Back
พรรณ - พันธุ์


คำที่เกี่ยวกับวิชาชีววิทยา ที่มีใช้อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งมักทำให้ผู้อ่านสับสนอยู่คู่หนึ่ง ก็คือ คำว่า "พรรณ" (พ พาน รหัน ณ เณร สะกด) ซึ่งต่อไปจะเรียกว่า "พัน - นะ" กับ "พันธุ์ (พ พาน ไม้หันอากาศ น หนูสะกด ธ ธง สระอุ การันต์) ซึ่งต่อไปจะเรียกว่า "พัน - ทุ" เพราะในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ในเวลาที่ให้บทนิยามคำที่เกี่ยวกับ "พืช" บางทีก็ใช้ "พรรณ" บางทีก็ใช้ "พันธุ์" เลยไม่ทราบว่าเมื่อใดจะใช้คำว่า "พรรณ" เมื่อใดจะใช้คำว่า "พันธุ์" บางคนที่คิดว่าตนเป็นผู้รอบรู้เกี่ยวกับพืชเป็นอย่างดี เสนอความเห็นว่าควรจะใช้คำว่า "พันธุ์" ทั้งหมด เรื่องนี้ข้าพเจ้าขอเรียนให้ทราบไว้เป็นเบื้องแรกเสียก่อนว่า คำว่า "พรรณ" ทางชีววิทยานั้น ในหนังสือ "ศัพท์บัญญัติอังกฤษ - ไทย ไทย - อังกฤษ" ที่ราชบัณฑิตยสถานจัดพิมพ์จำหน่ายนั้น ตรงกับคำภาษาอังกฤษหลายคำด้วยกัน คือ

คำว่า variety ท่านก็บัญญัติไว้ว่า "พรรณ"
คำว่า species ท่านก็บัญญัติไว้ว่า "พรรณ; ชนิด"
คำว่า flora ท่านก็บัญญัติไว้ว่า "พรรณไม้ประจำถิ่น, พรรณไม้ประจำธรณีสมัย"
คำว่า fauna ท่านก็บัญญัติไว้ว่า "พรรณสัตว์ประจำถิ่น, พรรณสัตว์ประจำธรณีสมัย"

ตามปรกติ บทนิยามเกี่ยวกับต้นไม้ในพจนานุกรม ฉบับ พ.ศ. ๒๕๒๕ ท่านไม่นิยมใช้ข้อความว่า "น. ชื่อพรรณไม้ชนิดหนึ่ง..." อย่างที่ผู้ที่ใช้นามปากกาว่า "ตุ๊ยตุ่ย" ได้เขียนวิจารณ์ไว้ใน น.ส.พ.สยามรัฐ ฉบับวันอาทิตย์ที่ ๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๔ ว่ามีอยู่เกลื่อนไปในพจนานุกรม ฉบับ พ.ศ. ๒๕๒๕ สงสัยว่าคงจะใช้วิธี "ยกเมฆ" เขียนมากกว่า เพราะในพจนานุกรม บทนิยามที่เกี่ยวกับพืชท่านมักจะขึ้นต้นว่า "น. ชื่อต้นไม้..." "น. ชื่อไม้เถา..." "น. ชื่อไม้พุ่ม..." ชุดที่จะดูได้ง่าย ๆ เพราะรวมคำที่เกี่ยวกับพืชไว้มาก ก็คือคำที่ขึ้นต้นด้วย "มะ" เช่น มะม่วง มะปราง มะขาม ฯลฯ นับตั้งแต่คำว่า "มะกรูด" ไปจนถึง "มะฮอกกานี" จะพบว่าท่านใช้คำว่า "พรรณไม้" อยู่ ๒ แห่งเท่านั้น คือ ที่คำว่า "มะกล่ำ" ซึ่งท่านได้ให้บทนิยาม ขึ้นต้นว่า "น. ชื่อพรรณไม้ ๒ ชนิด ในวงศ์ Leguminosae (เลกูมิโนซี)..." กับคำว่า "มะแว้ง" ซึ่งท่านให้บทนิยามไว้ว่า "น. ชื่อพรรณไม้หลายชนิดในสกุล Solanum (โซลานุม) วงศ์ Solanaceae (โซลานาเซอี)..." ที่บทนิยามขึ้นต้นด้วย "น. ชื่อไม้ต้น..." มี ๔๔ คำ บทนิยามที่ขึ้นต้นด้วย "น. ชื่อไม้พุ่ม..." มีอยู่ ๘ คำ ที่ขึ้นต้นบทนิยามด้วยข้อความว่า "น. ชื่อไม้ล้มลุก..." มีอยู่คำหนึ่งคือคำว่า "มะเขือเทศ" และมีคำที่ขึ้นต้นด้วย "น. ชื่อไม้เถา..." อยู่ ๒ คำ คือ คำว่า "มะระ" และ "มะเดื่อดิน"

ส่วนคำว่า "พันธุ์" (พัน - ทุ) นั้นตรงกับภาษาอังกฤษว่า seed หรือ breed มีความหมายแคบลงมากกว่าคำว่า "พรรณ" (พัน - นะ) ในพจนานุกรม ฉบับ พ.ศ. ๒๕๒๕ คำที่เกี่ยวกับพืชซึ่งขึ้นต้นด้วย "มะ" นั้นมีอยู่ ๒ - ๓ คำที่ใช้ว่า "พันธุ์" คือ คำว่า "มะยง" ซึ่งท่านให้บทนิยามไว้ว่า "น. ชื่อมะปรางพันธุ์หนึ่ง รสเปรี้ยว ๆ หวาน ๆ" คำว่า "มะยงชิด" ท่านให้บทนิยามไว้ว่า "น. ชื่อมะปรางพันธุ์หนึ่ง รสหวานแหลม." "มะตูม" ซึ่งนอกจากจะเป็น "ไม้ต้น" แล้ว ยังเป็น "ชื่อมะม่วงพันธุ์หนึ่งของชนิด Mangifera indica Linn. (มันกิเฟรา อินดิกา ลินน์.)" ด้วย

ข้าพเจ้าขอเรียนท่านผู้ฟังว่า บทวิจารณ์ที่เกี่ยวกับพจนานุกรม ที่คนบางคนชอบเขียนแบบอ้างคลุม ๆ คล้าย ๆ "ยกเมฆ" เพื่อความเด่นความดังของตนก็มีอยู่ไม่น้อย เพราะฉะนั้น เมื่ออ่านแล้วขอได้โปรดตรวจสอบดูในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ด้วยว่าจริงหรือเท็จเพียงใด แต่ทั้งนี้ก็มิได้หมายความว่า พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถานจะต้องถูกสมบูรณ์แบบ ๑๐๐ % เสมอไป ข้าพเจ้าเองก็เห็นว่ายังมีขาดตกบกพร่องอยู่ไม่น้อย แม้คณะกรรมการชำระพจนานุกรม ท่านก็ประชุมปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมอยู่ตลอดเวลาสัปดาห์ละ ๒ ครั้ง ท่านทั้งหลายล้วนนิยมฟังความคิดเห็นของท่านอยู่เสมอ แต่ขอให้เขียนอย่างผู้รู้จริง วิพากษ์วิจารณ์ด้วยใจเป็นธรรม อย่าคิดว่าตนเองเป็นผู้รู้เพียงผู้เดียว ทำให้ข้าพเจ้านึกถึง น.ม.ส. หรือ พระราชวรวงศ์ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ ที่ทรงเขียน "คำนำ" ไว้ในหนังสือ "ปกีรณำพจนาคถ์" ของพระยาศรีสุนทรโวหาร ซึ่งมีตอนหนึ่งที่ข้าพเจ้าขอสรุปที่พระองค์ท่านกล่าวถึงผู้ที่ชอบวิจารณ์ผิด ๆ ถูก ๆ ไว้ว่า "จงอย่าเอาความโง่ของเราไปวัดความฉาดของท่านแล้วสรุปว่าท่านโง่ โดยเอาความโง่ของเราเป็นมาตรฐานในการวัดเลย" คณะกรรมการชำระพจนานุกรมท่านขอเพียงอย่างเดียวว่า "จงวิจารณ์อย่างผู้รู้และด้วยเมตตาธรรม" อย่าวิจารณ์ในลักษณะ "ยกตนข่มท่าน" เลย เพราะนั่นมิใช่ "วิสัยของบัณฑิต" ท่านขอเพียงเท่านี้เอง.

จำนงค์ ทองประเสริฐ
๑๔ มกราคม๒๕๓๕
Back