Back

พระเจดีย์สามองค์

ตำบลที่มีชื่อปรากฏอยู่ในประวัติศาสตร์ที่รู้จักกันดีตำบลหนึ่ง ก็คือ ตำบล "พระเจดีย์สามองค์" หรือ "ด่านพระเจดีย์สามองค์" เรื่องนี้ได้มีผู้ตั้งปัญหาถามในหนังสือ "วงวรรณคดี" ฉบับเมษายน ๒๔๙๖ ว่า "ที่เรียกกันว่า "พระเจดีย์สามองค์" หรือ "ด่านพระเจดีย์สามองค์" นั้น อยู่ที่ไหน มีพระเจดีย์สามองค์จริงหรือไม่ ใครเป็นผู้สร้างพระเจดีย์นั้น สร้างไว้ทำไม สร้างไว้แต่เมื่อไร" แล้วก็มีคำตอบให้ไว้ดังนี้

"ชื่อตำบลที่เรียก "พระเจดีย์สามองค์" นั้น ในประเทศไทยนี้คงมีอยู่สามแห่งด้วยกัน คืออยู่ในเขตกาญจนบุรี ๒ แห่ง แห่งหนึ่ง คือ ตำบลที่กล่าวถึงเสมอ ๆ ในพงศาวดารที่ว่าเป็นทางผ่านของพม่าหรือเรียกว่า ด่านพระเจดีย์สามองค์ อีกแห่งหนึ่งอยู่ใต้ลงมาทางด่านบ้องตี้ ซึ่งดูได้ชัดเจนจากแผนที่ประเทศไทยของกรมแผนที่ ส่วนอีกแห่งหนึ่งนั้นอยู่ในเขตจังหวัดราชบุรี เฉพาะที่ด่านพระเจดีย์สามองค์นั้น มีพระเจดีย์สร้างอยู่ ส่วนอีกสองแห่งนั้น ไม่มีชื่อเสียงในพงศาวดาร พระเจดีย์นั้นมีแต่ฐาน ส่วนรูปร่างลักษณะอื่นแลไม่เห็นเพราะพังหมด การเดินทางไปด่านพระเจดีย์สามองค์นั้นในฤดูแล้ง สามารถเดินป่าไปได้ทางเมืองกาญจนบุรี ทางอำเภอทองผาภูมิ ในสมัยสงครามไปโดยรถไฟสายกาญจนบุรีได้ แต่ในปัจจุบันยังไม่สะดวก

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงกล่าวถึงเหตุที่สร้างพระเจดีย์นี้ไว้ในหนังสือประชุมนิพนธ์เบ็ดเตล็ดเรื่อง "วินิจฉัยเรื่องพระเจดีย์ ๓ องค์" ว่า "คงเป็นเพราะความยินดีที่มีชัยชนะในสงครามอย่างหนึ่ง มีความยินดีที่ได้กลับบ้านเมืองโดยปลอดภัยอย่างหนึ่ง และอาจเป็นเพราะได้บนบานอธิษฐานไว้เป็นการใช้บนด้วยอีกอย่างหนึ่ง" และทรงสรุปไว้ในตอนท้ายเรื่องว่า ทรงเห็นว่า พระเจดีย์สามองค์นั้น ๑. มิได้สร้างเป็นเครื่องหมายเขตแดน ๒. มิใช่ของหลวงสร้าง ๓. เป็นของแม่ทัพไทยที่ยกออกไปรบชนะพม่ากลับมาสร้างไว้ ๔. ที่สร้างเป็นสามองค์ คงเป็นเพราะกองทัพยกตามกันมาสามกอง กองมาถึงก่อนสร้างไว้องค์หนึ่ง กองมาภายหลังก็สร้างกองละองค์เรียงกันต่อไป ๕. แต่จะสร้างเมื่อใด ไม่มีหลักที่จะลงความเห็น เพราะอาจจะมีพระเจดีย์สามองค์อยู่ก่อนรัชกาลสมเด็จพระนเรศวร

โดยเฉพาะเหตุข้อ ๕ ทรงกล่าวโดยอ้างข้อความในพงศาวดารตอนที่เจ้าพระยาจักรี เป็นแม่ทัพยกไปตีเมืองทะวาย พระยาพระคลังเป็นแม่ทัพไปตีเมืองตะนาวศรี เมื่อ พ.ศ. ๒๑๓๖ ตีได้เมืองทั้งสองนั้นแล้ว กองทัพเจ้าพระยาจักรียกกลับมาจากเมืองทะวาย ทาง "ด่านขมองส่วย" ในหนังสือพระราชพงศาวดารว่า "ถึงตำบลเขาสูง ช่องแคบ แดนพระนครศรีอยุธยากับเมืองทะวายต่อกัน หาที่สำคัญมิได้ จึงให้เอาปูนในเต้าไพร่พลทั้งปวงมาประสมกันเข้าเป็นใบสอก่อพระเจดีย์ ฐานสูง ๖ ศอก พอหุงอาหารสุกก็สำเร็จ แล้วยกกองทัพมาถึงกรุงศรีอยุธยา" ทั้งนี้ทรงอ้างว่า เจ้าพระยาจักรีอาจเอาอย่างพระเจดีย์สามองค์ที่มีอยู่ก่อนแล้ว ไปสร้างที่แดนเมืองทะวายก็ได้ แต่ความทั้งหมดที่ทรงกล่าวไว้นี้ ทรงอธิบายไว้ตอนท้ายที่สุดของเรื่องว่า "ที่ว่านี้มิได้เคยเห็นพระเจดีย์สามองค์ด้วยตนเอง จึงได้แต่คาดคะเน"

ได้สอบสวนจากหลักฐานทางอื่น ๆ ได้ความว่า ธรรมเนียมของพวกเดินป่า เมื่อผ่านที่สำคัญ เช่น สันเขา ต้นไม้ใหญ่ หรือปากดง ซึ่งมีความไข้ชุกชุม ย่อมถือกันว่า มีเทพารักษ์ศักดิ์สิทธิ์สิงสู่อยู่ในที่นั้น ๆ จึงมีประเพณีต้องกระทำสักการบูชาด้วยดอกไม้ธูปเทียน แต่ในการเดินทางในที่กันดารเช่นนั้น ย่อมจะไม่มีใครนำธูปเทียนไปด้วยนัก จึงเกิดการใช้ก้อนหินหรือกิ่งไม้ดอกไม้เป็นเครื่องบูชาแทนธูปเทียน ดังนั้นเมื่อกาลนานเข้า ก็มีผู้คนเดินผ่านสิ่งนั้นมากขึ้น สิ่งสักการะก็ยิ่งทวีขึ้นตาม เพราะเป็นธรรมดาของผู้เดินทางเมื่อได้พบเห็นมีผู้ทำสักการะในสิ่งใดที่ใดไว้ก่อนหลัง ก็ถือกันว่าต้องทำตาม มิฉะนั้นไม่มีความสบายใจจนจะพาให้เกิดไข้เจ็บหรืออันตรายอย่างใด ๆ ขึ้นได้ พระเจดีย์สามองค์ก็คงเป็นหลักไม้หรือหลักหินอยู่แต่เดิมก่อน และโดยที่อยู่ในระยะทางคนเดินไปมาแต่กาลดึกดำบรรพ์ ก็ได้รับเครื่องสักการะด้วยก้อนหินทับถมมากมายขึ้นจนกลายเป็นกองหินสามกอง และเลยเรียกชื่อตำบลนั้นว่า หินสามกอง ภายหลังก็มากลายเป็น พระเจดีย์สามองค์"

ตำบลพระเจดีย์สามองค์นี้ จะเรียกว่า พระเจดีย์สามองค์ มาแต่เมื่อใดนั้นไม่ปรากฏ แต่ตามที่ปรากฏเป็นรูปพระเจดีย์อยู่ในขณะนี้นั้น มีเรื่องราวว่าเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๒ พระศรีสุวรรณคีรี (ทะเจียงโปรย เสตะพันธ์) นายอำเภอสังขละบุรีพร้อมด้วยราษฎร มีใจศรัทธาคิดจะสร้างพระเจดีย์ให้เป็นรูปงดงามขึ้น และเพื่อได้เป็นสิ่งถาวรต่อไป จึงได้บอกความประสงค์ไปยังเนียงเจอ ชนชาติกะเหรี่ยงซึ่งเป็นหัวหน้าชาวบ้านอยู่ในเขตแดนพม่าต่อกับไทย เนียงเจอมีความเห็นชอบพ้องด้วย จึงได้ช่วยกันสร้างแต่ในปีนั้น

พระเจดีย์นี้ตั้งเรียงกันอยู่สามองค์ จากทิศตะวันออกไปทิศตะวันตก ทิศตะวันตกอยู่ในเขตประเทศพม่า องค์กลางอยู่ตรงสันเขตที่ปันแดนระหว่างไทยกับพม่า องค์ตะวันออกอยู่ในแดนไทย มีระยะห่างกันองค์ละ ๘ เมตร ส่วนสูงเพียงคอระฆังประมาณเท่ากับส่วนกว้างของฐาน แต่ตกยอดนภศูลขึ้นไปอีกราว ๔ เมตร เป็นรูปเจดีย์พม่า ๒ องค์ข้าง ๆ เล็กกว่าองค์กลางเล็กน้อย".


จำนงค์ ทองประเสริฐ
๑๒ กรกฎาคม ๒๕๓๖
Back