Back

พระสยามเทวาธิราช

สิ่งศักดิ์สิทธิ์อย่างหนึ่งที่คนไทยเรามีความเคารพเชื่อถือมาก และมักมีผู้อ้างเพื่อขอให้ทรงคุ้มครองชาติไทยอยู่เสมอก็คือ "พระสยามเทวาธิราช" แต่คน ส่วนมากไม่ทราบความเป็นมาของพระสยามเทวาธิราชเลย วันหนึ่งข้าพเจ้าไปหาซื้อหนังสือแจกงานศพที่หน้า ส.ทร. ท่าช้างวังหลวง ได้หนังสือดีมาเล่มหนึ่ง คือหนังสือที่จัดพิมพ์เป็นอนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพคุณหญิงสวลี ชลวิจารณ์ ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส เมื่อวันที่ ๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๕ ในหนังสือนั้นมีเรื่องที่สำคัญหลายเรื่องซึ่งเป็นพระนิพนธ์ หม่อมเจ้าหญิง พูนพิศมัย ดิศกุล เรื่องหนึ่งก็คือ "พระสยามเทวาธิราช" ข้าพเจ้าขออนุญาตนำมาเสนอท่านผู้ฟังเป็นเพียงบางตอนเท่าที่เวลาจะอำนวยให้ดังนี้

"ตั้งแต่ไทยตั้งราชธานีทางใต้ตั้งแต่สุโขทัยลงมาประมาณ ๗๐๐ ปีแล้วนั้น ไทยเคยตกไปเป็นเมืองขึ้นของพม่าเพียง ๒ ครั้ง ครั้งแรกใน พ.ศ. ๒๑๑๒ แต่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชก็ทรงกู้เอาเอกราชกลับมาได้ภายใน ๑๕ ปี ครั้ง ๒ เมื่อคราวกรุงแตกใน พ.ศ. ๒๓๑๐ พระเจ้ากรุงธนบุรีก็ขับไล่พวกนายกองพม่าออกไปได้ในระยะเวลาเพียง ๘ เดือน ทั้งนี้เพราะเหตุการณ์ไม่เหมือนกันทั้ง ๒ ครั้ง ด้วยครั้งแรกเป็นทัพกษัตริย์พระเจ้าบุเรงนองมีเดชานุภาพมาก ถึงเรียกกันว่า พระเจ้าชนะสิบทิศในพงศาวดาร แม้เช่นนั้นเหตุที่เอาชนะได้ก็เพราะเราแตกกันเอง เนื่องแต่พระมหินทร์ราชโอรสกับพระมหาธรรมราชาราชบุตรเขยไม่ลงรอยกันเป็นต้นเหตุ ครั้นบุเรงนองชนะแล้ว ก็จัดการกับเราเช่นประเทศราช คือเปลี่ยนแปลงการปกครอง เป็นแบบเมืองขึ้น มิได้เผาผลาญบ้านเรือนให้ย่อยยับไป จึงเป็นเหตุให้พระนเรศวรเป็นเจ้าของเราได้ทรงพยายามกลับเป็นเอกราชอยู่หลายปี จนในที่สุดก็ทรงทำยุทธหัตถีด้วยพระหัตถ์เป็นผลสำเร็จดังพระราชประสงค์ต่อมา"

ต่อจากนั้น ม.จ.หญิงพูนพิศมัย ดิศกุล ก็ทรงนิพนธ์ถึงตอนที่สมเด็จ พระเจ้าตากสินทรงใช้เวลากอบกู้เอกราชได้ภายในเวลาเพียง ๘ เดือน แล้วก็กล่าวถึงตอนที่ประเทศมหาอำนาจทางตะวันตกทำการเปิดประตูค้ากับพวกตะวันออกโดยใช้อำนาจปืนเรือรบบังคับ ประเทศต่าง ๆ บางประเทศไม่ยอมทำสัญญาค้าขายด้วย จนเป็นเหตุให้เกิดสงครามแล้วก็ตกเป็นเมืองขึ้นของมหาอำนาจตะวันตกไปตามกัน แต่สำหรับเมืองไทยเราได้เปิดประตูต้อนรับชาวตะวันตกมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาแล้ว เราจึงรู้เท่าทันเหตุการณ์สามารถรักษาความเป็นเอกราชไว้ได้ ทั้งนี้เพราะพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะที่ทรงพระผนวชเป็นภิกษุอยู่ ๒๗ พรรษานั้น ได้ทรงติดต่อและศึกษาเกี่ยวกับการต่างประเทศไว้มาก หลังจากที่ทรงลาพระผนวชออกมาครองราชสมบัติได้ ๕ ปี เซอร์จอห์น โบว์ริ่ง (Sir John Bowring) เจ้าเมืองฮ่องกงก็มีจดหมายส่วนตัวเข้ามากราบทูลว่า คราวนี้ตัวเขาจะเข้ามาเป็นราชทูตแทนพระองค์ควีนวิกตอเรีย ไม่ใช่เป็นแต่เพียงทูตมาจากผู้สำเร็จราชการอินเดียเช่นคนก่อน ๆ เพราะฉะนั้นจึงหวังว่าจะไม่มีเรื่องเดือดร้อนถึงต้องขัดใจกัน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทราบข้อไขอันนี้ดี จึงทรงเปิดประตูรับในฐานมิตรและเป็นผลให้เราได้พ้นภัยมาได้แต่ผู้เดียวในทางตะวันออกประเทศนี้ ต่อจากนั้น ม.จ. หญิงพูนพิศมัย ดิศกุล ก็ทรงเล่าถึงเหตุที่ทำให้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างพระสยามเทวาธิราชขึ้นดังนี้

"เมื่อเหตุการณ์เรียบร้อยแล้ว ทรงพระราชดำริว่า เมืองไทยเรานี้มีเหตุการณ์หวิด ๆ จะต้องเสียอิสรภาพมาหลายต่อหลายครั้งแล้ว แต่เผอิญให้มีเหตุรอดพ้นได้เสมอมา ชะรอยจะมีเทพยดาองค์ใดองค์หนึ่งที่คอยพิทักษ์รักษาอยู่ จึงสมควรจะทำรูปเทพพระองค์นั้นขึ้น ไว้สักการบูชา แล้วโปรดให้พระองค์เจ้าดิษฐวรการ (หม่อมเจ้ารัชกาลที่ ๑) นายช่างเอกทรงปั้นรูปเทพพระองค์นั้น เป็นรูปทรงต้นยืนถือพระขรรค์ในพระหัตถ์ขวา ขนาด ๘ นิ้วฟุตงดงามได้สัดส่วนแล้วหล่อด้วยทองคำแท่งทั้งพระองค์ ทรงถวายพระนาม "พระสยามเทวาธิราช" แล้วประดิษฐานไว้ในพระวิมานกลางพระที่นั่งไพศาลทักษิณจนทุกวันนี้ ท่านผู้ใหญ่ชั้นคุณย่าของข้าพเจ้าเล่าว่า ในรัชกาลที่ ๔ ทรงสังเวยทุกวัน และเป็นที่นับถือกันว่าศักดิ์สิทธิ์นัก บัดนี้เนื่องแต่ทางพระราชสำนักต้องตัดทอนรายจ่ายมากมายมาแต่ในรัชกาลที่ ๗ จึงคงยังมีเครื่องสังเวยถวายแต่เฉพาะวันอังคาร และวันเสาร์ อาทิตย์ละ ๒ ครั้ง และในเวลาปีใหม่ก็มีการบวงสรวงสังเวยเป็นพิธีใหม่ มีละครรำของกรมศิลปากรในเวลาเช้าวันสังเวยนั้น

"อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ต่าง ๆ ดังเราท่านได้ประสบมาด้วยตนเอง ยิ่งนานวันก็ยิ่งเห็นว่าพระสยามเทวาธิราชนั้นมีจริง เราจงพร้อมใจกันอธิษฐานด้วยกุศลผลบุญที่เราได้ทำมาแล้วด้วยดี ขอให้เทพเจ้าอันศักดิ์สิทธิ์พระองค์นี้ จงได้ทรงคุ้มครองป้องกันภัย และโปรดประสิทธิ์ประสาทความสมบูรณ์พูนสุขให้แก่ประชาชนชาวสยามทั่วกันเทอญ"

ท่านนผู้ฟังก็คงพอจะทราบถึงความเป็นมาของพระสยามเทวาธิราชที่ประชาชนคนไทยเคารพนับถือและเชื่อในความศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์จากบทความของ ม.จ. หญิงพูนพิศมัย ดิศกุล ดังกล่าวมาแล้ว.


จำนงค์ ทองประเสริฐ
๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๖
Back