Back
พระเมรุมาศ - พระเมรุ


เมื่อเร็ว ๆ นี้ ข้าพเจ้าได้เข้าร่วมประชุมคณะบรรณาธิการสารานุกรมไทย แห่งราชบัณฑิตยสถาน และได้พิจารณาบทความเรื่อง "เมรุ" และ "เมรุมาศ" ทำให้เกิดมีปัญหาว่าคำว่า "พระเมรุ" กับ "พระเมรุมาศ" ใช้ในกรณีต่างกันอย่างไร เพราะพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ได้ให้ความหมายเกี่ยวกับ "เมรุ" ไว้ดังนี้

"เมรุ, เมรุ- (เมน, เมรุ - ) น. ชื่อภูเขากลางจักรวาล มียอดเป็นที่ตั้งแห่งเมืองสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ซึ่งพระอินทร์อยู่; ที่เผาศพ หลังคาเป็นยอดมีรั้วล้อมรอบ, ราชาศัพท์ใช้ว่า พระเมรุ."

"เมรุมาศ น. เมรุทอง, ราชาศัพท์ใช้ว่า พระเมรุมาศ."
"เมรุราช น. เขาพระสุเมรุ."

พจนานุกรมได้ให้แต่ความหมาย แต่มิได้บอกวิธีใช้ ซึ่งอันที่จริงก็มิใช่หน้าที่ของพจนานุกรมที่จะต้องบอกวิธีใช้ นอกจากในกรณีที่จะมีปัญหาจริง ๆ เท่านั้น

ข้าพเจ้าได้อ่านหนังสือ "พระเมรุมาศ พระเมรุ และเมรุ สมัยกรุงรัตนโกสินทร์" โดยศาสตราจารย์ น.อ.สมภพ ภิรมย์ ร.น. ราชบัณฑิต ที่บริษัทบุญรอด บริวเวอรี่ จำกัด ได้จัดพิมพ์เนื่องในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ ๗ เมื่อวันที่ ๙ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๘ แล้ว ได้พบเรื่อง "พระเมรุมาศ - พระเมรุ" ซึ่งนับว่าน่าสนใจมาก จึงขอนำมาเสนอท่านผู้ฟังดังนี้

"๑. พระเมรุมาศ คือพระเมรุขนาดสูงใหญ่ ลักษณะเป็น "กุฎาคาร คือ เรือนยอด" หมายถึง เรือนซึ่งหลังคาต่อเป็นยอดแหลม พระเมรุมาศ สมัยโบราณนิยมสร้างเป็น "ยอดปรางค์" มีพรหมพักตร์หรือไม่ก็ได้ ภาษาสามัญจะเรียกว่า ทรงฝักข้าวโพด หรือทรงต้นกระบองเพชร

"ขนาดความสูงของพระเมรุมาศในงานพระบรมศพสมเด็จพระนเรศวรมหาราช พระเมรุมาศสูงประมาณ ๗๔.๐๐ เมตร (สูงกว่าพระปรางค์วัดอรุณราชวราราม) แต่ในงานพระศพสมเด็จพระนารายณ์มหาราชนั้น พระเมรุมาศสูงถึง ๑๐๒.๐๐ เมตร นับว่าสูงที่สุดในประวัติศาสตร์

"พระเมรุมาศเสมือนโรงพระราชพิธีพระบรมศพทั้งมวล คือ เป็นสถานที่พระสงฆ์สวดพระอภิธรรม สดับปกรณ์ เลี้ยงพระ และเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ ราชวงศ์ ข้าราชบริพารที่มาในงานพระบรมศพ

"พระเมรุมาศ เป็นอาคารปกป้องกันแดด ฝน ให้แก่ "พระเมรุทอง" พระเมรุมาศในพระราชพิธีพระบรมศพสำหรับ "การตาย" ที่ใช้ราชาศัพท์ว่า "สวรรคต" เช่น พระมหากษัตริย์ พระอัครมเหสี พระบรมราชินี พระราชชนนี พระบวรราชเจ้า (อุปราชวังหน้า) พระบรมโอรสาธิราช เป็นต้น

"พระเมรุมาศ นั้นภาษาสามัญเรียกง่าย ๆ สบายปากว่า พระเมรุใหญ่ เพราะขนาดใหญ่โตมโหฬารอย่างยิ่ง
..................................................

"๒. พระเมรุทอง คือเมรุทำด้วยทองปิดทอง กระดาษทอง หรือ ทองน้ำตะโก "พระเมรุทอง" เป็นที่ตั้งพระเบญจาทองคำรองรับพระบรมโกศภายใต้นพปฎลมหาเศวตฉัตร หากบรมราชวงศ์มีฐานานุศักดิ์ลดลง จำนวนชั้นของเศวตฉัตรก็ลดลงเป็น ๗ - ๕ ชั้น แต่ถ้าไม่ใช้ฉัตรเก้าชั้นหรือนพปฎลมหาเศวตฉัตร พระเบญจาอาจไม่ตั้ง หรือชั้นพระเบญจาลดเล็กน้อง

"พระเมรุทอง โดยทั่วไปนิยมเป็นกุฎาคารหรือเรือนยอด ทรงบุษบกหรือทรงมณฑป พระเมรุทอง ตั้งภายในพระเมรุมาศ พระเมรุทองสูงประมาณ ๒๐.๐๐ เมตร พระเมรุทองใช้ในงานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นครั้งสุดท้ายตามโบราณราชประเพณี

"พระเมรุทอง เลิกใช้นับตั้งแต่พระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นต้นมา

"๓. พระเมรุ ลักษณะทั่วไป เช่นพระเมรุมาศ แต่ขนาดเล็กลง พระเมรุใช้สำหรับราชวงศ์ที่ทรงฐานานุศักดิ์เมื่อตายใช้ราชาศัพท์ว่า "ทิวงคต" หรือ "สิ้นพระชนม์" ในพระเมรุไม่มีพระเมรุทอง"

จากคำอธิบายนี้ก็พอจะเห็นได้ว่า "พระเมรุมาศ" นั้นใช้เฉพาะกับพระบรมศพ พระมหากษัตริย์ พระบรมราชินี และพระบรมราชวงศ์ที่ได้รับพระราชทานฉัตร ๗ ชั้น นอกนั้นใช้ "พระเมรุ" เช่น
พระเมรุมาศ พระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระเมรุมาศ สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พระพันปีหลวง
พระเมรุมาศ สมเด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล
พระเมรุ สมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์ วรเดช
พระเมรุ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
พระเมรุ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงศรีรัตนโกสินทร์

จำนงค์ ทองประเสริฐ
๒๙ ตุลาคม๒๕๓๔
Back