Back
พระกริ่ง


วัตถุมงคลที่คนไทยโดยทั่ว ๆ ไป นิยมนับถือมากชนิดหนึ่งก็คือ "พระกริ่ง" ซึ่งพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ได้ให้บทนิยามไว้ในคำว่า "กริ่ง ๑" ตอนหนึ่งดังนี้ "...เรียกพระเครื่องที่ทำด้วยโลหะ ข้างในกลวง มีก้อนโลหะคลอน เขย่าดังกริ่ง ๆ ว่า พระกริ่ง, ทางเหนือว่า มะหิ่ง." ข้าพเจ้า ก็นึกว่าคงเป็นเช่นนั้น เพราะได้เคยเขย่าพระกริ่งดูหลายสิบองค์แล้ว ก็ได้ยินเสียงแต่จะเป็น "กริ่ง ๆ" หรือ "กริ๊ง ๆ" ก็คงแล้วแต่หูของผู้ฟังมากกว่า และที่แปลกมากก็คือ ข้าพเจ้าเคยได้รับพระกริ่งจากพระเถระผู้ใหญ่รูปหนึ่งที่จังหวัดนครนายกเมื่อกว่า ๓๐ ปีมาแล้ว มิได้ทำด้วยโลหะ สีดำ ๆ และลงอักขระไว้ด้วยมือทีเดียว เขย่าดูก็มีเสียงดังคล้ายกับพระกริ่งที่ทำด้วยโลหะเช่นกัน ข้าพเจ้ายังเก็บรักษาไว้แม้ในทุกวันนี้ เพราะคิดว่าคงจะมีไม่กี่องค์แน่ ๆ

ต่อมาข้าพเจ้าได้อ่าน "ตำนานความเป็นมาของพระกริ่งและพระชัยวัฒน์ ของสมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทว)" ซึ่งนายนิรันดร์ แดงวิจิตร เป็นผู้เขียนมีข้อความที่น่าสนใจมากดังนี้

"ก่อนที่ข้าพเจ้า (นายนิรันดร์ แดงวิจิตร) จะกล่าวถึงตำนานความเป็นมาของพระกริ่ง และพระชัยวัฒน์นี้ ข้าพเจ้า (ศาสตราจารย์แสง มนวิทูร) จะได้ขอถือโอกาสเรียนท่านผู้อ่านให้ทราบเสียด้วยว่า "คำว่า "กริ่ง" นี้หมายความว่ากระไร สมเด็จฯ (สมเด็จพระสังฆราช แพ ติสฺสเทว) เคยรับสั่งเสมอว่า คำว่า "กริ่ง" นี้ มาจากคำถามที่ว่า "กึ กุสโล" (กิง กุสะโล) คือเมื่อพระโยคาวจรบำเพ็ญสมณธรรม มีจิตผ่านกุศลธรรมทั้งปวงเป็นลำดับไปแล้ว ถึงขั้นสุดท้าย จิตเสวยอุเบกขาเวทนา ปุญญาภิสังขาร (สภาพที่ปรุงแต่งกรรมฝ่ายดี ได้แก่ กุศลเจตนา) เปลี่ยนเป็น อเนญชา (สภาพที่ปรุงแต่งภพอันมั่นคง ไม่หวั่นไหว ได้แก่ ภาวะจิตที่มั่นคงแน่วแน่ด้วยสมาธิแห่งจตุตถฌาน คือ ฌานที่ ๔) เป็นเหตุให้พระโยคาวจรเอะใจขึ้นว่า "กึ กุสโล" นี้เป็นกุศลอะไร เพราะเป็นธรรมที่เกิดขึ้น แปลกประหลาด ไม่เหมือนกับกุศลอื่นที่ผ่านมา ดังนั้น คำว่า "กึ กุสโล" จึงเป็นชื่อของ อเนญชา คือ "นิพพุติ" แปลว่า "ดับสนิท" คือหมายถึงพระนิพพานนั่นเอง" (นี่เป็นคำพูดของศาสตราจารย์ แสง มนวิทูร)

"มูลเหตุที่สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทว) วัดสุทัศนเทพวราราม สร้างพระกริ่งและพระชัยวัฒน์นั้น มีดังจะกล่าวต่อไปนี้ คือ

"ทรงเล่าว่า เมื่อพระองค์ดำรงสมณศักดิ์เป็นพระศรีสมโพธิ ครั้งนั้น สมเด็จพระวันรัต (แดง) ได้อาพาธเป็นอหิวาตกโรค สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ครั้งยังทรงเป็นกรมหมื่นเสด็จมาเยี่ยม เมื่อรับสั่งถามถึงอาการของโรคเป็นที่เข้าพระทัยแล้ว รับสั่งว่า เคยเห็นกรมพระยาปวเรศฯ เสด็จพระอุปัชฌาย์ของพระองค์อาราธนาพระกริ่งแช่น้ำอธิษฐาน ขอน้ำพระพุทธมนต์แล้วให้คนไข้เป็นอหิวาตกโรคกินหายเป็นปรกติ พระองค์จึงรับสั่งให้มหาดเล็กที่ตามเสด็จไปนำพระกริ่งที่วัดบวรนิเวศ แต่สมเด็จฯ ทูลว่า พระกริ่งที่กุฏิมี สมเด็จพระมหาสมณเจ้า จึงรับสั่งให้นำมา แล้วอาราธนาพระกริ่ง แช่น้ำอธิษฐานขอน้ำพระพุทธมนต์แล้วนำไปถวายสมเด็จพระวันรัต (แดง) เมื่อท่านฉันน้ำพระพุทธมนต์แล้วโรคอหิวาต์ก็บรรเทาหายเป็นปรกติ

"ข้าพเจ้าทูลถามว่า พระกริ่งที่อาราธนาขอน้ำพระพุทธมนต์นั้น เป็นพระกริ่งสมัยไหน พระองค์ท่านรับสั่งว่าจำไม่ได้ เข้าใจว่าเป็นพระกริ่งเก่า หรือไม่ก็คงเป็นพระกริ่งของสมเด็จกรมพระยาปวเรศฯ องค์ใดองค์หนึ่ง

"ตั้งแต่นั้นมา พระองค์ก็เริ่มสนพระทัยในการสร้างพระกริ่งขึ้นเป็นลำดับ ค้นหาประวัติการสร้างพระกริ่งและก็ได้เค้าว่า การสร้างพระกริ่งนี้มีมาแต่โบราณกาลแล้ว เริ่มขึ้นที่ประเทศทิเบตก่อน ต่อมาก็ประเทศจีน และประเทศเขมร..."

และมีข้อความอีกตอนหนึ่งได้กล่าวถึงพระพุทธลักษณะของพระกริ่งไว้ ดังนี้

"พระพุทธลักษณะของพระกริ่ง เป็นแบบพระพุทธรูปมหายานทางประเทศทิเบต และปรากฏว่าในประเทศเขมรก็มีพระกริ่งแบบนี้เหมือนกับเรา เรียกกันว่า "กริ่งปะทุม" ประเพณีนิยมสร้างพระกริ่งของไทยจะได้ครูจากเขมรเป็นแน่แท้ และมีการสร้างกันในยุคกรุงสุโขทัยแล้ว ที่กล่าวว่าตำราสร้างพระกริ่งในยุคกรุงรัตนโกสินทร์นี้ เดิมเป็นของสมเด็จพระพนรัต วัดป่าแก้วก็น่าจะจริง เพราะสมเด็จพระพนรัตองค์นั้นท่านคงจะได้รวบรวมวิธีการสร้างตำรับตำราเก่า ๆ และในสมัยนั้น วัดป่าแก้วก็นับถือกันว่าเป็นสำนักอรัญญิกาวาสสมถธุระวิปัสสนาธุระ

"อันที่จริง พระกริ่งก็คือ พระปฏิมาพระไภษัชยคุรุพุทธเจ้านั่นเอง พระพุทธเจ้าองค์นี้เป็นที่นิยมนับถือของปวงพุทธศาสนิกชน ฝ่ายลิทธิมหายาน ยิ่งนัก ปรากฏพระประวัติมาในพระสูตรสันสกฤตสูตรหนึ่ง คือ "พระพุทธเจ้าไภษัชยคุรุไวฑูรยประภาราชามูลประณิธานสูตร" แปลเป็นจีนในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๐..."

ก็เป็นอันว่า "พระกริ่ง" นั้นเป็นพระเครื่องที่ได้แบบมาจากทิเบต หมายถึงพระพุทธเจ้าไภษัชยคุรุซึ่งหมายความว่า ทรงเป็นครูในด้านเภสัช คือ การรักษาพยาบาล เพราะฉะนั้นจึงนิยมใช้อธิษฐานแช่น้ำทำเป็นน้ำพระพุทธมนต์แล้วดื่มกินเชื่อว่ารักษาโรคภัยไข้เจ็บแม้แต่อหิวาตกโรคได้.

จำนงค์ ทองประเสริฐ
๓กันยายน๒๕๓๔
Back