Back

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงห่วงใยภาษาไทย

ข้าพเจ้าได้อ่าน น.ส.พ. มติชน ฉบับประจำวันพุธที่ ๒๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๖ พบหัวข้อที่หน้าที่ ๑ แห่งหนึ่งว่า "จี้กรมประชาฯ เข้มรายการ-พูดไม่ชัดห้ามออกเสียงในหลวงทรงห่วงใยภาษาไทย รับสั่งให้นายกฯ แก้ไขด่วน" แล้วก็มีข้อความต่อไปดังนี้

"ชวน เผยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสทรงห่วงใยภาษาไทย ใช้ไม่ถูกต้องเหมาะสม นายกฯ เรียกกรมประชาสัมพันธ์จี้ให้เร่งแก้ไขด่วน ยอมรับในภูมิภาคนี้เหลืออยู่เพียงประเทศเดียว คือไทย มีทั้งภาษา สำเนียง อักขระเป็นของตนเอง นอกนั้นถูกกลืนหมด เน้นน่าจะภูมิใจ และพยายามรักษาภาษาไทยกันให้มาก สั่งปรับรายการต่าง ๆ พูดไทยไม่ชัด ห้ามออกเสียง

นายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์พิเศษในรายการภาษาสโมสร ซึ่งทางสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (สวช.) ให้การสนับสนุนที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเช้าวันที่ ๒๐ กรกฎาคม เกี่ยวกับการใช้ภาษาไทยว่า ปัจจุบันคนไทยปล่อยปละละเลยมากในเรื่องการใช้ภาษาไทยทั้งภาษาพูดและภาษาเขียน มักจะมีการใช้กันแบบผิด ๆ ไม่ได้คิดอย่างรอบคอบก่อน และที่สำคัญไม่ได้คำนึงถึงความถูกต้องเหมาะสม นึกจะพูดก็พูด เขียนก็เขียน ทำให้ภาษาไทยที่บรรพบุรุษสร้างสมมาด้อยค่าลงไปทุกวัน ตนมีความสนใจเรื่องภาษามาแต่เด็ก และชอบอ่านหนังสือมาก มีความภูมิใจเป็นที่สุด ที่ไทยมีภาษาของตัวเอง

"ป้ายที่แสดงเครื่องหมายต่าง ๆ ถ้ามีภาษาอังกฤษ จะต้องมีภาษาไทยกำกับด้วย อย่างที่สนามบินดอนเมือง ผมเป็นคนขอร้องให้ติดป้ายแสดงภาษาไทยด้วย ส่วนในเรื่องของการพูดนั้น ผมเป็นคนที่ฟังมามาก เวลาที่จะพูดอะไรออกไปต้องคิดก่อน" นายชวนกล่าว และว่า ขณะนี้ ไม่มีการฝีกฝนการใช้ภาษาอย่างเข้มงวด อย่างการพูดไม่ชัด ร เรือ ล ลิง หรือคำควบกล้ำอื่น ๆ ปัจจุบันละเลยกันมาก แม้แต่คนที่มีฐานะตำแหน่งทางราชการ ทางสังคมที่ดีเป็นจำนวนมากพูดไม่ชัด ค่านิยมในปัจจุบันเปลี่ยนไป เป็นการยอมรับความไม่ถูกต้องของการใช้ภาษามากขึ้น เรื่องนี้เป็นเรื่องน่าคิดและอยากย้ำกับทุก ๆ ฝ่ายว่า ในภูมิภาคนี้ ประเทศที่มีภาษาเป็นของตนเอง ทั้งสำเนียง อักขระ อักษรใช้คือประเทศไทย ประเทศอื่น ๆ บางประเทศแม้จะใช้ภาษาของตนเองในการพูด แต่ตัวเขียนจะไม่มีอักษรของตัวเอง จะใช้อักษรโรมัน ประเทศไทยจึงควรจะภูมิใจและควรพยายามรักษาภาษาไทยให้มาก การใช้เลขไทยก็ไม่ควรเปลี่ยนเป็นอย่างอื่น

นายชวน กล่าวว่า ตนมีโอกาสเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระองค์มีพระราชดำรัสในเรื่องการใช้ภาษากับสื่อต่าง ๆ ว่าควรจะออกไปอย่างถูกต้องเหมาะสม ไม่ควรปล่อยออกไปแบบผิด ๆ ซึ่งเรื่องนี้ได้เชิญกรมประชาสัมพันธ์มาพบและรายงานพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้ทราบ เพื่อจะได้นำไปปรับปรุงในเรื่องนี้ ซึ่งคงจะต้องขอความร่วมมือกันทุกฝ่ายให้เห็นถึงคุณค่าทางภาษาไทยให้มาก ต้องฝึกฝนและเข้มงวด ถ้าเป็นรายการต่าง ๆ คนรับผิดชอบต้องตรวจสอบให้ดี การสัมภาษณ์บุคคลใดก็ตาม ถ้าสำเนียงเสียงภาษาออกไม่เหมาะสม ไม่ชัด ผิดมาก ๆ ไม่ควรปล่อยเสียงออกมา เพราะจะกลายเป็นตัวอย่างที่ไม่ดี

"ในฐานะที่ผมสัมผัสกับทางราชการมาตลอด รู้ดีว่ามีผู้รู้ภาษาไทย เขียนภาษาไทยได้ดี หายากมากในขณะนี้ เพราะฉะนั้น เวลาที่มีคำกล่าวของนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรี ผู้ที่ร่างคำกล่าวมักจะกลับกัน (คล้ายกับ) แปลมาจากภาษาอังกฤษ เหมือนกับที่เราฟังข่าวกันในขณะนี้ มีหลายอย่างผิดบ่อยจนกระทั่งบางครั้ง เราได้รับอิทธิพลอย่างนั้นเข้ามา อยากจะให้ผู้ที่เกี่ยวข้องระมัดระวัง" นายชวน กล่าว

นายชวนกล่าวว่า อยากจะฝากถึงเยาวชนไทยว่า เราเป็นคนไทยมีวัฒนธรรม มีความเป็นเอกลักษณ์ และมีภาษาของไทยเอง ต้องหวงแหนและเก็บรักษาไว้ เพราะฉะนั้น ต้องฝึกฝนกันเดี๋ยวนี้ ในขณะที่ยังเยาว์วัยอยู่ จึงจะเป็นประโยชน์ติดตัวในอนาคต ดีกว่าไปเรียนอยู่ตอนอายุมากแล้ว ตอนนั้นยากจะเข้าใจ เด็กวัยรุ่นสามารถเรียนรู้เรื่องของภาษาวัฒนธรรมได้เป็นอย่างดี"

ข้าพเจ้าเห็นว่าเรื่อง "ภาษาไทย" นี้เป็นเรื่องที่สำคัญยิ่ง และได้ต่อสู้เรื่องภาษาไทย มาเกือบ ๔๐ ปีแล้ว โดยเฉพาะได้รับการสนับสนุนจากกรมประชาสัมพันธ์เป็นอย่างดีตลอดมา ท่านนายกรัฐมนตรีผู้นี้เป็นผู้ที่ใช้ภาษาไทยได้ดียิ่งคนหนึ่ง ในสมัยที่ท่านเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเมื่อมีปัญหาเกี่ยวกับการเขียนหรือการออกเสียงคำบางคำ ท่านจะให้เลขานุการของท่านโทรศัพท์ไปถามข้าพเจ้าอยู่เสมอ สมัยที่ ฯพณฯ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ องคมนตรีและรัฐบุรุษเป็นนายกรัฐมนตรีท่านก็กวดขันในเรื่องนี้มาก เมื่อเช้าวันจันทร์ที่ ๑๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๖ ตอนก่อน ๗ นาฬิกา ข้าพเจ้าได้ฟังเจ้าหน้าที่กรมประชาสัมพันธ์สัมภาษณ์ผู้อำนวยการกองฝ่ายวิชาการคนหนึ่งของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย แล้วก็รู้สึกรำคาญ เพราะท่านออกเสียงตัวกล้ำไม่ได้เลย แม้แต่กรมของท่านเอง ท่านก็ออกเสียงว่า "กม - กาน - ปก - คอง" ข้าพเจ้าฟังจนตลอดรายการ ซึ่งในลักษณะอย่างนี้ ก็ได้ยินอยู่เสมอ ๆ ไม่น่าจะเอามาออกอากาศเลย ทำให้เสียความรู้สึกมาก ทั้งนี้อาจเป็นผลเนื่องมาจากการศึกษาในโรงเรียนสมัยหลัง ๆ นี้ แทบจะไม่ได้สอนอ่านออกเสียงภาษาไทยเลยนั่นเอง ถึงกับทำให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวต้องทรงแสดงความห่วงใยฝากมายังท่านนายกรัฐมนตรี เรื่องนี้กรมประชาสัมพันธ์จะต้องปรับปรุงแก้ไข และต้องนำการสอบผู้ประกาศมาดำเนินการใหม่ รวมทั้งเรียกผู้ที่สอบผ่านไปหลาย ๆ ปีแล้วมาอบรมบ้างเป็นครั้งคราว มิฉะนั้นภาษาไทยจะวิบัติมากขึ้นทุกที.


จำนงค์ ทองประเสริฐ
๒๑ กรกฎาคม ๒๕๓๖
Back