที่หอสมุดเยล ก็เคยเอาพจนานุกรมไทยที่ฝรั่งทำไว้มาให้ดู แต่สมัยนั้นเครื่องถ่ายเอกสารยังไม่มี ถ้าทางหอสมุดแห่งชาติจะติดต่อขอให้เขาถ่ายเป็นไมโครฟิล์มมาเก็บรักษาไว้ก็คงมีประโยชน์มากทีเดียว และข้าพเจ้าก็จำไม่ได้ว่าเขียนขึ้นเมื่อ พ.ศ. เท่าใด จะก่อนหรือหลังฉบับของเทเลอร์ โจนส์ ก็ไม่ทราบ...

จำนงค์ ทองประเสริฐ
๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๔
Back