Back
พรหมลิขิต - เทวลิขิต - กรรมลิขิต


คำที่มาจากภาษาบาลีและสันสกฤตที่ยังออกเสียงสับสนกันอยู่บ้างชุดหนึ่ง ก็คือคำที่ลงท้ายว่า"ลิขิต" เช่น พรหมลิขิต กรรมลิขิต เทวลิขิต ว่าควรจะออกเสียงว่า พฺรม - มะ - ลิ - ขิด , กำ - มะ - ลิ - ขิด, เท - วะ - ลิ - ขิด" หรือจะออกเสียงว่า "พฺรม - ลิ - ขิด, กำ - ลิ - ขิด" ส่วนคำว่า "เทวลิขิต" ไม่มีปัญหาอะไร

บางคนเห็นว่า ควรออกเสียงว่า "พฺรม - ลิ - ขิด" คือ พระพรหมทรงลิขิต หรือ "กำ - ลิ - ขิด" เพราะกรรมเป็นผู้ลิขิตชีวิต ถ้าออกเสียงอย่างนี้ก็มิใช่คำสมาส แต่ตามปรกติเราจะไม่พูดว่า "ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับ "พฺรม - ลิ - ขิด" หรือ "แล้วแต่ กำ - ลิ - ขิด" เรามักจะพูดว่า "ลิขิต" ก็เป็นกริยา ถ้าออกเสียงว่า "พฺรม - มะ - ลิ - ขิด" หรือ "กำ - มะ - ลิ - ขิด" คำว่า "ลิขิต" ก็ใช้เป็นคำนาม หมายถึง "การลิขิตของพระพรหม" หรือ "การลิขิตของพระเจ้า" ในกรณีอย่างนี้ เราถือว่าเป็นคำสมาส เราจึงสามารถพูดได้ว่า "ชีวิตของเราขึ้นอยู่กับ พฺรม - มะ - ลิ - ขิด หรือ "ชีวิตของเราขึ้นอยู่กับ กำ - มะ - ลิ - ขิต"

คำว่า "ลิขิต" ในรูปเดิมเป็นคำกริยาในภาษาบาลีและสันสกฤต แปลว่า "เขียน" แต่เรานำมาใช้เป็นคำนามก็ได้ พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ได้ให้ความหมายไว้ดังนี้ "น. หนังสือ, จดหมาย, (นิยมใช้เฉพาะจดหมายของพระสงฆ์). ก. เขียน.

ถ้าเป็นจดหมายของพระสงฆ์เราก็อาจใช้ว่า "ลิขิต" เฉย ๆ หรือจะใช้ว่า "สมณลิขิต" ก็ได้ แต่ในคำว่า "พรหมลิขิต, กรรมลิขิต, เทวลิขิต" นั้น คำว่า "ลิขิต" หมายถึง การกำหนดชะตาชีวิตของคนเราตามคติความเชื่อถือในลัทธิศาสนาของตน ถ้าเป็นพวกที่นับถือศาสนาพราหมณ์ หรือแม้นับถือพระพุทธศาสนา แต่ยังมีความเชื่อในคติของศาสนาพราหมณ์ปะปนอยู่ ก็มีคติความเชื่อถือในเรื่อง "พรหมลิขิต" (พฺรม - มะ - ลิ - ขิด) คือถือว่าชีวิตของเรานั้น พระพรหมได้ลิขิตมาแล้วตั้งแต่เกิดว่าจะให้อยู่ในวรรณะใด คือ วรรณะพราหมณ์ วรรณะกษัตริย์ วรรณะแพศย์ หรือวรรณะศูทร เมื่อพระองค์ทรงกำหนดให้เกิดในวรรณะใดแล้ว ก็จะต้องอยู่ในวรรณะนั้นไปจนกว่าจะตาย จะฝืนพรหมลิขิตไม่ได้ แต่ในทางพระพุทธศาสนาถือว่าชีวิตของเราขึ้นอยู่กับ "กฎแห่งกรรม" คือ กรรมหรือการกระทำของเรานั่นเองจะเป็นผู้กำหนด หรือลิขิตชีวิตของเราให้เป็นไปต่าง ๆ กัน เราจะดีจะชั่วมิใช่เพราะชาติกำเนิด หากขึ้นอยู่กับกรรมคือการกระทำของเราเอง เราทำดีก็ได้ดี เราทำชั่วก็ได้ชั่ว แม้เราจะเกิดมาในตระกูลที่ต่ำต้อยยากจน เราก็อาจพัฒนาชีวิตของเราขึ้นสู่ตำแหน่งที่สูงส่งหรือเป็นเศรษฐีมหาเศรษฐีได้ อย่างนี้ถือว่าชีวิตของเราขึ้นอยู่กับ "กรรมลิขิต" (กำ - มะ - ลิ - ขิด) คือ การกระทำของเราเป็นผู้ลิขิตชะตาชีวิตของเรา ให้เป็นไปต่าง ๆ กัน ส่วนคำว่า "เทวลิขิต" (เท - วะ - ลิ - ขิด) นั้นก็มีใช้กัน อยู่บ้าง คือ หมายถึงความเชื่อที่ว่าชะตาชีวิตของเรานั้นพระเจ้า (God) ทรงเป็นผู้กำหนดไว้ล่วงหน้าแล้ว

คำว่า "เทวลิขิต" ก็เป็นคำสมาสระหว่างคำว่า "เทวะ" กับ "ลิขิต" ก็แปลว่า "การลิขิตของเทพเจ้าหรือพระเจ้า" เช่นเดียวกับคำว่า "เทวโองการ" ก็เป็นคำสมาสแปลว่า "โองการของเทพเจ้าหรือพระเจ้า" ทำนองเดียวกับคำว่า "พระบรมราชโองการ" ซึ่งแปล "โองการของพระมหากษัตริย์ที่ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแล้ว" ทั้งคำว่า "เทวลิขิต" และ "เทวโองการ" เป็นคำสมาสฉันใด คำว่า "พรหมลิขิต" ก็เป็นคำสมาสฉันนั้น เพราะฉะนั้นจึงควรออกเสียงให้ถูกต้องตามหลักคำสมาสคือออกเสียงเป็น "พรม - มะ - ลิ - ขิด, กำ - มะ - ลิ - ขิด, เท - วะ - ลิ - ขิด" ส่วนคนทั่ว ๆ ไปจะออกเสียงเป็น "พรม - ลิ - ขิด, กำ - ลิ - ขิต" อีกเรื่องหนึ่ง แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าคนไทยในปัจจุบัน แม้จะมีความรู้ภาษาไทยดี แต่ความรู้ในด้านภาษาบาลีและสันสกฤตไม่คอยมี ก็มักจะไม่ยึดหลักที่ครูบาอาจารย์ภาษาไทยเก่า ๆ ท่านสอนไว้ จึงมักจะคล้อยตามคนส่วนมากที่ไม่รู้หลักภาษาไทย โดยเฉพาะที่มาจากคำบาลีและสันสกฤตไปหมด ต่อไปคำว่า"สัปดาห์" ซึ่งครูบาอาจารย์สอนให้อ่านว่า "สัป - ดา" แต่คนเป็นจำนวนมากก็มักออกเสียงว่า "สับ - ปะ - ดา" ตามอย่างคำว่า "สัปดน, สัปทน, สัปคับ, สัปเหร่อ" ในที่สุดท่านก็จะต้องยอมให้อ่านว่า "สับ - ปะ - ดา"* ได้ หรือคำว่า "กริยา" ที่ตรงกับภาษาอังกฤษว่า verb นั้น เป็นคำที่มาจากคำสันสกฤตว่า "กฺริยา" (กฺริ - ยา) แต่คนที่ไม่รู้ว่ามาจากคำสันสกฤต ก็มักจะออกเสียงเป็น "กะ - ริ - ยา" เช่นเดียวกับ "ภริยา, จริยา" ต่อไปท่านก็คงจะยอมให้ออกเสียงเป็น "กะ - ริ - ยา"** ได้ด้วย ภาษาไทยในปัจจุบันจึงอยู่ในลักษณะที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง เพราะหาคนที่จะเป็นหลัก จริง ๆ ได้ยากแล้ว ต่อไปอีก ๒๐ - ๓๐ ปีข้างหน้า ภาษาไทยจะวิปริตผิดเพี้ยนไปจากปัจจุบันอย่างไร ก็ยังไม่ทราบอยู่เหมือนกัน อย่างไรก็ตาม เราควรจะยึด หลักไว้บ้าง มิฉะนั้นแล้วต่อไปเราก็จะอ่านกันอย่างไม่มีหลัก ใครอยากจะออกเสียงอย่างไรก็ได้.

*,** ปัจจุบันคณะกรรมการชำระพจนานุกรมยอมให้อ่านคำว่า "สัปดาห์" ว่า "สับ - ปะ - ดา" ก็ได้ และอ่านคำว่า "กริยา" ว่า "กะ -ริ - ยา" ก็ได้ด้วย เพราะกรรมการหลายคนอ่านอย่างนั้น

จำนงค์ ทองประเสริฐ
๗เมษายน๒๕๓๕
Back